มท.คลอดมาตรการเข้ม! ปิดประตูทุจริต “สวมบัตรประชาชน”
“ปลัดมหาดไทย” เผย มท.ออกมาตรการคุมเข้ม ป้องกันแก้ไขปัญหา “ทุจริตสวมบัตรประชาชน” ย้ำเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน-ผู้มีอำนาจอนุญาตต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายเคร่งครัด ละเอียด รอบคอบ ตัดช่องโกงให้หมดสิ้นไป
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้รับร้องเรียนปัญหาการทุจริตสวมทำบัตรประชาชน ทั้งกรณีที่เป็นคนต่างด้าวสวมตัวคนไทยและคนไทยสวมตัวคนไทยด้วยกันเอง ซึ่งแม้ว่าจะมีมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างเข้มข้น ทั้งการลงโทษทางวินัยและอาญาแล้วก็ตาม ก็ยังคงมีให้เห็นเป็นข่าวทางสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดมีข่าวการทุจริตสวมตัวทำบัตรประชาชนของสำนักทะเบียนอำเภอแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ หรือข่าวการจับกุมนายทุนจีนในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีสัญชาติจีนแต่ถือบัตรประชาชนไทยที่ออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งหนึ่งในจังหวัดตราด และข่าวการจับกุมนายทุนจีนสวมบัตรประชาชนไทยโดยสร้างภาพเป็นคนของสถานทูต เป็นต้น
"แม้ว่าจะมีกฎหมายที่เข้มข้น หรือมีมาตรการที่รัดกุมแล้วก็ตาม ปัญหาการทุจริตทำบัตรประชาชนก็ยังเกิดขึ้นอย่างเนือง ๆ เพราะล้วนมีสาเหตุมาจากตัวของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งผู้รับคำขอ ผู้พิมพ์ลายนิ้วมือ และผู้ถ่ายรูป เจตนากระทำการทุจริต โดยอาศัยช่องว่างทำการปลอมลายมือชื่อผู้อนุญาตทำบัตรประจำตัวประชาชน และที่สำคัญ คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการอนุญาตก็ได้ปล่อยปละละเลยในการทำหน้าที่ ไม่ระแวดระวัง ตรวจสอบเอกสารไม่ละเอียดรอบคอบ และมักอ้างว่าถูกปลอมลายมือชื่อของตน จึงทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฉวยโอกาสนี้กระทำการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการขอมีบัตรครั้งแรก เนื่องจากยังไม่มีลายพิมพ์นิ้วมือและภาพใบหน้าของผู้ขอมีบัตรที่จัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชนมาก่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องขาดความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบเอกสารและองค์ประกอบอื่น ๆ จึงทำให้มีช่องว่างต่อการทุจริตสวมตัวทำบัตรประจำตัวประชาชน และเกิดปัญหาในระยะเวลาที่ผ่านมา" นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันการทุจริตในการทำบัตรประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมด้วยการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อป้องกันการทุจริตสวมตัวทำบัตรประชาชน โดยให้มีระบบยืนยันการอนุญาต ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตต้องสแกนลายนิ้วมือของตนเองในระบบทุกครั้งควบคู่กับการลงนามในเอกสาร อันจะทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุญาต เพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาอนุญาต เพราะเป็นการอนุญาตด้วยตนเองที่มีระบบเทคโนโลยีเป็นเครื่องยืนยัน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า เพื่อให้เกิดความรอบคอบ รัดกุม ในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของพยานเอกสารและพยานบุคคลผู้ให้การรับรองประกอบคำขอมีบัตรประชาชน 13 กรณีต่อไปนี้ เจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องต้องเพิ่มความรอบคอบในการตรวจเอกสาร และต้องเสนอเอกสารคำขอทั้งหมดเพื่อขอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชา คือ หัวหน้ากลุ่มงาน และหัวหน้าฝ่าย ทำหน้าที่ควบคุมงานทะเบียนและบัตรประชาชน ในสำนักทะเบียนอำเภอ (ที่ว่าการอำเภอ) และสำนักทะเบียนท้องถิ่น (กทม., เทศบาล, เมืองพัทยา) ได้แก่
- กรณีขอมีบัตรครั้งแรก
- มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งบิดามารดาตามสูติบัตรแยกกันอยู่ โดยในวันมาขอทำบัตร บิดาหรือมารดาที่ไม่ได้อยู่ด้วยและติดต่อมาเป็นเวลานานตั้งแต่เล็กจนมาขอมีบัตรเป็นผู้พาไปทำบัตร โดยมีเอกสารหลักฐานมาแสดงหรือไม่ก็ตาม
- มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่ปรากฏบิดามารดามาแสดงตน โดยในวันมาขอทำบัตร ญาติหรือเจ้าบ้านหรือบุคคลซึ่งรับดูแลผู้นั้นอยู่ซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกัน หรือบุคคลอื่นซึ่งมีคำสั่งศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครอง ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ เป็นผู้พาไปทำบัตร โดยมีเอกสารหลักฐานมาแสดงหรือไม่ก็ตาม
- มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่ปรากฏบิดามารดา หรือญาติ หรือเจ้าบ้าน หรือบุคคลซึ่งรับดูแลผู้นั้นอยู่ซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันกับผู้ขอมีบัตร หรือบุคคลอื่นซึ่งมีคำสั่งศาลให้เป็นผู้ปกครอง ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ มาแสดงตน โดยในวันมาขอทำบัตร มีบุคคลอื่นซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้ขอมีบัตร ไม่มีคำสั่งศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครอง ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ พามาทำบัตร ซึ่งอ้างว่าได้รับฝากเลี้ยงเด็กมาตั้งแต่เล็ก ฯลฯ โดยมีเอกสารหลักฐานมาแสดงหรือไม่ก็ตาม
- มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่เคยขอมีบัตรเลยมาเป็นเวลานาน มีบิดาและหรือมารดาและ/หรือมีบุคคลอื่นมาแสดงตน โดยมีเอกสารหลักฐานมาแสดงหรือไม่ก็ตาม
- เป็นผู้ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านจากสำนักทะเบียนอื่น แล้วมาขอมีบัตรที่สำนักทะเบียนที่บุคคลดังกล่าวอาศัยอยู่ ณ ปัจจุบัน โดยมีเอกสารหลักฐานมาแสดงหรือไม่ก็ตาม
- มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยมีบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว และผู้ขอมีบัตรอาศัยอยู่ในต่างประเทศมาโดยตลอดและกลับมาประเทศไทยเพื่อขอมีบัตร โดยจะมีบิดาและหรือมารดา หรือจะมีบุคคลอื่นมาแสดงตน และมีเอกสารหลักฐานมาแสดงหรือไม่ก็ตาม
- กรณีขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตร
- ไม่ปรากฏหลักฐานลายนิ้วมือ และหรือรูปถ่ายในฐานข้อมูลทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน
- ปรากฏหลักฐานการทำบัตรที่ไม่ได้ออกโดยระบบคอมพิวเตอร์ และไม่ได้ขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรเลย
- เป็นผู้ทำศัลยกรรมจนเห็นได้ชัดเจนว่าไม่เหมือนกับบุคคลเดิม
- เป็นบุคคลทางกายภาพร่างกายเห็นได้ชัดว่าไม่ตรงกับรายการทางทะเบียนราษฎร
- เป็นบุคคลประสบอุบัติเหตุ ทำให้ไม่สามารถพิสูจน์ใบหน้าหรือลายนิ้วมือที่ชัดเจนได้ โดยมีเอกสารหลักฐานมาแสดงหรือไม่ก็ตาม
- เป็นการขอคืนรายการในทะเบียนบ้านและทำเรื่องย้ายตนเองไปยังสำนักทะเบียนที่ตนอาศัยอยู่ ณ ปัจจุบัน โดยมีความประสงค์ขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ณ สำนักทะเบียนที่ตนย้ายไปอยู่ใหม่ โดยมีเอกสารหลักฐานมาแสดงหรือไม่ก็ตาม
- ไม่ปรากฏหลักฐานการทำบัตรในฐานข้อมูลทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน โดยอ้างว่าเคยมีบัตรประจำตัวประชาชนมาก่อนแล้ว (บัตรรุ่นเก่า) โดยมีเอกสารหลักฐานมาแสดงหรือไม่ก็ตาม
“ทั้งนี้ ในการขอมีบัตร ขอมีบัตรใหม่ หรือขอเปลี่ยนบัตรที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตจัดทำบัตร หรือการจัดทำบัตรที่ต้องมีการสอบสวนทุกกรณี กรมการปกครองโดยสำนักบริหารการทะเบียนได้จัดทำระบบเฝ้าระวังตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย พร้อมทั้งกำชับให้ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต ปลัดเทศบาล และหัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยา ได้หมั่นตรวจสอบรายงานประจำวัน และควบคุมกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้จัดทำบัตรประชาชนด้วยความละเอียดรอบคอบ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรการที่กำหนดนี้ อย่างเคร่งครัด และสร้างความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับให้ตระหนักอยู่เสมอว่างานบัตรประจำตัวประชาชนเป็นงานให้บริการประชาชนที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศด้วย และต้องไม่ให้เกิดปัญหาทั้งทางทุจริตและการร้องเรียนเรื่องในลักษณะนี้อีก” นายสุทธิพงษ์ กล่าว