ร้อง ป.ป.ช.สอบ “เลขาสภาฯ” ตั้ง 3 นักวิชาการตรวจสภาใหม่ ผล ปย.ทับซ้อนหรือไม่
“วิลาศ” อดีต ส.ส.ปชป. ยื่นร้อง ป.ป.ช.ขอให้ไต่สวน “เลขาฯสภาผู้แทนราษฎร” ปมตั้ง 3 นักวิชาการเป็น กก.ตรวจการจ้างอาคารรัฐสภาใหม่ เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่-ใครสั่ง
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2566 นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการกระทำส่อว่าเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นเกี่ยวกับการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ
โดยนายวิลาศ ระบุในหนังสือร้องเรียนว่า ขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้างชุดใหม่ 3 ราย ได้แก่ รศ.อเนก ศิริพานิชกร อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเทคโนโลยีธนบุรี ที่เพิ่งปลดเกษียณ เคยเป็นอาจารย์ให้กับผู้บริหารของบริษัทผู้รับจ้าง และมีการกล่าวอ้างว่า มีความสนิทสนมกับมากกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทดังกล่าวหลายคน
รศ.ดร.ภานุวัฒน์ จ้อยกลัด เคยมีหนังสือของบริษัทผู้รับจ้างถึงบริษัทผู้ควบคุมงาน ลงวันที่ 9 ส.ค. 2565 แจ้งว่า อาจารย์ท่านนี้เป็นผู้รับรองในนามศูนย์บริการวิชาการของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรื่องระบบประตูกับระเบิด ซึ่งเสนอโดยบริษัทผู้รับจ้าง เพื่อใช้ติดตั้งในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
ศ.ทศพล ปิ่นแก้ว เป็นวิศวกรโยธา เชี่ยวชาญกับการออกแบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง มีข้อร้องเรียนเพื่อขอให้ตรวจสอบเกี่ยวพันกับผู้รับจ้างเรื่องเคยร่วมงานกันเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูงใช่หรือไม่
นายวิลาศ ระบุอีกว่า จากข้อมูลที่ได้รับการร้องเรียนมา เห็นว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้างชุดใหม่ 3 คน อาจเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน และอาจมีการเอื้อประโยชน์ในการตรวจรับงาน จึงขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งบุคคลทั้ง 3 คนดังกล่าว เป็นการเอื้อประโยชน์กับบุคลหนึ่งบุคคลใดหรือไม่ อีกทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่นี้เพราะคำแนะนำ หรือคำสั่งจากใคร เกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูงของผู้รับจ้างหรือไม่