ทร.ไทย-จีน ปล่อยเรือหลวงช้างลงน้ำ เรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ ถึงไทยปีนี้
ทร.ไทย-จีน ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ เรือหลวงช้าง ที่เดินทางมาถึงประเทศไทยปี 2566 ทำหน้าที่เป็น เรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ
5 ม.ค.2565 พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือยกพลขึ้นบก (LPD : Landing Platform Dock) เรือหลวงช้าง (ลำที่ 3) ลำใหม่ลงน้ำ โดยมี นางอรัญญา ศิริสวัสดิ์ ภริยา เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือ ณ ท่าเรือหมายเลข 5 อู่ต่อเรือ บริษัท หู้ดง - จงหัวชิปบิลดิง เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 เวลา 13.19 น.(ตามเวลาท้องถิ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน)
กองทัพเรือ ได้จัดหาเรือยกพลขึ้นบกลำใหม่ เข้าประจำการ ในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนเรือยกพลขึ้นบกลำเก่า (เรือหลวงช้างลำที่ 2) ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือระยะ 20 ปี พ.ศ.2560 - 2579 ซึ่งกำหนดความต้องการ เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ไว้ จำนวน 4 ลำ และใช้ปฏิบัติงานร่วมกับเรือ อากาศนาวี หน่วยกำลังต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยกำลังนาวิกโยธิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ตั้งแต่ในภาวะปกติ
โดยมีขีดความสามารถปฏิบัติการรบ 3 มิติ ได้แก่ การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งลำเลียงและเป็นเรือบัญชาการ และการสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล รวมทั้งสนับสนุนการช่วยเหลือและกู้ภัยเรือดำน้ำ และการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย การอพยพประชาชน สนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ
ปัจจุบันกองทัพเรือ มีจำนวนเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ไม่เพียงพอตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาเพิ่มเติม เพื่อให้มีขีดความสามารถสูงสุด ตามระเบียบของ กองทัพเรือ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือยกพลขึ้นบก กำหนดให้ตั้งชื่อตามเกาะต่าง ๆในประเทศไทย โดยเรือยกพลขึ้นบกลำใหม่นี้ ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “เรือหลวงช้าง” (เกาะช้าง จังหวัดตราด) มีคุณลักษณะที่สำคัญคือยาว 213 เมตร กว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 17.4 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 20,003 ตัน ความเร็วสูงสุดที่ระวางขับน้ำสูงสุด 25 นอต มีระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 10,000 ไมล์ทะเล โดยตัวเรือมีความคงทนทะเลจนถึงสภาวะทะเลระดับ 9 (Sea State 9) และสามารถบรรทุกกำลังรบยกพลขึ้นบกได้ 600 นาย
อนึ่ง ตามระเบียบของ กองทัพเรือ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบตามประเภทของเรือต่าง ๆ ไว้ดังนี้
- เรือพิฆาต ตั้งตามชื่อตัวบุคคล บรรดาศักดิ์ หรือสกุล ของผู้ประกอบคุณประโยชน์ไว้แก่ชาติ
เช่น เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน
- เรือฟริเกต ตั้งตามชื่อแม่น้ำสายสำคัญ
เช่น เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง
- เรือคอร์เวต ตั้งตามชื่อเมืองหลวง และเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงรัตนโกสินทร์
- เรือเร็วโจมตี (อาวุธนำวิถี) ตั้งตามชื่อเรือรบในทะเล สมัยโบราณที่มีความเหมาะสมกับหน้าที่ของเรือนั้น ๆ เช่น เรือหลวงอุดมเดช เรือหลวงปราบปรปักษ์
- เรือเร็วโจมตี (ปืน,ตอร์ปิโด) ตั้งตามชื่อจังหวัดชายทะเล เช่น เรือหลวงปัตตานี เรือหลวงนราธิวาส
- เรือดำน้ำ ตั้งตามชื่อผู้อิทธิฤทธิ์ในวรรณคดีในด้านการดำน้ำ เช่น เรือหลวงมัจฉานุ
- เรือทุ่นระเบิด ตั้งตามชื่อสมรภูมิรบที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น เรือหลวงบางระจัน เรือหลวงลาดหญ้า
- เรือยกพลขึ้นบก เรือลากจูง เรือส่งกำลังบำรุง เรือน้ำมัน ตั้งตามชื่อเกาะ เช่น เรือหลวงอ่างทอง (เรือยกพลขึ้นบก) เรือหลวงมาตรา (เรือน้ำมัน) เรือหลวงสิมิลัน (เรือส่งกำลังบำรุง)
- เรือตรวจการณ์ (ปืน) ตั้งชื่อตามอำเภอชายทะเล
เช่น เรือหลวงหัวหิน เรือหลวงศรีราชา
- เรือตรวจการณ์ (ปราบเรือดำน้ำ) ตั้งชื่อตามเรือรบในลำน้ำ สมัยโบราณที่มีความเหมาะสมกับหน้าที่ของเรือนั้น ๆ เช่น เรือหลวงทยานชล เรือหลวงคำรณสินธุ์
- เรือสำรวจ ตั้งชื่อตามดาวที่สำคัญ เช่น เรือหลวงจันทร เรือหลวงศุกร์
- เรือหน้าที่พิเศษ ตั้งชื่อด้วยถ้อยคำที่มีความหมายและเหมาะกับหน้าที่ของเรือนั้น เช่น เรือหลวงจักรีนฤเบศร
- เรือขนาดเล็ก (เล็กกว่า 200 ตัน) ตั้งชื่อด้วยอักษรย่อตามชนิดและหน้าที่ของเรือนั้นมีหมายเลขต่อท้าย เช่น เรือ ต.991
ทั้งนี้ กองทัพเรือไทย ได้ลงนามทำสัญญาต่อเรือยกพลขึ้นบก LPD ชื่อไทย เรือหลวงช้าง หรือเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ จากจีน 1 ลำ ราคา 6,100 ล้านบาท รองรับเรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S 26 T และเดินทางมาถึงไทยภายในปีนี้