รัฐบาลไม่ชัดเจน! สตง.สรุปผลสอบ 40 อปท.ฉีดวัคซีนโควิด 2.8 พันล.ส่อเหลว
บทสรุป สตง.ผลตรวจสอบการดำเนินงาน 40 อปท.ฉีดวัคซีนตัวเลือกป้องโควิด-19 ให้ประชาชน 6 จังหวัด งบ 2.8 พันล้านบาท พบไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ไร้การบูรณาการ เกิดความล่าช้า ชี้สาเหตุสำคัญเพราะ “รัฐบาล” ยึกยักไม่ชัดเจน
เมื่อช่วงสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเขตพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี
โดยมี อปท. จำนวน 40 แห่ง ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีนตัวเลือก ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,857.23 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนรวม 2,785,064 โดส เป็นเงินรวม 2,501.22 ล้านบาท แบ่งเป็นจัดซื้อวัคซีนชิโนฟาร์ม 2,415,064 โดส เป็นเงิน 2,094.22 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา 3.7 แสนโดส เป็นเงิน 407 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เป็นเงิน 356.01 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี สตง.ตรวจพบข้อสังเกต 2 ประเด็น คือ
1.การจัดหาและบริหารจัดการวัคซีนของ อปท.ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ โดยพิจารณาได้จากการจัดหาวัคซีนตัวเลือกของ อปท.เป็นไปอย่างล่าช้า และส่วนใหญ่ยังไม่เกิดการบูรณาการให้เป็นแผนการบริหารจัดการวัคซีนในภาพรวมของจังหวัด เกินกว่าการเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. 2564 ดังนั้นการจัดหาวัคซีนตัวเลือกของ อปท.จึงยังไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์วัคซีนไม่เพียงพอในขณะนั้น
2.การจัดหาวัคซีนตัวเลือกของ อปท.ยังไม่เกิดการบูรณาการให้เป็นแผนการบริหารจัดการวัคซีนในภาพรวมของจังหวัด ทั้งในส่วนของการกำหนดจำนวนวัคซีน การจัดทำทะเบียนผู้ขอรับวัคซีน และการดำเนินการฉีดวัคซีนตัวเลือก โดยคณะกรรมการโรคติดต่อทั้ง 6 จังหวัด กำหนดแนวทางจัดหาวัคซีนไม่ชัดเจน และไม่ได้ควบคุมให้มีการจัดหาวัคซีนของ อปท.เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ แต่เปิดโอกาสให้ อปท.จัดหาวัคซีนได้ โดยกำหนดแนวทางไว้อย่างกว้าง ๆ นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาลงทะเบียนซ้ำซ้อน และ อปท.จำนวน 31 แห่ง ไม่ได้ใช้บริการสถานพยาบาลของรัฐในการให้บริการฉีดวัคซีนร่วมกับวัคซีนหลัก ต้องจัดหาสถานพยาบาลให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับสถานพยาบาล รวมเป็นเงิน 294.64 ล้านบาท
ทั้งนี้ สตง.ระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดหาวัควีนตัวเลือกของ อปท. เนื่องจากความไม่ชัดเจนของรัฐบาลในการให้ อปท.เข้ามาร่วมดำเนินการในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชน ทำให้การจัดหาวัคซีนของ อปท.ดำเนินการไม่ทันต่อสถานการณ์วัคซีนไม่เพียงพอ โดยรัฐบาลใช้ระยะเวลานานกว่าจะตัดสินใจให้ อปท.ดำเนินการจัดหาวัคซีนให้ ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาการจัดหาวัคซีนของ อปท.ซึ่งมีการดำเนินการหลายขั้นตอน
นอกจากนี้สาเหตุของการไม่เกิดการบูรณาการเป็นแผนการจัดหาวัคซีนในภาพรวมของจังหวัดนั้น เพราะความไม่แน่นอนของจำนวนวัคซีนหลักที่จังหวัดจะได้รับจัดสรรจากส่วนกลาง และขาดฐานข้อมูลเชิงบูรณาการเพื่อการบริหารจัดการวัคซีนที่เป็นเอกภาพ