"ชลน่าน"รับเกมสกัดกัญชา-ส.ส.แห่ออกทำ "สภาล่ม"
ผู้นำฝ่ายค้านยอมรับเกมสกัดกัญชา-ส.ส.แห่ออกทำ "สภาล่ม" ซ้ำซาก ยันหน้าที่รัฐบาลคุมองค์ประชุม พร้อมเชื่อ"ประยุทธ์"ไม่ใช้เป็นเงื่อนไขยุบสภา
ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเหตุสภาฯ ล่มว่า ตนเข้าใจความรู้สึกคับแค้นใจของประชาชนเป็นอย่างดี หลายคนประณามว่า กินเงินเดือนภาษีประชาชน แต่ไม่ทำงาน ตนขอเรียนกับประชาชนว่า สถานการณ์จะเป็นแบบนี้ต่อไป หากนำเรื่องกฎหมายกัญชาเข้าสู่วาระการประชุม เพราะมองว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นปัญหา มีข้อถกเถียงกันมากในชั้นการพิจารณา ขณะนี้อยู่ในวาระที่ 2
หมายความว่า ชั้นที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว กำลังเข้าสู่การพิจารณารายมาตรา มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเสียงที่ไม่เห็นด้วยแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ชั้นรับหลักการ
ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับกัญชาเพื่อการแพทย์ ไม่ใช่กัญชาเสรี หรือสันทนาการ แต่พอร่างออกมาเสร็จเรียบร้อยในชั้นกรรมาธิการ สิ่งที่ทุกคนต้องการคือกัญชาเพื่อการแพทย์ ไม่มีตัวบทกฎหมายรองรับว่า จะควบคุมไม่ให้เสรีได้อย่างไร
ตนพยายามเรียกร้องว่ากฎหมายฉบับนี้ ต้องไม่ให้เป็นกัญชาเสรี เดิมมี 45 มาตรา เพิ่มเป็น 95 มาตรา ไม่มีบทมาตราใดเลย ที่ไปควบคุมกัญชาเสรี เพราะฉะนั้นจึงเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย
และเมื่อกลไกในสภาเสียงข้างมากไม่มีมากพอ องค์ประชุมตอนนี้ใช้แค่ 217 เสียง ดังนั้นหากเสียงข้างมาก ไม่ยอมจะใช้เสียงข้างมากตัวเองผลักดันอย่างจริงจัง องค์ประชุมก็จะไม่ครบ
ทั้งนี้ย้ำว่าฝ่ายเสียงข้างน้อย ยินดีที่จะร่วมพิจารณากฎหมาย แต่ภายใต้เงื่อนไขเสียงข้างมาก ต้องเป็นองค์ประชุม เราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้หลายมาตราอยู่แล้ว
“เรายอมรับคำด่าของประชาชน นี่คือความบิดเบี้ยวของสภา ที่มาจากเสียงข้างน้อยมีการลาออก มีการย้ายพรรคโดยไม่สนใจพี่น้องประชาชน ที่เลือกเขาเข้ามา เพื่อแสวงหาโอกาสว่าจะได้กลับมาเป็น ส.ส.ใหม่เท่านั้นเอง สิ่งนี้คือสาเหตุที่ทำให้สภาล่ม”
ถ้าสภาพสภาล่มเป็นแบบนี้ ก็จะเป็นแบบนี้ตลอดไป ซึ่งฝ่ายค้านเราแก้ปัญหาให้หลายเรื่อง เราเสนอไปให้ประธานสภาบอกว่า หากประชุมตามปกติ ติดกับดักแน่ กฎหมายสำคัญๆ ที่เราเห็นพ้องต้องกันว่าจะให้ผ่านสภา เราเสนอให้ประธานสภา นัดประชุมเป็นวาระพิเศษเช่น พรุ่งนี้ ( 19 ม.ค.66 ) มีกฎหมายหลายฉบับ
ทั้งนี้มั่นใจว่าการประชุมสภาวันพรุ่งนี้จะไม่ล่ม เพราะเป็นกฎหมายที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน แม้เสียงจะน้อย แต่อยู่ครบองค์ประชุมแน่นอน
ส่วนองค์ประชุม ขึ้นอยู่กับความเห็นที่ต่างกันของตัวบทกฎหมาย จะส่งผลต่อการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีในการยุบสภาหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จะใช้เงื่อนไขสภามาเป็นเงื่อนไขในการยุบสภาหรือไม่ ตนไม่ทราบ เพราะนายกรัฐมนตรี ก็ไม่เคยเห็นมีบทบาท และให้ความสำคัญในสภาอยู่แล้ว หากสภาไม่ทำผิดจน นายกรัฐมนตรีทนไม่ได้ ไม่น่าจะใช้เป็นเงื่อนไขในการยุบสภา ตนเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า นายกรัฐมนตรีจะยุบสภา ไม่เคยดูไปตามข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ดูว่ายุบเมื่อไหร่จะได้สืบทอดอำนาจต่อ