ปรับทิศคิดใหม่ การเตรียมพร้อมชีวิตหลังรั้วเรือนจำ | เสาวธาร โพธิ์กลัด
รายงานจำนวนผู้ต้องขังโลกของ World Prison Brief (WPB) เดือน ม.ค. 2023 พบว่า จำนวนผู้ต้องขังในประเทศไทยสูงติดอันดับ 7 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน
การมีผู้ต้องขังจำนวนมากแออัดอยู่ในเรือนจำไม่ได้สร้างปัญหาให้แก่ผู้ต้องขังเองเท่านั้น ยังรวมถึงปัญหาต่อภาคประชาสังคม และภาครัฐโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณและประสิทธิภาพของการบริหารงานราชทัณฑ์
สัดส่วนของงบประมาณจำนวนมากในการบริหารงานราชทัณฑ์ถูกใช้เพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในเรือนจำและค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ในขณะที่ “การจัดสวัสดิการและการเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังก่อนปล่อย” เช่น การจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค การเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา การสร้างสุขภาวะสำหรับผู้ต้องขัง กลับมีสัดส่วนที่น้อยมาก
แนวทางจัดการปัญหางบประมาณของเรือนจำในประเทศโลกตะวันตกส่วนใหญ่ จะเน้นการลงทุนระยะยาวเพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้ต้องขัง โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทุนมนุษย์ที่สำคัญ มุ่งหวังให้ผู้กระทำผิดไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ
งานวิจัยในสหรัฐ พบว่าหากผู้ต้องขังประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงตนเอง คือ ไม่กลับมากระทำผิดซ้ำแม้เพียงร้อยละ 40 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด จะทำให้รัฐลดค่าใช้จ่ายในระบบการบริหารราชทัณฑ์และการควบคุมอาชญากรรมได้มากถึง 13 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
สำหรับประเทศไทย มีการวางแผนและจัดรูปแบบกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขัง โดยมีความพยายามที่จะจัดรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ต้องขังให้มากที่สุด
ทว่าข้อมูลการศึกษาวิจัยจากนักวิชาการไทยและต่างประเทศ กลับพบว่ายังมีช่องว่างและความท้าทายของการเตรียมพร้อมผู้ต้องขังที่เหมาะสมอยู่มาก
โครงการเตรียมความพร้อมทั้งระยะสั้นและยาว ส่วนใหญ่ถูกออกแบบเพื่อการบำบัดผู้ต้องขังเพศชายวัยแรงงาน (ซึ่งมีจำนวนเกือบร้อยละ 90 ของผู้ต้องขังทั้งหมด) เป็นเพียงกิจกรรม “ฆ่าเวลา” ที่ไม่มุ่งหวังให้เกิดการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมอย่างจริงจัง
ซึ่งหากการบำบัดผิดวิธี ผู้ต้องขังย่อมไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำสูง หมายถึงการสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์
ในกรณีของผู้ต้องขังหญิงที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนผู้ต้องขังหญิงทั่วโลกเมื่อปี 2563 เมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อน พบว่าเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 และข้อมูลการสำรวจกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2565 จำนวนผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทยมี 30,413 คน (คิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด)
ส่วนใหญ่ต้องโทษคดียาเสพติด สาเหตุการกระทำผิดมาจากภาระการดูแลครอบครัว การถูกกระทำรุนแรง และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือการถูกหลอก
งานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง “ชุดโครงการบำบัดเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยของผู้ต้องราชทัณฑ์หญิงที่ต้องโทษเกี่ยวกับคดียาเสพติดในประเทศไทย” ได้เสนอบทสรุปว่า การดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขังเพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ จะต้องสร้างชุดโครงการที่มีประสิทธิภาพ มีองค์ประกอบที่เหมาะสมทั้งด้านเนื้อหา เวลาและบุคลากร
ทั้งนี้ ลักษณะของเนื้อหาการเตรียมความพร้อมที่มีคุณภาพ ต้องเป็นการบูรณาการของ 3 ชุดโครงการหลัก คือ
(1) ชุดโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการให้กำลังใจตนเองด้วยตนเอง (Individual Empowerment) จะเน้นให้ผู้ต้องขังมีการพัฒนาทักษะชีวิต สร้างความตระหนัก และคิดถึงเป้าหมายชีวิตในอนาคต การสร้างกลไกการให้กำลังใจตนเอง
การเข้าใจอดีตและเยียวยาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง การสร้างความสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นๆ ในสังคม และการเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาในชีวิตอย่างมีสติสัมปชัญญะ เป็นต้น
(2) ชุดโครงการสนับสนุนทางสังคม (Social Support and Empowerment) จะเน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัว เพื่อน และชุมชนเพื่อสร้างศักยภาพด้านการสร้างความสัมพันธ์ของผู้ต้องขังกับผู้อื่นในสังคมผ่านการทำกิจกรรมกลุ่มทั้งภายในและภายนอกเรือนจำ
(3) ชุดโครงการพัฒนาทางด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ (Education and Employment) จะมุ่งสร้างกิจกรรมเพื่อเน้นทักษะการประกอบอาชีพที่ตรงความต้องการของตลาด ความสนใจ ศักยภาพของผู้ต้องขัง รวมทั้งการสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อเตรียมพร้อมผู้ต้องขังในการประกอบอาชีพและเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- "สมศักดิ์" เผยเตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้นักโทษทุกคน
- จุดเปลี่ยน เด็ก ‘บ้านกาญจนา’ ในมุม 'ทิชา ณ นคร'
- "ธนาธร-พิธา" นำทีมก้าวไกล-ก้าวหน้า ยืนหยุดขัง ร้องสิทธิประกันตัว-แก้ ม.112
ในแต่ละชุดโครงการจะประกอบไปด้วยกิจกรรม ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาผู้ต้องขังอย่างเป็นองค์รวม จากภายในสู่ภายนอกโดยผู้ต้องขังจะผ่านกระบวนการสร้างกำลังใจแก่ตนเอง สามารถส่งต่อกำลังใจของตนให้แก่ผู้อื่น
การก้าวข้ามผ่านประสบการณ์ลบในอดีต ไม่หวนกลับไปสู่การมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน สามารถดำรงชีวิตตามมาตรฐานของสังคม โดยจะใช้ระยะเวลาในการเข้าสู่การเตรียมความพร้อมรวม 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง
คำถามที่สำคัญคือ ผู้รับผิดชอบระบบการบริหารราชทัณฑ์ของไทยพร้อมหรือไม่ ที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการบำบัดผู้ต้องขังที่ไม่ได้มุ่งเพียงตัวชี้วัดเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่ควรกลับมาเน้นคุณภาพของกระบวนการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟูอย่างแท้จริง
เพื่อให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนอกจากจะสนับสนุนนโยบาย “คืนคนดีสู่สังคม” อันเป็นเป้าหมายหลักของกระทรวงยุติธรรมแล้ว ยังเป็นการลงทุนด้วยเงินภาษีของประชาชนที่คุ้มค่า สามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการงานในเรือนจำและการป้องกันการเกิดอาชญากรรมของประเทศอย่างยั่งยืน