นายกฯยินดี สินค้าเกษตรสร้างรายได้ส่งออก 1.5 ล้านล. เพิ่ม 22% เทียบปี 64

นายกฯยินดี สินค้าเกษตรสร้างรายได้ส่งออก 1.5 ล้านล. เพิ่ม 22% เทียบปี 64

​โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดีสินค้าเกษตรสร้างรายได้ส่งออกกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 65 เพิ่มกว่า 22 % เทียบช่วงเดียวกันปี 64 ย้ำความสำเร็จจากความตกลง FTA RCEP และอาเซียน

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่สินค้าเกษตรไทยสามารถสร้างรายได้ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจำนวนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ในช่วง 11 เดือนของปี 2565 ที่ผ่านมา สะท้อนความสำเร็จจากความตกลงการค้าเสรี FTA RCEP และอาเซียน สั่งการขับเคลื่อนความร่วมมือทุกหน่วยงานให้วางแนวทางทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำทุกภาคส่วนให้เร่งพัฒนาช่องทางการส่งออกเพิ่มเติม ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ รายงานสถิติภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2565 คิดเป็นมูลค่า 1,553,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีมูลค่า 1,273,761 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22) ขณะที่ภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่ทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย มีมูลค่ากว่า 698,500 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.82) ตลาดส่งออกที่มีมูลค่ามากที่สุด ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี และออสเตรเลีย ตามลำดับ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด ได้แก่ ผลไม้ มูลค่า 164,793 ล้านบาท ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา หรือสัตว์น้ำ 97,145 ล้านบาท ยางพารา 83,919 ล้านบาท พืชผักเพื่อบริโภค มูลค่า 49,052 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์แป้งธัญพืช 41,451 ล้านบาท และไขมัน/น้ำมันที่ได้จากสัตว์ หรือพืช มูลค่า 40,521 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับความตกลงการค้าเสรีฉบับล่าสุดของไทยหรือ RCEP พบว่า ภาพรวมการค้ามีมูลค่ากว่า 1,286,028 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.74) โดยการส่งออก มีมูลค่ากว่า 971,508 ล้านบาท นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยกับอาเซียน 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม พบว่า มีมูลค่า 351,631 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า คิดเป็นมูลค่า 200,909 ล้านบาท 

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1) ตลาดนำการผลิต 2) เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3) “3 S” เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน 4) เกษตรกรรมยั่งยืน และ 5) บูรณาการทำงานเชิงรุกกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังเช่นล่าสุดได้หารือร่วมกับผู้บริหารตลาดโทโยสุ (Toyosu Market) ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งปลาและอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยเตรียมขยายความร่วมมือเพื่อกระจายสินค้าเกษตรไทยในกลุ่มผลไม้และพืชผัก โดยเฉพาะ ทุเรียน มะม่วง กล้วย และสับปะรด ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวญี่ปุ่น

“นายกรัฐมนตรียินดีและขอบคุณการทำงานเชิงรุกของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่ได้ส่งผลให้สินค้าเกษตรของไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในตลาดโลก สะท้อนความเชื่อมั่นและคุณภาพของสินค้าที่ยังมีชื่อเสียงต่อผู้บริโภค รวมทั้ง เป็นผลจากความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ที่ประสบผลสำเร็จ สามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันและสร้างผลประโยชน์ร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำทุกภาคส่วนเร่งขยายช่องทางการส่งออกเพิ่มเติมตามประเภทของสินค้าเกษตร ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ และรักษาคุณภาพของสินค้าเกษตรให้คงมาตรฐานอยู่เสมอ” นายอนุชา กล่าว