รหัสลับ 45 "กล(ประ)ยุทธ์" เดิมพัน "เกมชิงอำนาจ"
45วันเดิมพัน "พล.อ.ประยุทธ์" ที่สุดจะยื้อ "ครบเทอม" หรือจะ"ยุบสภา" เพื่อปิดจ๊อบ เปลี่ยนผ่านสู่"เกมอำนาจ" รอบใหม่
พลันที่ราชกิจจานุเบกษามีการประกาศให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.(ฉบับที่2) 2566 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ( ฉบับที่2) 2566 มีผลใช้บังคับไปเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2566 ต้องถือว่า “หมุดหมายการเมือง” นับจากนี้ได้เข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบ
ก่อนหน้า “แสวง บุญมี” ออกมาเปิดเผยขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้ง ที่จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 45 วัน
ฉะนั้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องของการจัดการเลือกตั้ง การยุบสภาก็ควรจะเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 15 มี.ค.2566 เป็นต้นไป
คำชี้แจงจากเลขาธิการ กกต. มีการจับตาไปที่สัญญาณการเมือง รวมถึงท่าทีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ยามนี้สวมหมวกในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งก่อนหน้าไปประเดิมเวทีปราศัยที่ จ.ชุมพร ประกาศชัด “ขออยู่อีก 2 ปีเพื่อพลิกโฉมประเทศ”
เจาะลึกไปที่ “รหัสลับ 45” โดยนับจากวันที่ 29 ม.ค.2566 ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อเนื่องไปอีก 45 วัน ตามที่ กกต.ระบุ เช่นนี้ต้องจับตาไปที่ฉากทัศน์การเมืองไทย 2 ไทม์ไลน์หลัก
ไทม์ไลน์แรก พล.อ.ประยุทธ์ อาจตัดสินใจ “ยุบสภา” ก่อนครบวาระในระหว่างวันที่ 15-22 มี.ค.2566
จากนั้น กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน เท่ากับว่า อย่างช้าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือน พ.ค.
ไทม์ไลน์ถัดมาคือ “รัฐบาลครบวาระ” ตามกฎหมายระบุให้ กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน หรือภายในวันที่ 7 พ.ค. ตามที่มีการพูดถึงก่อนหน้านี้
ทว่า นอกเหนือจาก 2 ไทม์ไลน์ที่มีการคาดการณ์ในข้างต้น ยังมีอีกหนึ่ง “รหัสลับ” ที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ได้ทิ้งปริศนาโดยอิงจาก “สมมติฐาน 45 วัน”ตามที่ กกต.ระบุ
โดยวิษณุ อธิบายว่า ไทม์ไลน์ 45 วัน แบ่งเป็น “30+15” คือ “30 วัน” ที่กกต.จะต้องส่งเรื่องไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด เปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาจนถึงวันที่ 28 ก.พ.
จากนั้นอีก 15 วันที่เหลือ เป็นการเริ่มกระบวนการ การเลือกตั้ง การออกประกาศวันเลือกตั้ง และวันรับสมัคร
“ถ้าพูดเอาให้เขาสะดวก และทุกฝ่ายสะดวก ซึ่งรวมถึงพรรคเล็ก ก็ต้องบวกอีก 15 วัน จึงกลายเป็น 45 วัน แต่ถ้าไม่เอาสะดวก 30 วันก็ยุบได้ แต่จะยุ่งหน่อย เขา(กกต.)ก็โยนหินถามทางเหมือนกัน”
ฉะนั้น เมื่อถอดรหัสไทม์ไลน์ 30 วันแรก ตามที่ “วิษณุ” ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจตัดสินใจยุบสภาในช่วงปลายเดือน ก.พ.หรือต้นเดือนมี.ค. ภายหลังผ่านศึกใหญ่อย่างเวทีการอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ในวันที่ 15-16 ก.พ.2566 ก็เป็นไปได้เช่นกัน
ท่ามกลางสารพัดปัจจัยการเมือง ทั้งที่รายล้อมอยู่นอกสภา โดยเฉพาะสัญญาณ "พี่น้อง2ป." ที่ปรากฎภาพซีนปาดหน้า แถมมีการเกทับ-บลัฟแหลก จากบรรดาองคาพยพที่คอยยั่วยุ
ยังไม่นับศึกพรรคร่วมรัฐบาล ที่ยามนี้ไม่ต่างอะไรกับสนิมที่กัดกร่อนเสถียรภาพจนใกล้ผุพังเข้าไปทุกที
ขณะที่กลเกมในสภาฯ จนถึงยามนี้ปรากฎภาพการวัดพลังกันไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ต่างตัวเลข ส.ส.ที่ใช้ประคับประคองเสียงในสภายามนี้เริ่มร่อยหรอลงไปทุกวัน
โดยข้อมูลจาก สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2566 พบว่า
ปัจจุบันมี ส.ส.433 คน เหลือปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 426 คน (สมาชิกหยุดปฏิบัติหน้าที่ 7 คน) ฉะนั้นเสียงที่จะครบองค์ประชุมกึ่งหนึ่ง จะอยู่ที่ 213 คน
ขณะที่สถานการณ์ในสภายังเกิดปัญหาควบคุมเสียงองค์ประชุม จนเกิดปัญหาประชุมล่มซ้ำซาก สมฉายา “3 วันหนี 4 วันล่ม”
จับสัญญาณยามนี้ จึงมีแนวโน้มสูงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจยุบสภาฯ ก่อนครบวาระ เพื่อปิดเกม อีกทั้งยังสามารถ “ร่นเวลา”ให้บรรดานักเลือกตั้งหาสังกัดพรรคการเมืองให้เหลือแค่ 30 วัน จาก 90 วันหากเป็นกรณีรัฐบาลครบวาระ
ทั้งหมดทั้งมวลไม่มีใครรู้ดีไปกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีอำนาจเต็มเรื่องนี้ เมื่อต้องช่วงชิงจังหวะการเมืองที่ได้เปรียบที่สุด