"กลาโหม" ตีกรอบกองทัพ รับเลือกตั้งใหญ่ อุดช่อง ทหารสั่งได้ ล้ำเส้นการเมือง
หลังเลือกตั้ง ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล หรือ รมว.กลาโหม "กองทัพ" ก็ต้องสามารถทำงานได้เพื่อรองรับนโยบาย โดยไม่เลือกปฏิบัติ นี่คือความเป็นทหารอาชีพและความเป็นกลางทางการเมือง
ในเร็วๆนี้ "กระทรวงกลาโหม" จะนัดหารือกับเหล่าทัพเพื่อมอบนโยบายและวางแนวทางรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้านี้ ในฐานะที่กองทัพเป็นกลไกหนึ่งของรัฐที่ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองที่ต้องไม่ดำเนินการในลักษณะให้คุณให้โทษต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือ พรรคการเมือง
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา "กองทัพ"ถูกข้อครหาเมื่อปี 2565 หลัง ส.ส.จ.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สาธิต วงศ์หนองเตย เรียกร้องให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ตรวจสอบ กรณีมีทหารลงพื้นที่ภาคใต้เข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งซ่อมทั้งที่ จ.ชุมพร และ จ.นครศรีธรรมราช
เช่นเดียวกับ "พรรคก้าวไกล" ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมืองของกองทัพ หลังปฏิเสธไม่ให้ กรุณพล เทียนสุวรรณ เข้าหาเสียงในพื้นที่หน่วยทหาร ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขตหลักสี่-จตุจักร ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีพรรคอื่นขอเข้ามาหาเสียง หวั่นจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ
การเลือกตั้ง 2566 นี้ ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญของคนไทยที่ต้องออกไปใช้สิทธิ์ กระทรวงกลาโหม เตรียมให้นโยบายกับกองทัพ ที่ต้องยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติย์ทรงเป็นประมุข พร้อมสนับสนุนกิจการการเลือกตั้ง โดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของเหล่าทัพเพื่อเกิดประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง
อีกทั้งให้เหล่าทัพไปกำหนดแนวทางปฏิบัติของกำลังพลในการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์กองทัพว่ามีจุดประสงค์แอบแฝงในการให้คุณให้โทษต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง หรือ แนวทางการสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์เพื่อปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหน่วยเลือกตั้ง จังหวัดที่มีการแข่งขันกันสูง และ คาดว่าจะมีการก่อเหตุ เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้
พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุถึง บทบาทของกองทัพในวิถีประชาธิปไตยต้องวางตัวเป็นกลาง ทางการเมืองและพร้อมที่จะสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งการสนับสนุนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เมื่อได้รับการร้องขอ การส่งเสริมให้กำลังพลออกไปใช้สิทธิ์ในวิธีประชาธิปไตย เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ เพราะเราคือทหารอาชีพ
"หลังเลือกตั้ง ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลหรือรมว.กลาโหม ก็ต้องสามารถทำงานได้เพื่อรองรับนโยบาย โดยไม่เลือกปฏิบัติ และต้องเปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมืองเข้ามาหาเสียงในหน่วยทหารได้เท่าเทียมกัน นี่คือความเป็นทหารอาชีพและความเป็นกลางทางการเมือง"
พล.อ.คงชีพ กล่าวและว่า
ปัจจุบันพื้นที่ทหาร หรือหน่วยทหาร มีการแข่งขันกันสูงของพรรคเมือง ซึ่งกระทรวงกลาโหม จะมีการประชุมกับเหล่าทัพเพื่อกำหนดสถานะและวางนโยบายให้เหมาะสมกับการเมืองและการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ รวมถึงกฎเกณฑ์การเปิดให้พรรคการเมืองเข้ามาหาเสียงในพื้นที่ทหาร ซึ่งต้องยึดหลักความเท่าเทียม เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง
พล.อ.คงชีพ ยืนยันอีกว่า กระทรวงกลาโหม ไม่มีนโยบายให้ทหารเดินตามนักการเมือง แต่หากเข้าไปในบทบาทการบริหารราชการแผ่นดิน ตามคำร้องขอ กกต. สามารถทำได้ หากเป็นเรื่องการเมืองก็ไม่ควร และทหารนายใดที่ไปทำในลักษณะนี้ก็ต้องพึงระวัง แม้จะเป็นนอกเวลาราชการ นอกเครื่องแบบ ก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเพราะคาบเกี่ยวกัน
ดังนั้นเรื่องนี้หากกระทรวงกลาโหม ได้มีการประชุมกับเหล่าทัพ ก็จะออกเป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนออกมา เพื่อให้ไปทำความเข้าใจกับกำลังพล ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิด ในขณะการทำหน้าที่สนับสนุน กกต. ก็ต้องระมัดระวังในการล้ำเส้นในเรื่องการเมือง
ส่วนกรณี กองทัพถูกครหาทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งใหญ่ว่าสามารถสั่งกำลังพลด้วยการใช้คำพูดอ้อมๆ เช่น รู้ใช่หรือไม่ว่าควรเลือกใคร พรรคไหน หรือ ควรเลือกพรรคที่ปกป้องเทิดทูลสถาบัน
พล.อ.คงชีพ ระบุว่า ตนไม่เชื่อว่าปัจจุบันนี้จะสั่งได้ เพราะเป็นเรื่องสิทธิของแต่ละคนในวิถีประชาธิปไตย จะเลือกหรือไม่เลือกก็ได้ ไปสั่งเขาคงไม่ได้ และที่ผ่านมาก็มีให้เห็นอยู่แล้ว ในพื้นที่เขตทหาร บางครั้งได้ ส.ส.ก้าวไกล พรรคเพื่อไทยก็มี คิดว่าวันนี้ประชาธิปไตยมีพัฒนาการไปมากแล้ว
"บางคนหูตาสว่าง จะมาให้ใครหลอก คงลำบากมากขึ้น และรู้ว่าเบื้องหลังนักการเมืองแต่ละคนคืออะไร ทุกคนมีภูมิหลังทั้งนั้น ไม่ว่าจะเลือกใครเข้ามาทำหน้าที่ ก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะเลือก ซึ่งเขาอาจจะดูในเรื่องของนโยบายพรรคตอบสนองตัวเขาได้หรือไม่ รวมถึงพิจารณาในเรื่องที่ผ่านมาว่าได้ทำจริงหรือไม่ หากทำจริงมุ่งมั่นตั้งใจในการทำ เพื่อส่วนรวมและประเทศชาติไม่มีปัญหาในเรื่องของการยักย้ายถ่ายเท คอรัปชั่น เขาก็จะเชื่อมั่นในพรรคการเมืองนั้นหรือมีนโยบายตอบสนองความต้องการของเขาจริง ความทันสมัย เขาก็คงต้องเลือกพรรคเหล่านั้น คงไปกำหนดอะไรไม่ได้"
อย่างไรก็ตาม นี่คือแนวทางเบื้องต้นที่กระทรวงกลาโหม จะเน้นย้ำกับเหล่าทัพในอนาคตข้างหน้านี้ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐ ที่ต้องสนับสนุนการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธ์ยุติธรรม