4 ซักฟอก 4 อภิปราย ในเกมสภา ลุ้นทิ้งทวน“ล่มประชุม”ปิดฉาก
ศึกซักฟอก แบบไม่ลงมติ ของ "ฝ่ายค้าน" ที่จะเริ่มวันพรุ่งนี้ ต้องมาลุ้นว่า จะถูกตลบหลังจาก "ฝั่งรัฐบาล" เพื่อล่มประชุมหรือไม่
วันที่ 15 - 16 ก.พ.2566 นี้ “ชวน หลีกภัย" ประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมสภาฯ เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไป ตามญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ต้องการซักถามข้อเท็จจริง และเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ
แม้ระเบียบวาระจะนัดไว้แล้ว และการตกลงเวลาอภิปรายจะลงตัวแล้วว่า จะใช้เวลาอภิปราย 32 ชั่วโมง แบ่งเป็น ของพรรคฝ่ายค้านได้เวลา 24 ชั่วโมง ครม.และพรรคร่วมรัฐบาล 8 ชั่วโมง โดยวันที่ 15 ก.พ. จะเริ่มประชุม 09.30 น. ถึง 02.30 น.ของวันที่ 16 ก.พ.
ฝ่ายค้านมีสิทธิอภิปรายได้ตั้งแต่ 09.30 - 24.30 น. ส่วน ครม.และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ในวันแรกถูกตีกรอบการชี้แจงไว้ 5 ชั่วโมง
ส่วนวันที่ 16 ก.พ. เริ่มประชุม 09.00 น. - 24.00 น. โดยฝ่ายค้านได้เวลาซักถาม ให้คำแนะนำ 12 ชั่วโมง ส่วนการตอบคำถามและชี้แจงของ ครม.ได้เวลา 3 ชั่วโมง
พร้อมกำหนดเงื่อนไขร่วมกันด้วยว่า หากฝ่ายใดประท้วงให้หักเวลาของฝ่ายนั้น เวลาที่เหลือของแต่ละวันไม่ให้นำไปรวมในการอภิปรายวันถัดไป และกรณีที่การอภิปรายมีความต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน ให้สิทธิผู้อภิปรายฝ่ายค้านอภิปรายต่อเนื่องกันไปได้
ทว่า กระแสที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือความพยายามไม่ให้ศึกซักฟอกครั้งสุดท้ายของฝ่ายค้านที่หวังผลต่อการออกเสียงประชาชนในวันเลือกตั้งเกิดขึ้นได้
ด้วยเกมล็อบบี้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ลงชื่อเป็นองค์ประชุมในวันที่ 15 ก.พ. ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นอภิปราย ซึ่งตามข้อบังคับต้องได้ผู้ร่วมประชุมเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีปัจจุบัน 427 เสียง หรือ 214 เสียง จึงจะเปิดการประชุมได้
หากตรวจสอบการทำงานของ “ฝ่ายค้าน” ฐานะฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล ในช่วงวาระที่ผ่านมา พบว่าเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151) ไปแล้ว 4 ครั้ง และการอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152) อีก 3 ครั้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก เมื่อ 24-27 ก.พ.2563 แม้ว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศได้ไม่ถึงปี ครั้งแรกวางเป้าซักฟอก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีอีก 5 คน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ดอน ปรมัติวินัย รมว.ต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์
โดยมุ่งเน้นเจาะจงถึงพฤติกรรมการบริหารประเทศที่ไม่โปร่งใส ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ทุจริตต่อหน้าที่ โดยเฉพาะ ร.อ.ธรรมนัส ที่ถูกกระหน่ำด้วยข้อหาขาดคุณสมบัติในการรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะเคยต้องคำพิพากษาคดียาเสพติดจากศาลออสเตรเลีย
ผลการลงมติเมื่อ 28 ก.พ.2563 พบว่าไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ ขณะที่ฝ่ายค้านเองเลือกแนวทาง “วอล์กเอาท์” เพราะมองว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์
ขณะที่ศึกซักฟอกครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อ 16 -19 ก.พ.2564 อภิปรายนายกรัฐมนตรี และ 9 รัฐมนตรี ที่พี่น้องตระกูล 3 ป. บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ ถูกยื่นซักฟอกด้วย รวมถึง ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ร.อ.ธรรมนัส
โดยรอบนี้ “หัวหน้า-แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” อย่างภูมิใจไทยคือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และประชาธิปัตย์ คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ถูกยื่นซักฟอกด้วย
ภาพรวมการอภิปรายครั้งนี้ เน้นถึงการบริหารงานบกพร่อง โดยเฉพาะการป้องกันแก้ไขโควิด-19 ที่แพร่ระบาด รวมไปถึงการสมยอมให้เกิดการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม เปิดปม “ตั๋วช้าง” และการใช้ปฏิบัติสร้างสงครามไซเบอร์ หรือไอโอ
สำหรับผลการลงมติเมื่อ 20 ก.พ.2564 แน่นอนว่าไม่สามารถ โค่นรัฐบาลได้
ศึกซักฟอกครั้งสาม เมื่อ 31 ส.ค.- 3 ก.ย.2564 รอบนี้เจาะจงถึงเครือข่าย “คนในรัฐบาล” ที่เป็นต้นเหตุให้โควิด-19 กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง โดยได้อภิปรายนายกฯ พร้อมกับ 5 รัฐมนตรี ได้แก่ อนุทิน - ศักดิ์สยาม - สุชาติ - ชัยวุฒิ ธนาคมนานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์
ส่วนผลลงมติ 4 ก.ย.2564 แน่นอนว่านายกฯ และ 5 รัฐมนตรียังได้รับความไว้วางใจ แต่การซักฟอกครั้งนี้มีเกมซ้อนเกมจาก “กบฎการเมือง” ที่ “ธรรมนัส” เคลื่อนไหวเพื่อจะล้ม “บิ๊กตู่” ผ่านการดึงพรรคเล็ก 1 เสียงให้ลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งผลลงคะแนน “บิ๊กตู่” ได้คะแนนไว้วางใจรองบ๊วย
และศึกซักฟอกครั้งสุดท้ายของสมัยสภา เกิดขึ้นเมื่อ 19 - 22 ก.ค.2565 อภิปรายนายกฯ พร้อม 10 รัฐมนตรี ได้แก่ "พล.อ.ประวิตร - พล.อ.อนุพงษ์ - อนุทิน - ศักดิ์สยาม - จุรินทร์ -นิพนธ์ - จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - ชัยวุฒิ - สุชาติ และ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง
โดยเจาะจงถึงพฤติกรรมที่ส่อว่า “ทุจริต" ในหน้าที่ ใช้ตำแหน่งแสวงหาประโยชน์มิชอบ และเอื้อให้เอกชนในการได้รับโครงการของรัฐ ทั้ง ท่อส่งน้ำอีอีซี-รถไฟฟ้า ส่วนผลการลงมติเมื่อ 23 ก.ค.2565 พบสัญญาณแตกร้าวระหว่าง 3 ป.มากขึ้น เมื่อ “อนุพงษ์” ถูกเด็กในคาถาของ “ประวิตร” ไม่ออกเสียงไว้วางใจ ขณะที่ “สุชาติ” เด็กในสังกัด “ประยุทธ์” ถูกโหวตไว้วางใจต่ำสุด
ขณะที่กลไกตรวจสอบด้วยการ “อภิปรายทั่วไป”แบบไม่ลงมติ เพื่อซักถามและให้คำแนะนำกับรัฐบาล ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 18 ก.ย.2562 รอบนั้นพุ่งเป้าไปที่การถวายสัตย์ปฏิญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ซึ่งขาดข้อความที่เป็นสาระสำคัญในประเด็น “การรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยทุกประการ” ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็น “นายกฯเถื่อน” รวมถึงการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่ระบุแหล่งที่มาของรายได้
ครั้งที่สอง เมื่อ 9 ก.ย.2563 รอบนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ พร้อม 79 ส.ส. ยื่นอภิปรายซึ่งเน้นไปที่ผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อปัญหาด้านเศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศ การลงทุน การส่งออก การท่องเที่ยว ️ฐานะทางการคลังของรัฐบาล การก่อหนี้เงินกู้ และ️สถานการณ์ทางการเมือง การใช้อำนาจของรัฐบาล ที่พบการจับกุมแกนนำนักศึกษาระหว่างการชุมนุมทางการเมือง
ครั้งที่สาม เมื่อ 17-18 ก.พ.2565 นพ.ชลน่าน พร้อมส.ส.ฝ่ายค้าน 173 คน เสนอ โดยย้ำการซักถามถึงปัญหาข้าวของแพง ค่าแรงถูก การแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจที่พบการก่อหนี้จำนวนสูง และชำแหละความล้มเหลวในการบริหารงานแทบทุกด้านของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ ยาเสพติด ทุจริต โควิด-19 และการระบาดของอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
ครั้งที่สี่ ตามวาระกำหนดไว้ในวันที่ 15-16 ก.พ.2566 ซึ่งรอบนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมจัดเต็ม โดยหมอชลน่าน ผู้นำฝ่ายค้าน ตั้งชื่อการอภิปรายครั้งนี้ว่า “ยุทธการกระชากหน้ากากคนดี”
ฝ่ายค้านจะตั้งคำถามถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน 12 ประการ เพื่อตรวจข้อสอบให้คะแนนรัฐบาล และส่งให้ประชาชนดู จากนโยบายที่แถลงต่อสภาไว้ ทำได้หรือไม่ โดยแบ่งกลุ่มปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ยาเสพติด และกลุ่มการเมือง ที่น่าสนใจคือไฮไลต์ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน กรณีธุรกิจสีเทา ภัยด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี การทุจริตคอร์รัปชัน
“สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน จะสรุปรวบยอด "รัฐบาลชุดนี้ย้ำว่าเข้ามาปราบปรามทุจริต มีรัฐธรรมนูญปราบโกง แต่เราจะชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การโกงที่เกิดขึ้นถูกจัดอันดับไว้อย่างไร"
เป้าหมายปลายทาง ฝ่ายค้านหวังจะกระชากหน้ากากคนดี และชี้นำประชาชนอย่าเลือก “ผู้นำปัจจุบันและคณะ” กลับมาสืบทอดอำนาจอีกต่อไป
ท่ามกลางกระแสล็อบบี้ของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนให้ล่มประชุม ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา” มีทีท่าไม่เอาด้วย ก็ต้องมาตามลุ้นกันว่า จะลับลวงพรางร่วมเล่นเกมปิดฉากสภาฯ ในญัตตินี้หรือไม่
และไม่ว่าผลของเกมล่มประชุมครั้งนี้ จะลงเอยด้วยการสมประโยชน์การเมืองของฝั่งใด สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือผลสะท้อนที่จะสะเทือนไปยังสมรภูมิการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงอย่างแน่นอน.