เอฟเฟกต์ รล.สุโขทัยอับปาง เด้ง "บิ๊กดุง-บิ๊กล้อ" โผกลางปี
โศกนาฏกรรม เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ซึ่งทำให้กำลังพลเสียชีวิต 24 นาย อีก 5 นาย อยู่ในสถานะผู้สูญหาย ที่ต้องหาผู้รับผิดชอบ
ควันหลงศึกอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ในวันที่ 15-16ก.พ.ที่ผ่านมา ถือเป็นการอภิปรายส่งท้ายรัฐบาลก่อนยุบสภา หนึ่งในปมร้อนที่ถูกฝ่ายค้านยกมา ดิสเครดิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะ รมว.กลาโหม คือ เรือหลวงสุโขทัยอับปาง
เพราะฝ่ายค้านมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดทางทหาร
อีกทั้งเหตุเรือรบใหญ่อับปาง ด้วยพายุคลื่นลมแรงก็ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์กองทัพเรือไทย นำมาซึ่งข้อสงสัยมากมายให้ฝ่ายค้านตามขุดคุ้ย ว่าเป็นความบกพร่อง ทั้งก่อนออกเรือ ระหว่างเกิดเหตุ การตัดสินใจ หรือปัญหาอยู่ที่ตัวเรือรบ หลังเคยปรากฎเรื่องร้องเรียนเรื่องการซ่อมบำรุงในห้วงหลายปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะประเด็น คำสั่งห้ามเรือจม ที่เกี่ยวพันไปถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ตั้งแต่
"บิ๊กดุง" พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) "บิ๊กล้อ" พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาในการสั่งการโดยตรง รวมถึงการรับรายงาน
เช่นเดียวกับ นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ที่ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุดบนเรือ จะเดินหน้า หรือ ถอยหลัง ก็เป็นอำนาจของผู้การเรือทั้งสิ้น โดยที่ผู้บังคับบัญชาคนใดมิอาจเข้าไปแทรกแซงได้
โดยเฉพาะคำยืนยันของ ท่าเรือ บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมโชว์หลักฐานว่าอนุญาตให้เรือหลวงสุโขทัยเข้าเทียบท่า หลบพายุได้ แต่สุดท้ายเรือก็ไม่เข้ามาเทียบท่า แต่เลือกหันหัวกลับ มุ่งหน้า อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จนอับปางจมใต้ทะเล
ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาร่วม 2 เดือนเศษแล้ว กองทัพเรือได้ดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิต และดูแลสิทธิสวัสดิการต่างๆ ในขณะผู้สูญหาย 5 ราย ได้รับการเยียวยาจากกองทุนรวมใจไทยกองทัพเรือ และทุนประกันชีวิตหมู่ ส่วนที่เหลือเป็นขั้นตอนของศาลที่ต้องสั่งให้เป็นผู้สูญหายตามกฏหมายซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี
ขณะนี้ผลการสอบสวนของคณะกรรมการ 2 ชุดของกองทัพเรือ ที่มี พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ เป็นประธาน ได้สอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น กำลังพลผู้รอดชีวิต และหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนช่วยเหลือ ท่าเรือบางสะพาน เรือเอกชน รวม 289 ปากเรียบร้อยแล้ว
ส่วนสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เรืออับปาง คงต้องรอให้มีการกู้เรือหลวงสุโขทัยในความลึก 50 เมตรจากใต้ทะเล ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นปี เพราะเรือจะเป็นตัวบ่งบอกว่าเกิดอะไรขึ้น เช่น สภาพเรือผิดปกติหรือไม่ บริเวณใดของเรือได้รับความเสียหาย ทั้ง เครื่องยนต์ เพลาเรือ
ปัจจุบันสิ่งที่คนในกองทัพเรือและสังคมกำลังจับตา คือ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า ในการปรับย้ายกลางปีนี้ ทุกเหล่าทัพได้ส่งบัญชีรายชื่อไปยังกระทรวงกลาโหม เรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของกองทัพเรือ พล.ร.อ.เชิงชาย เชิงชมแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้ปรับย้าย พล.ร.ท.พิชัย ที่จะเกษียณอายุราชการ ต.ค.2566 นี้ ออกจากตำแหน่ง ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 1 ไปนั่งตำแหน่งประจำ และไม่ได้รับการเลื่อนยศเป็น "พลเรือเอก"
นอกจากนี้ พล.ร.อ.เชิงชาย ยังสลับเก้าอี้ โดยให้ "บิ๊กดุง" พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) เป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสธ.ประจำผู้บัญชาการทหารเรือ และให้ พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง หัวหน้านายทหารฝ่ายเสธ.ประจำผู้บัญชาการทหารเรือ มานั่งผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ แทน
โดยคาดกันว่าน่าจะเป็นผลพวงจากกรณี "โศกนาฏกรรม" เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ซึ่งทำให้กำลังพลเสียชีวิต 24 นาย อีก 5 นาย อยู่ในสถานะผู้สูญหาย