"ผบ.ทบ." ขอดูความพร้อม เปิดค่ายหาเสียงเลือกตั้ง ยัน ทหารสั่งไม่ได้

"ผบ.ทบ." ขอดูความพร้อม เปิดค่ายหาเสียงเลือกตั้ง ยัน ทหารสั่งไม่ได้

"ผบ.ทบ." รำลึกวีรกรรมผู้เสียสละเขาค้อ พื้นที่ขัดแย้งในอดีต ย้ำ คนรุ่นหลัง ควรสำนึกบุญคุณ บอกขอดูความพร้อม เปิดค่ายหาเสียงเลือกตั้ง ยัน ทหารสั่งไม่ได้

19 ก.พ 2566ที่ อนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ
ฐานปฏิบัติการกรุงเทพฯ อำเภอเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในงานวันรำลึกวีรกรรมผู้เสียสละเขาค้อว่า ถือเป็นเรื่องที่กองทัพบกให้ความสำคัญมาโดยตลอด และเป็นสิ่งที่คนทั้งประเทศรวมทั้งเด็กรุ่นหลังควรที่จะต้องเรียนรู้ไว้ขอเน้นย้ำว่าให้สำนึกในบุญคุณ ของบุคคลในอดีตเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ทหาร พลเรือน ตำรวจ หรือประชาชนทั่วไป ที่ได้รับบทเรียนจากความขัดแย้งในอดีต ซึ่งในพื้นที่นี้ได้สูญเสียทุกฝ่ายเป็นจำนวนมาก แต่ทุกอย่าง จบลงด้วยดี เกิดความปรองดองและร่วมมือกัน นำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติและส่งมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบันนี้ 

 

"ถือเป็นสิ่งที่สำคัญว่าคนรุ่นหลังต้องให้ความสำคัญและควรจะสำนึกบุญคุณ คนรุ่นหลังที่ได้เสียสละชีวิตและเลือดเนื้อทำให้เรามีวันนี้ได้ "

เมื่อถามว่า อยากให้ประชาชนศึกษาประวัติศาสตร์ให้ถ่องแท้เพื่อที่จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งในอดีตหรือไม่ พล.อ.ณรงค์กันธ์ กล่าวว่า  ในโลกของประชาธิปไตยในปัจจุบัน ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แม้แต่ในโลกของสังคมนิยมในบางประเทศ ก็มีพื้นฐานประชาธิปไตย และมีความคิดที่เห็นต่างได้ แต่ต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง ต้องขัดแย้งกันด้วยเหตุและผล และนำมาทำประโยชน์ให้เกิดแก่ส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เมื่อถามว่า อยากฝากข้อคิดอะไรไว้ให้นักการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า  เรื่องการเมืองของประเทศไทยทุกคนก็ถือเป็นประชาธิปไตยกันทั้งหมด เพียงแต่ต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน รวมถึงความคิดเห็น และหากเห็นแก่ส่วนรวมและประเทศชาติก็ควรที่จะนำความคิดเห็นที่ดีมาร่วมกันใช้ให้เกิดประโยชน์ ใครได้รับสิทธิ์จากประชาชนเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ควรจะฟังความคิดเห็นหลายๆด้าน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวมนั่นคือประชาธิปไตยที่ดีที่สุด

ทั้งนี้ตนคงไม่มีคำแนะนำอะไรให้กับประชาชน เพราะถือเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะรับฟังข้อมูลด้วยวิจารณญาณ เหตุผลและความคิดของแต่ละคน ที่จะพิจารณาเองว่าอันไหนเหมาะสม สามารถใช้เป็นประโยชน์ ดีหรือไม่ดี อะไรถูกต้องหรือไม่ แต่ก็อยากให้พิจารณาด้วยความรอบคอบ ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน 

ในส่วนของทหารก็เช่นเดียวกันเพราะถอดเครื่องแบบออกมาทหารก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง เมื่อถึงเวลาต้องไปทำหน้าที่ของประชาชนก็ต้องไปทำหน้าที่ในการเลือกตั้งเลือกผู้แทนราษฎร ก็ถือเป็นวิจารณญาณและความคิดว่าจะนิยมชมชอบใคร แต่ทางหน่วยทหารเองก็จะให้คำแนะนำให้พิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างถี่ถ้วนและข้อมูลที่ถูกต้องให้มากที่สุด

"ไม่ว่าจะทหารหรือประชาชนถามว่าใครสั่งได้บ้างเมื่อเข้าไปในคูหา สามารถไปตรวจสอบหรือบังคับได้หรือไม่ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหมดส่วนการเปิดหน่วยให้นักการเมืองเข้าไปหาเสียงนั้น ก็ต้องดูว่ากองทัพมีความพร้อมแค่ไหนและมีปัจจัยที่จะสนับสนุนได้หรือไม่ เนื่องจากหน่วยทหารมีหลายรูปแบบ เหมาะสมหรือไม่ แต่โดยกฎหมายแล้วเมื่อทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร้องขอมาก็ต้องพิจารณาว่าจะให้หรือไม่"

ด้าน พล.ท.สุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 ระบุว่า ถ้าไม่มีวีรชนรักษาแผ่นดินในวันนั้น คงไม่มีประชาธิปไตย ให้ทะเลาะกันแบบทุกวันนี้

จากนั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์ เดินทางไป
สมรภูมิร่มเกล้า และวีรกรรม ความกล้าหาญ ร.อ. สุรพล ชำนาญจุ้ย หนึ่งในผู้เสียสละจากเหตุการณ์ “สมรภูมิร่มเกล้า”  ณ  ศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ความเสียสละของบรรพบุรุษ ก่อนจะไปฐานปฏิบัติการสถาพร กองร้อยตํารวจตระเวนชายแดนที่ 314 ฐานปฏิบัติการพิชัยเผด็จศึก กองร้อยตํารวจตระเวนชายแดนที่ 314 ตามลำดับ