UN เข้าวอร์รูม มท.ถกพัฒนาความยั่งยืน ชมไทยมีฐานข้อมูลดี สอดคล้องสากล

UN เข้าวอร์รูม มท.ถกพัฒนาความยั่งยืน ชมไทยมีฐานข้อมูลดี สอดคล้องสากล

“ปลัดมหาดไทย” นำทีมผู้ประสานงาน “สหประชาชาติ” เยี่ยมชมห้องปฏิบัติงาน “วอร์รูม” มท. พร้อมชื่นชมมีฐานข้อมูลสอดคล้อง UN ร่วมถกติดตามความก้าวหน้าขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน ย้ำมุ่งทำทุกภารกิจเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 เวลา 11.30 น. ที่ห้องวอร์รูม อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และนางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมประชุมติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ของกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ของกระทรวงมหาดไทย โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศศูนย์ปฏิบัติการ War Room กระทรวงมหาดไทย ซึ่งที่ผ่านมา ชาวมหาดไทย นำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ท่านนายอำเภอ 878 อำเภอ ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างยึดมั่นใน 1 จังหวัด 17 คำมั่นสัญญาการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อความเท่าเทียมในชีวิตของพี่น้องประชาชนในจังหวัด ที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมลงนาม MOU กับ UN ภายใต้ชื่อ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยน้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ด้วยการหมั่นลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชน ดั่งพระโอวาทที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสอนไว้ว่า “ต้องรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน  

UN เข้าวอร์รูม มท.ถกพัฒนาความยั่งยืน ชมไทยมีฐานข้อมูลดี สอดคล้องสากล

โดยมี “ทีม” ทั้ง “ทีมที่เป็นทางการ” อันได้แก่ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ข้าราชการประจำตำบล ทีมคณะกรรมการหมู่บ้านของทุกหมู่บ้าน และทีมผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ “ทีมจิตอาสา” อันประกอบด้วย ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี คือ ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมาย SDGs 17 ตัวชี้วัด ผ่าน “โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข อย่างยั่งยืน” เพื่อทำให้เกิดการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยน ร่วมกันคิดร่วมกันหาแนวทางบูรณาการความร่วมมือในการดูแลหมู่บ้าน/ชุมชนและครอบครัว ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลประโยชน์จากสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อน ซึ่งหากเราทำแบบนี้ได้อย่างสม่ำเสมอก็จะนำไปสู่หมู่บ้านที่เข้มแข็ง ระบบราชการก็จะพัฒนา โดยใช้ตัวชี้วัดข้อที่ 17 เป็นแนวทางที่สำคัญ นั่นคือ การสร้าง Partnership ทั้งในลักษณะทีม คุ้มบ้าน ป๊อก ฯลฯ มาสนธิกำลังเป็นตัวแทนในการดูแลหมู่บ้านและชุมชน โดยไม่ต้องพึ่งราชการไปดูแลในอนาคต อันจะส่งผลทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

UN เข้าวอร์รูม มท.ถกพัฒนาความยั่งยืน ชมไทยมีฐานข้อมูลดี สอดคล้องสากล

นายสุทธิพงษ์ กล่าวถึงผลการขับเคลื่อนกิจกรรมที่สำคัญในห้วงที่ผ่านมา เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบเดียวนี้ และประเทศไทย ด้วยกลไกของกระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้แก่ 

1) การดำเนินงานโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ทำการจัดเก็บข้อมูลครัวเรือน และการสมัครรับรองคาร์บอนเครดิต T-Ver และขั้นตอนการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งขณะนี้มีครัวเรือนได้ดำเนินการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนแล้ว จำนวน 13,162,822 ครัวเรือน คิดเป็น 90% จากทั่วประเทศ มีพี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 39,929,604 คน ทั้งนี้ มีข้อมูลที่สำคัญของการประเมินคาร์บอนเครดิตจากถังขยะเปียกลดโลกร้อน 12,279,024 ถัง พบว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 534,014 ตัน/ปี โดยมีจังหวัดที่สามารถดำเนินการครบ 100% แล้ว จำนวน 21 จังหวัด 

2) การแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของประชาชนผ่านแพลตฟอร์ม ThaiQM โดยกรมการปกครอง โดยใช้ฐานข้อมูลจาก TPMAP ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจากข้อมูลที่ TPMAP พบว่าจากครัวเรือนทั้งประเทศ จำนวน 12,817,903 ครัวเรือน มีครัวเรือนประสบปัญหาความเดือดร้อน จำนวน 652,863 ครัวเรือน และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนครอบคลุมและป้องกันการตกหล่นข้อมูลการสำรวจ กระทรวงมหาดไทยจึงพัฒนาระบบ THAIQM ขึ้น และทำการ Re X-Ray ข้อมูล โดยพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีครัวเรือนทั้งสิ้น 14,562,655 ครัวเรือน และมีสภาพปัญหาจริงมากกว่า 3,810,466 ครัวเรือน จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น และในปี 2566 นี้ จะได้นำข้อมูลสำรวจเพิ่มเติมจาก THAIQM มอบให้กับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเข้าข้อมูลสู่ระบบ TPMAP เพื่อให้มีฐานข้อมูลของรัฐในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป 

3) การน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัวอย่างน้อยครัวเรือนละ 10 ชนิด ซึ่งขณะนี้มีครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการและทำอย่างต่อเนื่องแล้ว 14,069,871 ครัวเรือน คิดเป็น 96.62 % โดยมีจังหวัดที่ครัวเรือนทำแล้ว 100% จำนวน 39 จังหวัด

นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงมหาดไทย มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับการพัฒนาทักษะ พัฒนาศักยภาพ ครอบคลุมในทุกมิติของการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อันจะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลไปถึงรุ่นลูก รุ่นหลานในอนาคต ได้อยู่อาศัยในโลกใบเดียวนี้อย่างยั่งยืนตลอดไป

UN เข้าวอร์รูม มท.ถกพัฒนาความยั่งยืน ชมไทยมีฐานข้อมูลดี สอดคล้องสากล

ส่วน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ร่วมขับเคลื่อนงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการเสริมสร้างความยั่งยืนตามหมุดหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ของสหประชาชาติ (UN SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการสนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร รวมทั้งการดูแลสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก การส่งเสริมผ้าไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งทุกเรื่องล้วนแล้วแต่เป็น “หน้าที่ของคนทุกคน” ซึ่งสมาคมแม่บ้านมหาดไทยมุ่งขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนคนไทย ทำให้ประเทศไทย และโลกใบเดียวนี้ คงอยู่กับลูกหลานของพวกเราทุกคนในอนาคตตลอดไป

ขณะที่ นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมระบบการทำงานผ่านห้องปฏิบัติการ War Room ของกระทรวงมหาดไทย ที่ได้มีฐานข้อมูลด้านการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ พร้อมทั้งขอเป็นกำลังใจในการดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อที่ในอนาคต UN และกระทรวงมหาดไทย จะสามารถแปลกเปลี่ยนฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการปฏิบัติการสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนและโลกใบเดียวนี้ของพวกเราทุกคน ถือเป็นต้นแบบของการทำงานที่สำคัญ และขอให้ได้พิจารณาดำเนินการขยายผลให้มีห้องปฏิบัติการที่รวบรวม ประมวล และติดตามความก้าวหน้าในลักษณะ War Room นี้ ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนชาวไทยอย่างยั่งยืนต่อไป