"วราวุธ" ชูคาร์บอนเครดิต สร้างความมั่งคั่ง โอกาส และคุณภาพชีวิตที่ดี

"วราวุธ" ชูคาร์บอนเครดิต สร้างความมั่งคั่ง โอกาส และคุณภาพชีวิตที่ดี

“วราวุธ” เปิดวิสัยทัศน์ “ว้าว ไทยแลนด์” ชูคาร์บอนเครดิต สร้างความมั่งคั่ง โอกาส และคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อบรรลุเป้าหมาย ประเทศที่ยั่งยืนเพื่อลูกหลานไทย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  แถลงนโยบาย เรื่อง “จากสิ่งแวดล้อมไทย สู่สิ่งแวดล้อมโลก : ความมั่งคั่ง โอกาส และคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน” ว่า ในฐานะ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุน ให้ประเทศไทยลงนามข้อตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต กับ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้ ข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส และถือเป็นประเทศคู่แรกของโลกที่ทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างกัน และเป้าหมายต่อไป คือ การสร้างศูนย์กลางคาร์บอนเครดิตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีมาตรฐาน

 

นายวราวุธ กล่าวด้วยว่าสำหรับนโยบาย “ว้าว ไทยแลนด์” ทุกนโยบาย มาจากการทำงานของรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกพรรคทุกคน ที่ลงพื้นที่ “รับฟัง” ปัญหาความเดือดร้อน และความต้องการของคนไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศ จนเกิดเป็นนโยบายที่ “ทำได้จริง” และ “ทำกันมาแล้ว” โดยเฉพาะ 10 นโยบายที่เปิดออกมา ถึงจะไม่ได้ลด แลก แจก แถม เหมือนพรรคการเมืองอื่น ๆ แต่ทุกนโยบายจะเน้นการสร้างความยั่งยืน สร้างสวัสดิการ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อลูกหลานของคนไทยในอนาคต โดยเชื่อว่าถ้าทุกคนร่วมมือกัน ทุกอย่างสามารถเป็นจริงขึ้นมาได้

นายกนก วงษ์ตระหง่าน กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า นโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนา จึงมีแนวคิดที่จะเร่งขยายการตรวจวัด Carbon Net ที่ได้มาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ และกำหนดตำแหน่งของแปลงการเกษตร ตรวจวัดอายุรายแปลง ให้ได้มาตรฐาน ในกลุ่มพืชเศรษฐกิจ ทั้ง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว ไม้ผลยืนต้น ป่าไม้ สวนป่า ป่าเสื่อมโทรม ป่าฟื้นตัว และคาร์บอนในดิน  และนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการไฟป่าอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างแบบจำลองจุดที่เกิดไฟป่าซ้ำซาก เพื่อกำหนดมาตรฐานการป้องกัน การพัฒนาแนวทางบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตจากไฟป่า โดยให้ประชาชน ชุมชน มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งหากทำได้จะช่วยลดปัญหาวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ได้

 

นายกนก กล่าวด้วยว่าต้องสร้างศูนย์ความเป็นเลิศ หรือ Excellence Center ด้านคาร์บอนเครดิต ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อการวัดประเมิน และยกระดับมาตรฐาน Carbon Net ผ่านการถ่ายทอดและร่วมมือทางวิชาการ และการปฏิบัติภาคสนามกับประเทศในภูมิภาค การทำแผนวิจัยและพัฒนาด้านคาร์บอนเครดิต เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม และสร้างความยั่งยืน ไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย และ แก้ไขกฎเกณฑ์การใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อการกีดกันทางการค้า และสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา 

ขณะที่นายสันติ กีระนันทน์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานีตรวจวัด ก๊าซเรือนกระจก หรือ สถานีตรวจวัดจุลอุตุนิยมวิทยา ที่มีข้อมูลรายละเอียดพื้นที่และความเป็นเจ้าของคาร์บอนเครดิตของแต่ละบุคคล สามารถนำข้อมูลเบื้องต้นมาสร้างเป็น Carbon credit token และใช้ Blockchain technology ในการเก็บข้อมูลอย่างแม่นยำและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และใช้เป็นสินทรัพย์ในการซื้อขาย
ซึ่งมูลค่าจะขึ้นอยู่กับมาตรการอันเป็นที่ยอมรับในสากล