เช็คลิสต์ 12 พรรคปัดเศษ ยุบรวม-ยกเลิก-ยืนหยัดสู้
เมื่อกติกาเลือกตั้ง ไม่เอื้อให้กับ "พรรคเล็ก" อยู่รอด ทำให้หลายพรรคเลือกทางเดินใหม่ และวางกลยุทธ์เพื่่อให้กลับมา โดยเป้าหมายที่มีคือ กลับมาสนับสนุนขั้วอำนาจปัจจุบันให้เป็นรัฐบาลอีกรอบ
ในการเลือกตั้งปี 2562 ด้วยกติกาเลือกตั้งแบบ “ปันส่วนผสม” ใช้ “บัตรใบเดียว” และ สูตรคำนวณ ส.ส.ที่ถูกกำหนดให้ยึดเจตนารมณ์ที่ “ทุกคะแนนเสียง” ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ตกน้ำ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ส.ส.ปัดเศษ” 12 พรรค
ได้แก่ พรรคไทรักธรรม พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชานิยม พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลังไทยรักไทย (ปัจจุบันคือ พรรคเพื่อชาติไทย) พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชาภิวัฒน์ และพรรคพลังชาติไทย (ปัจจุบันคือ พรรครวมแผ่นดิน)
เป็นที่มาของ ส.ส.12 คน ที่สนับสนุน “พรรคพลังประชารัฐ” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แบบ “ปริ่มน้ำ” และ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้รับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” จากการลงมติของรัฐสภา 500 คะแนน
ทว่า ในการเลือกตั้งปี 2566 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ กติกาเลือกตั้ง ถูกปรับเปลี่ยนเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งเลือก “ส.ส.เขต" อีกใบเลือก “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ที่ต้องลงคะแนน “ผ่านบัตรเลือกพรรคการเมือง” และสูตรคำนวณที่กลับมาเอื้อพรรคการเมืองใหญ่ ด้วยสูตรหาร100
ทำให้ “พรรคเล็ก” ที่เคยได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งแบบ “ปันส่วนผสม” ต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่ เพื่อเอาตัวรอดในสนามเลือกตั้ง เอาชนะ “พรรคใหญ่-พรรคกระแส เพื่อให้ได้ส.ส.เข้าสภาฯ อีกครั้ง
เช่นเดียวกับ “พรรคปัดเศษ" 1 เสียง ที่ล่าสุดเหลือเพียงแค่ 8 พรรค หลังจาก “พรรคประชาชนปฏิรูป" ของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” และ “พรรคประชานิยม” ของ “พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์” และ “พรรคประชาธรรมไท ของ “พิเชษฐ สถิรชวาล” ยุบพรรคตัวเอง และย้ายไปสังกัด “พรรคพลังประชารัฐ” ส่วน "พรรคไทรักธรรม" ถูกยุบ โดยนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหาร ถูกตัดสิทธิการเมือง 10 ปี
โดยความเคลื่อนไหวของทั้ง 8 พรรค ที่แน่นอนแล้ว 7 พรรคจะ “สู้ต่อ” และขณะนี้อยู่ระหว่างการสรรหาว่าที่ผู้มัครรับเลือกตั้ง
ส่วนอีก 1 พรรคปล่อยให้กลุ่มทุนใหม่ “เทคโอเวอร์” คือ "พรรคพลเมืองไทย” ของ “สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์” ที่ย้ายตัวเองพร้อมลูกสาว “ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์” เข้าสังกัด “รวมไทยสร้างชาติ” และปล่อยให้กลุ่มใหม่ “คริส โปตระนันทน์”ประธานมูลนิธิเส้นด้าย เข้ามาบริหารต่อในชื่อ “พรรคเส้นด้าย” ซึ่งเริ่มขับเคลื่อนกิจกรรมพรรคแล้ว
ขณะที่ 7 พรรคยืนยันเดินหน้าสู้ศึก “เลือกตั้ง“ ประกอบด้วย ประชาธิปไตยใหม่ ของ “สุรทิน พิจารณ์” พรรคไทยศรีวิไลย์ ของ “มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ของ “ปรีดา บุญเพลิง” พรรคประชาภิวัฒน์ ของ “สมเกียรติ ศรลัมพ์” พรรคพลังธรรมใหม่ ของ “นพ.ระวี มาศฉมาดล” พรรคเพื่อชาติไทย ของ ”คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล” และพรรครวมแผ่นดินของ “พล.อ.ชัชชัย ภัทรนาวิก”
โดยเร่งดำเนินการพรรคให้เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้งและระเบียบของกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทั้งการจัดตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัด เพื่อเป็นกลไกคัดเลือก “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.” จัดประชุมใหญ่เพื่อตั้งกรรมการคัดเลือกผู้สมัครส.ส. และหลายพรรคลุย “ออนทัวร์” เพื่อขอคะแนนเสียงแล้ว
“พรรคไทยศรีวิไลย์” ที่นำคาราวานพรรค ไปเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พื้นที่ภาคอีสาน พรรคเพื่อชาติไทยที่ใช้การเดินสายจัดแข่งขันฟุตบอล “เพื่อชาติไทยคัพ” พร้อมแนะนำตัวว่าที่ผู้สมัคร กระตุ้นความสนใจของประชาชน โดยจัดไปแล้วในพื้นที่ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ฐานที่มั่น-บ้านเกิดของ “คฑาเทพ”
ส่วน “พรรคประชาธิปไตยใหม่” ที่ประกาศตัวเป็น “สาขาพลังป้อม” จัดประชุมใหญ่เพื่อเตรียมความพร้อม โดยพื้นที่เป้าหมายที่จะส่งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. อยู่ในพื้นที่อีสาน จังหวัดชายขอบ-เขตชายแดนเมียนมา กทม. และปทุมธานี รวม 250 เขต และแบบบัญชีรายชื่อ 100 ชื่อ
ขณะที่ “พรรคครูไทยเพื่อประชาชน” เตรียมจัดประชุมใหญ่กลางเดือนมีนาคมนี้ พร้อมลุยส่งผู้สมัคร 400 เขตและแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน พร้อมมั่นใจในเครือข่ายการศึกษา ที่จะเอาชนะพรรคใหญ่ที่ประกาศแลนด์สไลด์ได้
ด้าน “พรรคเล็ก” ที่ร่วมรัฐบาล อีก 3 พรรค มีทิศทางที่สอดคล้องกัน คือยอมถอย “ยุบรวมพรรค” อาทิ “พรรคพลังท้องถิ่นไท” ที่ “โกวิทย์ พวงงาม” เป็นหัวหน้าพรรค ตัดสินใจเลิกกิจการ เช่นเดียวกับ “พรรคเศรษฐกิจใหม่” ของ “มนูญ ศิวาภิรมย์รัตน์” ส่วน ส.ส.ของพรรค และสมาชิกพรรค ปัจจุบันมีทิศทาง ย้ายไป “รวมไทยสร้างชาติ” หลังยุบสภา
ส่วน "พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย” ที่ “ดำรงค์ พิเดช” ออกอาการถอดใจ อยากเลิกเล่นการเมือง จึงส่งสัญญาณ “ถอย”และปล่อยให้ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” เทคโอเวอร์ เข้าไปบริหาร และเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคโอกาสไทย” แต่ต่อมา “มิ่งขวัญ” เปิดดีลใหม่กับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จึงถอยออกไป
ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคโอกาสไทยเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น “พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย” อีกครั้ง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เพราะ “ทุนรอนไม่มี" และช่วงนี้ดำรงค์มีปัญหาสุขภาพ อยากใช้เงินรักษาตัวมากกว่า
ทว่าความอาวรณ์ยังมี “ดำรงค์” จึงแย้มว่า อาจส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพียงคนเดียว เพื่อรักษาพรรคเอาไว้ ส่วนตัวเอง พร้อมรับบทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมให้พรรคที่มีนโยบายด้านนี้ และต่อต้านการนำป่าไปแจกให้เศรษฐี
นี่คือทั้งหมดของ “พรรคปัดเศษและพรรคเล็ก” ร่วมรัฐบาล ที่แม้กลยุทธ์การเมืองจะแตกต่างกัน แต่คงเป้าหมายเดียวกัน คือ ร่วมเป็นองคาพยพเดียวกับ “ขั้วอำนาจปัจจุบัน” ที่คาดว่าจะกลับมาครองอำนาจอีกครั้งหลังเลือกตั้ง