"ก้าวไกล" ชี้คำวินิจฉัยศาล รธน.สั่งคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ เป็นไปตามคาด
"ณัฐวุฒิ ก้าวไกล" เผย คำวินิจฉัยศาล รธน.ไม่นับรวม "คนต่างด้าว" เป็นไปตามคาด สงสัยมาตั้งนาน ทำไมเพิ่งยื่นตีความก่อนเลือกตั้ง 66 ไม่กี่วัน ทำกระทบคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ชี้ล็อกมีผล 3 มี.ค.66 ดักทางเอาผิดผู้เกี่ยวข้องทางกฎหมาย
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2566 นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีไม่นับรวมผู้ไม่ได้สัญชาติไทย โดยคำวินิจฉัยนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 และไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ว่า ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่คาดคะเนไว้ เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อนและเห็นไม่ตรงกันมาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2562 เพราะการให้บริการสาธารณะและสังคมต้องนับพลเมืองทุกคนหรือบุคคลทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย แต่สิทธิพลเมือง และการคำนวณเขตการเลือกตั้งต้องดูประชากรที่มีสัญชาติที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นหลัก
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตนสงสัยว่า เหตุใดเมื่อปีพ.ศ. 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ผ่านกฎหมายลูก จึงไม่หยิบยกขึ้นมาดำเนินการตั้งแต่ครั้งที่แล้ว จึงทำให้เกิดข้อสงสัยและความคลางแคลงใจว่าตกลงแล้วการมายื่นและตีความในครั้งนี้ เป็นเพราะจะทำให้ก่อเกิดประโยชน์ และส่วนได้เสียกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ให้แบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ทั้งนี้ การที่ศาลเขียนว่าให้มีผลบังคับในวันที่ 3 มีนาคม 2566 และไม่ให้ท้าวความหรือย้อนความว่าเกิดการกระทำความผิดพลาดอย่างใด เพราะไม่เช่นนั้นจะมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาขึ้นมาอีก
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ก็ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งให้ถูกต้องโดยเร็ว เพราะแต่ละพรรคการเมืองได้คัดว่าที่ผู้สมัครส.ส.กันไปแล้วเกือบเกือบหมดแล้ว จากนี้จะมีผลต่อกระบวนการคัดเลือกว่าที่ผู้สมัครส.ส. ซึ่งทราบว่ากกต. ได้นัดถกด่วนเรื่องการแบ่งเขต ก็หวังว่าจะถกด่วนจริง ไม่ใช่ว่าติดวันเสาร์อาทิตย์แล้วอ้างว่าให้ไปรอสัปดาห์หน้าอีก ก็จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองที่รอคอยความชัดเจนเรื่องการแบ่งเขต
เมื่อถามว่า การคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีแต่ละจังหวัดใหม่ จะส่งผลต่อความได้เปรียบของฝ่ายใดเป็นพิเศษหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า สำหรับ 8 จังหวัดที่ต้องคำนวณการแบ่งเขตใหม่จะมีผลกระทบบวกลบต่อแต่ละพรรคการเมืองแตกต่างกันไป ตนก็ไม่คาดคิดหรือเห็นว่าจะมีการเอื้อใครเป็นพิเศษหรือไม่ แต่จะเป็นในเรื่องของการจัดการเสียมากกว่า เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เดิมมี 9 เขตเลือกตั้ง ต่อมาคิดคำนวณอีกครั้งบอกว่ามี 11 เขต แต่เมื่อคำวินิจฉัยออกมาแล้วต้องเหลือ 10 เขต จึงต้องมาคิดกันใหม่ว่าตกลงว่าที่ผู้สมัครส.ส.ที่เตรียมไว้จะทำอย่างไร หากกกต. ยื่นตีความตั้งแต่ต้น และมีความชัดเจนออกมาพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็คงไม่ต้องยุ่งยากจนถึงปัจจุบัน