50 ปี 14 ตุลา ให้บทเรียนอะไรแก่เรา | วิทยากร เชียงกูล 

50 ปี 14 ตุลา ให้บทเรียนอะไรแก่เรา | วิทยากร เชียงกูล 

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โค่นล้มระบบเผด็จการทหารที่อยู่มา 15 ปีได้ แต่ชัยชนะก็มีขอบเขตที่จำกัดตามสภาพแวดล้อม/บริบททางเศรษฐกิจการเมืองในยุคนั้น

กลุ่มชนชั้นสูงกลุ่มที่ได้อำนาจรัฐแทนกลุ่มเก่า สร้างพันธมิตรกับขบวนการนักศึกษาเฉพาะช่วงแรกๆ เมื่อพวกเขาควบคุมอำนาจทางการเมืองและทางทหาร ตำรวจได้มั่นคงขึ้น พวกเขาหาทางลดบทบาทและทำลายขบวนการนักศึกษาประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ปี 2517 ชนชั้นสูงใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง เพื่อทำให้ประชาชนที่ส่วนใหญ่ยังตื่นตัวทางการเมืองน้อยในยุคนั้นเชื่อว่าพวกนักศึกษาเป็นฝ่ายมุ่งร้ายทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

 

สร้างกลุ่มจารีตนิยมสุดขั้ว เช่น นวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน ขึ้นมาต่อต้านขบวนการประชาธิปไตยด้วยวิธีการต่างๆ

ทั้งการโฆษณา การข่มขู่ขัดขวาง ไปถึงการลอบทำร้ายและการลอบสังหารทั้งผู้นำนักการศึกษา ผู้นำแรงงาน ผู้นำชาวนา นักการเมืองฝ่ายก้าวหน้า

การก่อกวน การปาระเบิดใส่ผู้สมัคร ส.ส.ที่มีแนวคิดสังคมนิยมหรือเสรีนิยมก้าวหน้าและการชุมนุมประท้วงของขบวนการนักศึกษาที่เชียงใหม่และที่อื่น

50 ปี 14 ตุลา ให้บทเรียนอะไรแก่เรา | วิทยากร เชียงกูล 

ผู้นำชาวนาจากสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยถูกลอบสังหารมากที่สุด ไม่ต่ำกว่า 21 คน ผู้นำนักศึกษาปัญญาชน ผู้นำแรงงานหลายคนก็ถูกลอบสังหารด้วยเช่นกัน (บันทึก 6 ตุลาคม)

ขบวนการขวาพิฆาตซ้ายนี้ในที่สุดนำไปสู่การฆ่าและการล้อมปราบกลุ่มนักศึกษา ที่ไปชุมนุมคัดค้านการกลับมาของเผด็จการจอมพลถนอมอย่างสันติวิธีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

นักวิเคราะห์เหตุการณ์ภายหลังหลายคนชอบกล่าวว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 น่าจะประสบผลสำเร็จในการสร้างพื้นฐานของประชาธิปไตยให้กับสังคมไทยได้มากกว่านี้

ถ้าขบวนการนักศึกษาประชาชนสมัยนั้น รู้จักดำเนินการรณรงค์แบบค่อยๆ เผยแพร่ความรู้และจัดตั้งประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างรู้จังหวะก้าวอดทนยืดหยุ่น ไม่คิด/แสดงออกแบบซ้าย (สังคมนิยม) เกินไป

แต่นั่นเป็นการกล่าวหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมันผ่านไปแล้ว และเป็นเพียงการกล่าวแบบคาดคะเนเท่านั้น ความจริงนั้นซับซ้อนกว่าที่จะมองแบบง่ายๆ ได้

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่ชนชั้นนำที่เป็นพวกจารีตนิยมสุดโต่งกลัวนักศึกษาจนเกินความจริง ตั้งใจปราบปรามขบวนการนักศึกษาอยู่แล้ว

เพียงแต่ขบวนการนักศึกษาอาจเคลื่อนไหวไปเข้าทางข้ออ้างของพวกเขาได้เร็วขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม

เรื่องทั้งหมดน่าจะเป็นบทเรียนบทหนึ่งสำหรับคนรุ่นหลังที่สนใจจะเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป

ถ้าเราจะวิจารณ์ความผิดพลาดจุดอ่อนของขบวนการนักศึกษาประชาชน 14 ตุลาคม เราอาจวิจารณ์ได้ในขอบเขตที่ว่า กลุ่มที่เอียงซ้ายหรือมองโลกในแง่ดีเกินไปว่า

ต้องชุมนุมประท้วงให้คนมาร่วมด้วยมากๆ จึงจะชนะนั้น มีส่วนกระตุ้นชนชั้นนำผู้ปกครองให้ต่อต้านปราบปรามขบวนการนักศึกษาแบบการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ที่เร็วขึ้นเท่านั้น

50 ปี 14 ตุลา ให้บทเรียนอะไรแก่เรา | วิทยากร เชียงกูล 

ความเป็นจริงทางสังคมในตอนนั้นก็คือ ชนชั้นผู้ปกครองผู้มีความคิดแบบขวาสุดโต่ง กลัว เกลียด ขบวนการนักศึกษาอย่างเกินความจริง ตั้งใจจะปราบขบวนการนักศึกษาอยู่แล้ว

พวกเขาใช้ความรุนแรงที่จะปราบปรามผู้นำขบวนการนักศึกษาประชาชนอย่างรุนแรงมาตลอดตั้งแต่ปี 2517-2519 ชนชั้นนำที่ร่วมรัฐบาล

เช่น นักการเมือง อดีตนายทหารจากพรรคชาติไทยก็มีความคิดแบบขวาจัด อยากปราบปรามขบวนการนักศึกษาอย่างเปิดเผยอยู่แล้ว (ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, 6 ตุลารำลึก, 2544.)

การที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม ลาว กัมพูชา มีชัยชนะในปีต่อมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อาจมีส่วนทำให้ชนชั้นผู้ปกครองไทยที่นิยมสหรัฐอเมริกา และการพัฒนาแนวทุนนิยมอุตสาหกรรม หวาดกลัวว่านักศึกษาไทยจะเป็นพวกนิยมคอมมิวนิสต์มากขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความจริง

นักศึกษาส่วนใหญ่คือพวกนิยมประชาธิปไตย มีส่วนน้อยที่หัวก้าวหน้ารักความเป็นธรรมและบางส่วนเริ่มสนใจสังคมนิยม แต่ไม่ถึงขั้นที่จะนิยมคอมมิวนิสต์

(พวกคอมมิวนิสต์ที่ชนะในอินโดจีนก็เป็นพวกรักชาติที่พยายามจะพัฒนาประเทศของตนเท่านั้น ภายหลังพวกเขาก็กลับมาค้าขายไปมาหาสู่กับไทยอย่างไม่มีปัญหา)

เยาวชนคนหนุ่มสาวนั้นอ่อนเยาว์ ขาดประสบการณ์ จึงอาจโน้มเอียงไปทางซ้ายได้ แต่พวกผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์กว่า ควรจะมีวุฒิภาวะ มองการณ์ไกลเป็นมากกว่า ผู้ใหญ่ไม่ควรจะเชื่อและทำแบบขวาสุดโต่งมากไป

ดังนั้น คนที่เป็นตัวการสร้างความเสียหายทำให้ประเทศไทยถอยหลังจากสังคมประชาธิปไตยมากที่สุดคือ กลุ่มชนชั้นผู้ปกครองไทยที่มีแนวคิดจารีตนิยมปฏิกิริยาแบบสุดโต่ง

พวกเขาห่วงอำนาจผลประโยชน์ระยะสั้นตนเอง ไม่มีวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมอย่างแท้จริง

50 ปี 14 ตุลา ให้บทเรียนอะไรแก่เรา | วิทยากร เชียงกูล 

ขนาด ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นนักเศรษฐศาสตร์แนวตลาดเสรีและนักปฏิรูปแนวสันติวิธี และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงปี 2517-2519

ยังถูกชนชั้นสูงและฝ่ายขวาทั้งหลายโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนต้องเดินทางลี้ภัยไปประเทศอังกฤษ เพราะกระแสขวาจัดในช่วงนั้นโจมตีรุนแรงมาก

บทเรียนสำหรับเหตุการณ์ 3 ปีช่วง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 คือทั้งความคิดขวาสุดโต่งของชนชั้นนำและซ้ายสุดโต่งของแกนนำบางส่วนของขบวนการนักศึกษานำไปสู่ล้มเหลวในการพัฒนาสังคมไทยทั้งคู่

แต่ความคิดขวาจัดสุดโต่งเป็นตัวการ ที่ทำให้เกิดการฆ่าฟันและการปราบปรามขบวนการนักศึกษาช่วง 6 ตุลาคม 2519 อย่างรุนแรงมากกว่า และความคิดแนวขวาที่ล้าหลังยังคงครอบงำต่อมาถึงทุกวันนี้ จนสังคมไทยเกิดปัญหาและความขัดแย้งมากมายในปัจจุบัน

ถ้าคนไทยฉลาดพอที่จะเลือกแนวทางสายกลางที่ปฏิรูปเพื่อสิทธิเสรีภาพความเป็นธรรม เช่น แนวคิดของ ดร.ป๋วย (เรื่องสันติประชาธรรมและอื่นๆ) เราจะพัฒนาประเทศได้ดีกว่านี้

มีปัญหาความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ น้อยกว่านี้ ภาคประชาชนควรฟื้นฟูพัฒนาแนวทางสายกลางที่ปฏิรูปขึ้นมาใหม่

ประชาชนที่พอรู้ปัญหาควรสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มองค์กรประชาชน เช่น สหภาพแรงงาน สมาคมชาวไร่ สมาคมอาชีพต่างๆ สหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภคและสหกรณ์ประเภทต่างๆ ฯลฯ ทั่วประเทศ

และทำให้เป็นองค์กรภาคประชาชนที่มีความรู้ มีกำลังที่เข้มแข็ง และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายสหพันธ์ขององค์กรภาคประชาชน

ประชาชนไทยจึงจะมีความรู้และอำนาจที่จะไปต่อรองกับชนชั้นนำที่ล้าหลัง/เห็นแก่ตัวในระยะสั้น เพื่อให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง (คือทั้งทางเศรษฐกิจสังคมด้วย) เพิ่มขึ้นได้