ไขข้อสงสัย ทำไม พ.ร.บ.อุ้มหาย ยังใช้ไม่ได้?
แม้ว่า “พ.ร.บ.อุ้มหาย” จะประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากความไม่พร้อมของหลายฝ่าย ทำให้มีการออก พ.ร.ก. เพื่อควบคุมและชะลอการใช้กฎหมายดังกล่าวไว้ก่อน ทำให้ต้องเลื่อนการบังคับใช้ไปถึง 8 เดือน
แม้ว่า “พ.ร.บ. อุ้มหาย” หรือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 ที่จะถึงนี้
แต่ในความเป็นจริงกลับไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้ตามกำหนด เนื่องจากความไม่พร้อมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่อ้างว่ายังมีปัญหาเรื่องงบประมาณและความพร้อมของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะประเด็นกล้องวงจรปิดที่มีไม่เพียงพอจึงเป็นสาเหตุให้ต้องมีการประกาศ “พ.ร.ก. เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ. ซ้อมทรมานอุ้มหาย” เพื่อขอให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย จำนวน 4 มาตรา ออกไปก่อน โดยให้เลื่อนไปบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 แทน
สำหรับ เนื้อหาสำคัญของ “พ.ร.บ. อุ้มหาย” นั้น ระบุว่า บัญญัติให้การกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นความผิดในทางอาญาสากลจากที่ในอดีตความผิดเหล่านี้ไม่เคยถูกบัญญัติไว้ นอกจากนี้การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ เป็นการห้ามไม่ให้อ้างสถานการณ์พิเศษใดๆ ไม่ว่าภาวะสงคราม ภาวะความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นใด เพื่อให้การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 กรณีออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เลื่อนบังคับใช้ พระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายซ้อมทรมาน ซึ่งจากเดิมต้องมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย หลังประกาศเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 เป็นเวลา 120 วัน แต่เนื่องจากความไม่พร้อมของ ตร. จึงได้ส่งหนังสือถึง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อขอเลื่อนเวลาบังคับใช้ออกไปก่อน
ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเมื่อได้รับทราบถีงปัญหาก็ได้มีการชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่ยังไม่มีความพร้อมและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ ถือเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน คณะรัฐมนตรี จึงออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ เพื่อขอให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย จำนวน 5 มาตรา ให้ไปเป็นบังคับ 1 ต.ค. 2566
สำหรับ พ.ร.ก. เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานอุ้มหาย นั้น ได้ชะลอมาตราที่เกี่ยวข้องใน พ.ร.บ.อุ้มหาย ไว้ถึง 4 มาตราด้วยกัน ดังนี้
1. มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุม จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
2. มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
3. มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
4. มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน
ดังนั้นการบังคับใช้ “พ.ร.บ. อุ้มหาย” จึงจำเป็นต้องเลื่อนออกไปอีกถึง 8 เดือน อีกทั้งยังสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายว่าจะเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนหรือไม่
อ้างอิงข้อมูล : มูลนิธิผสานวัฒนธรรม