สำรวจ“หัวรบนิวเคลียร์”มหาอำนาจ ทบ.จับกระแส “สงครามยูเครน”
ความขัดแย้งระหว่างประเทศ กรณี สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อยุโรปและทั่วโลก อีกทั้งยังทำให้โลกแบ่งขั้วชัดเจนมากขึ้น เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ และกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ "กองทัพบกไทย"
"หน่วยงานความมั่นคงไทย" มีท่าทีกังวลต่อการสู้รบระหว่าง“รัสเซีย-ยูเครน” หลังพบข้อมูลสถานการณ์จะทวีความรุนแรงอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค.-มิ.ย.) ซึ่งตรงกับที่นักวิชาการทั้งใน และต่างประเทศได้ตั้งข้อสังเกตไว้
อีกทั้งยังเป็นเรื่องยากจะชี้ชัดได้ว่า การสู้รบจะขยายพื้นที่ไปยังโปแลนด์ นำไปสู่ สงครามโลกครั้งที่ 3 พร้อมงัดอาวุธนิวเคลียร์มาทำลายล้างกันหรือไม่ แต่หน่วยงานความมั่นคงไทยยอมรับว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นหนึ่งในหัวข้อที่พูดถึง และได้เตรียมแผนรองรับไว้
พร้อมทั้งเชื่อมั่นใจว่า นโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ไว้ ต้องไม่เลือกข้าง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย เป็นเรื่องถูกต้องที่สุดกับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ยกเว้นการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน พัฒนาไปอีกสเต็ป
รัฐบาลต้องเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ(สขช.) กระทรวงต่างประเทศ (กต.) กระทรวงกลาโหม กองทัพ ตลอดจนถึงส่วนเกี่ยวข้องมาหารือกันอีกรอบ เพื่อวางนโยบายและแผนรองรับให้ตรงกับสถานการณ์
แหล่งข่าวจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ระบุว่า ถือเป็นเรื่องใหญ่ ขณะนี้กำลังประเมินสถานการณ์ จะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ ในเรื่องการสู้รบระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ตลอดจนถึงวิกฤติพลังงานและอาหารหากมาเร็วขึ้น ได้เตรียมแผนเรียบร้อยหมดแล้ว ทางคณะกรรมการในระดับต่างๆ ที่นายกฯ ตั้งขึ้นมา ได้สรุปนำเรียนบอร์ดใหญ่ไปหมดแล้ว และประเมินสถานการต่อเนื่อง
ขณะที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เปิดหอประชุมกิตติขจร จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "ความมั่นคงของชาติในบริบทของสังคมโลกในปัจจุบันและอนาคต" เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์กับการเมืองระหว่างประเทศ การเมืองภายในประเทศ และกฎหมายด้านความมั่นคงของประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต
หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจคือ สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ กรณี สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นบทเรียนการสงครามสมัยใหม่ ที่มีการใช้ทั้ง สงครามไซเบอร์ โดรน ล้วงข้อมูล ขณะที่อาวุธยุทโธปกรณ์อย่าง รถถัง ปืนใหญ่ก็ยังมีบทบาทสำคัญมาก
ส่วนแนวโน้มของสงครามนั้น แม้ยังคาดเดาทิศทางได้ยาก เนื่องจากทั้งรัสเซีย-ยูเครน ต่างไม่ยอมรับการเจรจา แต่เชื่อว่าการสู้รบไม่มีฝ่ายใดชนะแบบเด็ดขาด แต่สิ่งที่น่ากังวลมีความเป็นไปได้ ที่จะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์
ปัจจุบันประเทศมหาอำนาจมีการสะสมอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น จากที่เคยจำกัดไว้ไม่เกิน 1,550 หัวรบ แต่พบว่าสหรัฐฯ และรัสเซีย มี มากกว่า 5,000 หัวรบ ในขณะที่จีน มี 400 หัวรบ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 1,500 หัวรบ ในปี 2035
พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา และอดีต ผบ.ทหารสูงสุด ระบุว่า สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีความสำคัญต่อประเทศไทย และกองทัพบกเป็นอย่างมาก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผันผวนซับซ้อน ไทยต้องติดตามและพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีดิจิทัล หรือไซเบอร์ ให้มากขึ้น
สำหรับการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งในส่วนราชการ พลเรือน ภาคธุรกิจ เอกชน ภาควิชาการ จะมีความสนใจเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งจีนถือว่ามีการค้าที่ใหญ่ เป็นแหล่งยุทโธปกรณ์ ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งด้านการทหารก็มีอิทธิพลเช่นกัน ขณะที่ในปี 2023 สหรัฐฯ จะได้รับความนิยมมากขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ที่มีความต้องการด้านอาวุธยุทโธปกรณ์มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีประเทศที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ และไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจของสหรัฐฯ และตะวันตก อาทิ อินเดีย
ซาอุดิอาระเบีย กลุ่ม BRICS (กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว บราซิล Brazil รัสเซีย Russia อินเดีย India จีน China และแอฟริกาใต้ South Africa ) ที่มีการเริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้น ส่วนสถานการณ์ในกลุ่มรอบไทย อย่างเช่น เขมร ลาว ได้รับอิทธิพลจากจีนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาสมดุลตามนโยบายไม่เลือกข้าง และเดินหน้าสร้างความร่วมมือผ่านเวทีต่างๆ เช่น การเป็นเจ้าภาพเอเปค หรือสร้างการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ
เพราะไทย ถือเป็นพันธมิตรนอกนาโต้ของสหรัฐฯ ที่มีความร่วมมือในด้านต่างๆ มาอย่างยาวนาน และมีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ เป็นแหล่งความรู้ การศึกษา และเทคโนโลยี ในขณะที่จีนเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ไทย และมีสังคมวัฒนธรรมผูกพันกันมา
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อยุโรปและทั่วโลก อีกทั้งยังทำให้โลกแบ่งขั้วชัดเจนมากขึ้น เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ และกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ไม่เว้นแม้แต่กองทัพบกไทย