7 ปีควัก 203 ล้าน ซื้อ "อุปกรณ์" แก้ฝุ่นพิษ โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง
"...เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมาแล้วหลายปีติดต่อกัน คำถามสำคัญที่ถูกตั้งขึ้นคือ รัฐบาล-หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทำอะไรเพื่อแก้ไขสถานการณ์เหล่านี้บ้าง..."
กำลังเป็นประเด็นใหญ่ ที่ถูกสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สำหรับปัญหาการแก้ไข “ฝุ่นพิษ” ที่แพร่สะพัดไปทั่วหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ที่กำลังเผชิญวิกฤติอย่างหนัก โดยเฉพาะกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยหน่วยงานรัฐหลายแห่งประเมินออกมาแล้วว่า คุณภาพอากาศในหลายจังหวัดภาคเหนือ โดยรวมอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
เบื้องต้น รัฐบาลมีการประสานงานแก้ไขช่วยเหลือเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เร่งติดตามและแก้ไขปัญหากรณีไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมาแล้ว
อย่างไรก็ดี ฟากประชาชนอาจยังอดรนทนไม่ไหว มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีคำสั่งให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ให้ไม่เกินมาตรฐานตามที่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด
ทว่าภาคประชาชนอาจต้องผิดหวัง เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” คดีดังกล่าว โดยเห็นว่า กรณีนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามมาตรการ แผนปฏิบัติการ ยังฟังไม่ได้ว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดังกล่าวเป็นสาธารณภัยร้ายแรงที่นายกฯต้องออกคำสั่งตามฟ้อง
เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมาแล้วหลายปีติดต่อกัน คำถามสำคัญที่ถูกตั้งขึ้นคือ รัฐบาล-หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทำอะไรเพื่อแก้ไขสถานการณ์เหล่านี้บ้าง
ในมุมการจัดซื้อจัดจ้าง “กรุงเทพธุรกิจ” ตรวจสอบพบว่า ในช่วง 7 ปีหลัง (ระหว่างปีงบประมาณ 2559-2565) รัฐบาล-หน่วยงานของรัฐ ใช้เงินในการจัดซื้ออุปกรณ์ กิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกัน และแก้ไขการเกิดฝุ่นพิษ หรือฝุ่น PM 2.5 อย่างน้อย 761 รายการ รวมวงเงินไม่ต่ำกว่า 203,830,093 บาท ได้แก่
งบประมาณปี 2565 ดำเนินอย่างน้อย 144 โครงการ รวมวงเงิน 52.22 ล้านบาท
โดยหน่วยงานที่ใช้งบประมาณมากสุด 2 ลำดับแรกคือ กรมการขนส่งทางบก ประกวดราคาซื้อเครื่องวัดควันดำระบบความทึบแสง (Opacity) ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัดควันดำเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ลงนามเมื่อ 24 ธ.ค. 2564 วงเงิน 16.81 ล้านบาท
และกรุงเทพมหานคร ประกวดราคาจ้างเหมาเดินระบบพร้อมบำรุงรักษาเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงนามเมื่อ 11 ต.ค. 2564 วงเงิน 14.35 ล้านบาท
งบประมาณปี 2564 ดำเนินอย่างน้อย 193 โครงการ รวมวงเงิน 30.40 ล้านบาท
โดยหน่วยงานที่ใช้งบประมาณมากสุดคือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกวดราคาซื้อเครื่องฟอกอากาศและเครื่องตรวจจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จำนวน 2 รายการ ด้วยวิธีประกวดราคา ลงนามเมื่อ 19 มี.ค. 2564 วงเงิน 3.98 ล้านบาท
งบประมาณปี 2563 ดำเนินอย่างน้อย 327 โครงการ รวมวงเงิน 94.55 ล้านบาท
โดยหน่วยงานที่ใช้งบประมาณมากสุดคือ กรุงเทพมหานคร ประกวดราคาซื้อจัดหาเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) พร้อมเดินระบบในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงนามเมื่อ 25 ก.ย. 2563 วงเงิน 43.99 ล้านบาท
งบประมาณปี 2562 ดำเนินอย่างน้อย 94 โครงการ รวมวงเงิน 24.25 ล้านบาท
โดยหน่วยงานที่ใช้งบประมาณมากสุดคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จ้างที่ปรึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้สำหรับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและลดฝุ่นละออง PM 2.5 ของโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยวิธีคัดเลือก ลงนามเมื่อ 1 ส.ค. 2562 วงเงิน 10.85 ล้านบาท
งบประมาณปี 2561 ดำเนินอย่างน้อย 1 โครงการ รวมวงเงิน 1.99 ล้านบาท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ประกวดราคาซื้อเครื่องวัดฝุ่นละอองลอย PM2.5 แบบใช้หลักการไมโครบาลานซ์ ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 1 ชุด
งบประมาณปี 2560 ดำเนินอย่างน้อย 1 โครงการ รวมวงเงิน 385,200 บาท กรมอนามัย ซื้อเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองชนิดอ่านค่าทันทีแบบหัวตรวจวัด PM10 PM2.5และ TSP โดยวิธีตกลงราคา
งบประมาณปี 2559 ดำเนินอย่างน้อย 1 โครงการ รวมวงเงิน 34,893 บาท กรมควบคุมมลพิษ จ้างซ่อมเครื่องวัดฝุ่นละออง PM 2.5 ของสถานีฯ หน้าพระลาน จ.สระบุรี และเครื่อง Data Logger ของสถานีฯ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
ทั้งหมดคือข้อมูลเบื้องต้นเท่าที่ตรวจสอบพบ เกี่ยวกับการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ รวมถึงการจัดกิจกรรมในการป้องกัน รณรงค์แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ ทั้งฝุ่นละอองจากควัน ไฟป่า และ PM 2.5 ซึ่งสังเกตได้ว่า เริ่มจะใช้มากขึ้นในช่วงระยะหลัง 3-4 ปีมานี้
อย่างไรก็ตาม งบจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เฉพาะเจาะจง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นพิษที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี แต่ยังมีสารพัดโครงการที่กระจายในหน่วยงานต่างๆ ที่แก้ปัญหาต้นตอ ลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิด ตั้งแต่ระยะสั้น ถึงระยะยาว ซึ่งงบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันทั้งหมดในปี 2566 ประมาณ 410.65 ล้านบาทใกล้เคียงกับปีที่แล้ว 406.2 ล้านบาท
ท้ายที่สุดเรื่องนี้รัฐบาลนี้ที่ยังรักษาการอยู่ หรือพรรคการเมืองที่หวังจะจัดตั้งรัฐบาลหน้า จะมีมาตรการ หรือนโยบายแก้ไขเยียวยาช่วยเหลือประชาชนอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป