"นักวิชาการ" ประเมินเกมเลือกตั้ง "พท." ต้องเกาะกระแส "ก้าวไกล"
"สติธร" มองเกมเลือกตั้ง "พท." ต้องเกาะกระแส "ก้าวไกล" หวังชิงคะแนน "ฝั่งประชาธิปไตย" ที่ยังลังเล พร้อมประเมิน ขั้ว3ป. ยังมีแต้มต่อทางการเมือง
นายสติธร ธนานิติโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตยสถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ถึงการสำรวจคะแนนนิยมของพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้งที่พบว่า พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ว่า การสำรวจความนิยมดังกล่าวไม่ถึงขนาดที่จะชี้ถึงผลของการเลือกตั้ง แต่ทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้นมีลุ้นทุกฝ่าย โดยฝั่งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่เป็นฝั่งเสรีนิยมยังได้รับความนิยมในประชาชนที่เป็นฝั่งเดียวกัน อย่างไรก็ดีไม่ได้แปลว่า ฝั่ง3ป. จะไม่มีที่ยืน เพราะในหลายพื้นที่ยังพบว่า พรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติชนะขาด
“จากผลสำรวจที่ออกมา ทำให้เห็นว่าฝั่งประชาธิปไตยมีมากกว่า หากประเมินอาจจะมี 60% ส่วนอีกฝั่งมี 40% ทำให้เห็นว่าตัวเลขที่ออกมา ไม่ได้ห่างกัน คือ ฝั่งประชาธิปไตย ได้ 280- 290 เสียง ขณะที่อีกฝั่งได้ 220 เสียง ดังนั้นยังพอสู้กันได้ ดังนั้นต้องพิจารณาในช่วงการหาเสียงต่อจากนี้ว่าแต่ละพรรคจะใช้กลยุทธ์สู้เลือกตั้งอย่างไร” นายยสติธร กล่าว
เมื่อถามว่าการเลือกตั้งรอบนี้ จะเป็นทางลงจากหลังเสือของ ขั้วอำนาจ3ป. ที่ยึดอำนาจหรือไม่ นายสติธร กล่าวว่า ยังเร็วไปที่จะประเมิน เนื่องจากในสมการของการตั้งรัฐบาลยังมีส่วนผสมของ ส.ว. 250 เสียงอยู่ แม้หลายฝ่าย รวมถึงนักการเมืองเรียกร้องให้ พรรคที่ชนะเลือกตั้งได้ส.ส.สูงสุดตั้งรัฐบาลได้ก่อน แต่โอกาสของการเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยยังเป็นไปได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญในประเด็นการเลือกนายกฯ ไม่กำหนดระยะเวลาว่าต้องได้ นายกฯ ภายในระยะเวลาเท่าใด ดังนั้นการเลือกนายกฯในรัฐสภา จากส.ส.และส.ว. อาจเป็นปัจจัยสำคัญ คือ ส.ว. ล็อคคนที่จะเป็นนายกฯ ไว้ ก่อนที่จะจัดตั้งรัฐบาลจากขั้วพรรคการเมืองต่างๆ
"หากหาคนที่เป็นนายกฯ ไม่ได้ อาจทำให้เห็นปรากฎการณ์ย้ายขั้ว หรือ เสียสัตย์เพื่อชาติ เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อชาติได้ เหมือนกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เพราะคุณธรรมของนักการเมืองหลังเลือกตั้งเชื่อถือได้น้อย อีกทั้งหากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้หลังเลือกตั้ง รัฐบาลรักษาการปัจจุบันยังมีอำนาจและหน้าที่บริหารประเทศต่อไปได้"นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กล่าว
นายสติธร กล่าวด้วยว่าในการเลือกตั้งปี2562 สถานการณ์การเมืองไทยเผชิญกับรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่ทำให้เกิดความไม่เสถียรภาพทางการเมือง ดังนั้นหากจะเกิดขึ้นอีก และมีผลต่อการพิจารณากฎหมายสำคัญ หรือยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ กฎหมายไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ที่จะทำให้ฝ่ายเดิมกลับเข้าสู่อำนาจได้อีก
“ผมมองว่าหากจะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยเสียงข้างมากที่จะปิดประตูนักการเมืองที่จะฝืนมติของประชาชน คือ รวมเสียงให้ได้ 350 เสียงขึ้นไป แต่หากรวมเสียงได้แบบก้ำกึ่ง 280 เสียง ต่อ 220 เสียง จะเกิดความไม่แน่นอน ดังนั้นการเลือกตั้งปี2566 ผมขอนิยามว่าคือการเลือกตั้งที่ไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้” นายสติธร กล่าว
เมื่อถามว่าการเลือกตั้งปี2566 จะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบได้หรือไม่ นายสติธร กล่าวว่า วันนี้ยาก เพราะการเลือกตั้งปี2566 อยู่ภายใต้กติกาครึ่งใบ ส.ว.ยังมีสิทธิเลือกนายกฯ ดังนั้นหากอยากให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยแท้จริง ต้อง รอให้ส.ว. ชุดปัจจุบันที่มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ หมดวาระ ในช่วงปี2567
เมื่อถามย้ำว่าการเลือกตั้งรอบนี้ 3ป. จะใช้เป็นทางลงจากอำนาจและรอดจากการถูกเช็ตบิลหรือไม่ นายสติธร กล่าวว่า ตนเชื่อว่าจะมี 1ป.ที่รอด คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพราะเชื่อว่าจะพล.อ.ประวิตรและพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นหนึ่งในสมการจัดตั้งรัฐบาล
เมื่อถามว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ประกาศจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ก่อรัฐประหาร นายสติธร กล่าวว่า ตนมองว่าเป็นเพียงการแก้เกม เนื่องจากคะแนนของพรรคเพื่อไทยสูสีกับ พรรคก้าวไกล ดังนั้นจะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในฝั่งประชาธิปไตยลังเลระหว่างจะเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องใช้กลยุทธ์ที่เกาะกระแสพรรคก้าวไกล หากนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ประกาศแล้วพรรคเพื่อไทยรับได้ ไม่เสียหาย จะประกาศด้วยเพื่อเอาคะแนนช่วงก่อนลงคะแนนเลือกตั้ง
นายสติธ กล่าวต่อว่าส่วน พล.อ.ประวิตร ที่เคยเป็นแกนนำ คสช. นั้น หากพรรคเพื่อไทยจะร่วมรัฐบาลต้องหาเหตุผล ซึ่งตนมองว่ายังพอมีเหตุผล ทั้งนี้ในสมการตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยในทุกสูตรจะขาดพรรคคพลังประชารัฐไม่ได้ หากต้องการเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลในสมการ 376 เสียง.