ขั้นตอน 'เลือกตั้ง 2566' นอกราชอาณาจักร รวมไว้ที่นี่
'เลือกตั้ง 2566' นอกราชอาณาจักร รวมขั้นตอนครบจบไว้ที่นี่ โดย กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และกำหนดวันเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566
'เลือกตั้ง 2566' นอกราชอาณาจักร รวมขั้นตอนครบจบไว้ที่นี่ โดย กกต.ได้กำหนัดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และกำหนดวันเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 นี้ ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่วันแล้ว
ขณะที่กรณี เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2566 อยู่ต่างประเทศ กกต. ได้มอบหมายให้ กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการโดยปีนี้สำนักงาน กกต. ดำเนินการส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ไปยัง 66 ประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการลงใช้สิทธิเลือกตั้ง 2566 นอกราชอาณาจักร สามารถทำได้ดังต่อไปนี้
1.เลือกตั้งในคูหา
เลือกตั้งในคูหาเลือกตั้ง สถานที่ และวันเวลา จัดการเลือกตั้ง สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ หรือสถานที่อื่นซึ่งเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ เป็นผู้กำหนด โดยจะตั้งคูหาและหีบบัตรให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกาบัตรเลือกตั้ง
2.เลือกตั้งทางไปรษณีย์
ทางสถานเอกอัครราชทูต หรือ สถานกงสุลใหญ่ จะจัดส่งบัตรเลือกตั้ง และเอกสารแนะนำการใช้สิทธิไปให้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้พร้อมกำหนดวันส่งกลับมาร่วมกันใช้สิทธิออกเสียง เลือกตั้ง เลือกผู้แทนของเราเข้าไปบริหารประเทศ
ขั้นตอนลงคะแนนเลือกตั้ง นอกราชอาณาจักรทางไปรษณีย์
- รับซองเลือกตั้งทางไปรษณีย์
สถานทูตจะจัดส่งบัตรเลือกตั้งและเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมซองไปรษณีย์เปล่าจ่าหน้าถึงหน่วยเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกไว้ในการลงทะเบียน
- ลงคะแนน
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปิดซองอ่าน และดำเนินการตามขั้นตอนในเอกสารแนะนำการลงคะแนนเสียงเพื่อลงคะแนนให้เสร็จสมบูรณ์
- ส่งกลับบัตรเลือกตั้ง
ส่งบัตรเลือกตั้งกลับไปยังสถานเอกอัครราชทูตทันทีหลังลงคะแนนแล้วเสร็จภายในวันที่ 2 พฤษภาคม ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถ่ายสำเนาเอกสารแสดงตัวตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง หรือใบขับขี่ แนบกลับมาด้วย
ใช้สิทธิเลือกตั้ง 2566 นอกราชอาณาจักร ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
- สำเนาหนังสือเดินทาง (Passport)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ไทย)
ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดให้จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 24 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2566 โดยสามารถที่จะสอบถามติดตามช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของสถานทูตกงสุลที่ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้ง 2566 ไว้
บัตรเลือกตั้ง 2566 เป็นอย่างไร?
บัตรเลือกตั้ง ในรอบนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้บัตรเลือกตั้งมาจำนวน 2 ใบ คือ บัตรสีม่วง และ บัตรสีเขียว ซึ่งความหมายของแต่ละใบ เราจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
1.บัตรเลือกตั้ง (สีม่วง) คือบัตรสำหรับเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต จะประกอบด้วยหมายเลขผู้สมัคร และช่องสำหรับกากบาท ซึ่งไม่มีชื่อผู้สมัคร ไม่มีภาพผู้สมัคร ส.ส.และไม่มีโลโก้พรรคการเมืองด้วย ***สิ่งสำคัญ คือ เราต้องจำหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.ที่เราต้องการจะเลือกให้ได้ ก่อนเข้าคูหา
2.บัตรเลือกตั้ง (สีเขียว) คือบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ใบสีเขียวนี้จะมีสัญลักษณ์หรือโลโก้พรรคการเมือง หรือเครื่องหมายของพรรคการเมือง และมีชื่อพรรคการเมือง อีกทั้งมีเบอร์หรือหมายเลขพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้งด้วย แต่จะไม่มีภาพใดๆ ***สิ่งสำคัญ คือ เราสามารถกากบาทเลือกเบอร์พรรคการเมืองที่เราต้องการเลือกได้เลย ซึ่งจะง่ายกว่าใบสีม่วง ที่เราต้องจำหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.ที่เราต้องการจะเลือกให้ได้
cr : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์