'เลือกตั้ง 2566' กทม. พร้อมจัดเลือกตั้ง คาดรู้ผลไม่เป็นทางการก่อน 3 ทุ่ม

'เลือกตั้ง 2566' กทม. พร้อมจัดเลือกตั้ง คาดรู้ผลไม่เป็นทางการก่อน 3 ทุ่ม

กทม. พร้อมจัดเลือกตั้ง คาดรู้ผลไม่เป็นทางการก่อน 3 ทุ่ม หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดหรือความไม่เป็นกลางในการเลือกตั้งที่บริเวณหน้าหน่วยเลือกตั้ง สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งได้

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ร่วมเวทีเสวนา “เลือกตั้ง 66 เตรียมตัวพร้อมหรือยัง” ในหัวข้อ ความพร้อมของ กทม. ในการจัดการเลือกตั้ง และการเตรียมความพร้อมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

นายชาตรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมากกรุงเทพมหานครได้สนับสนุนการเลือกตั้งมาตลอด ตั้งแต่การรับสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งสนับสนุนใน 4 ด้านหลักๆ ได้แก่

1. บุคลากร อาทิ เจ้าหน้าที่รับสมัครรับเลือกตั้ง คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 6,327 หน่วย คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งกลางในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการนับคะแนน บุคลากรประมวลผลการนับคะแนน การจัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมแล้วสนับสนุนบุคลากรมากกว่า 86,000 คน

2. สถานที่ เช่น สถานที่รับสมัครรับเลือกตั้ง สถานที่ในการเป็นหน่วยเลือกตั้ง สถานที่ติดประกาศหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง สถานที่ปราศรัยหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง สถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า สถานที่เก็บบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า เป็นต้น

3. วัสดุอุปกรณ์ เช่น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในวันรับสมัครเลือกตั้ง การนับคะแนน การประมวลผลเลือกตั้ง

และ 4. งบประมาณในการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น การจัดทำแผ่นพับ ใบปลิว ป้ายประชาสัมพันธ์ และการจัดกิจกรรมเชิญชวนไปใช้สิทธิ
 

ด้าน ดร.ถวิลวดี รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นเบื้องต้นของคนกรุงเทพฯ พบว่า คนกรุงเทพฯ ให้ความสนใจการเลือกตั้งระดับปานกลาง อยู่ที่ประมาณ 4.8 จาก 10 ซึ่งส่วนใหญ่รู้ว่าจะเลือกใคร โดยดูจากตัวพรรคการเมืองเป็นหลักประมาณ 30% รองลงมาเป็นหัวหน้าพรรค ตามมาด้วยนโยบาย และตัวผู้สมัคร ส่วนผู้สมัครตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนกรุงเทพฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 6 ทั้งนี้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่พร้อมไปลงคะแนนคิดเป็น 88.5% คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะเลือกผู้สมัครโดยดูจากการศึกษา วิสัยทัศน์ มีความสามารถแก้ปัญหาได้ ซื่อสัตย์ ไม่ทุจริต เป็นต้น

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความพร้อมในการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งว่า การนับคะแนนจะนับที่หน่วยเลือกตั้งแล้วส่งผลการนับคะแนนออนไลน์มาที่ส่วนกลางที่ห้องรัตนโกสินทร์ คาดว่าจะทราบผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการไม่เกินเวลา 21.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. 66 ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีการหารือถึงแนวทางที่อยากให้มีการรายงานผลคะแนนได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งได้มีการทำหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วอยู่ระหว่างรอคำตอบว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง
 

ส่วนรองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งมีหลายรูปแบบ การใช้สิทธิเลือกตั้งต้องใช้วิจารณญาณ ใช้สติปัญญาในการคิด เพราะใกล้เลือกตั้งจะมีข่าวลือ ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนเยอะมาก เพื่อตัดคะแนนเสียงของผู้สมัครคนอื่น นอกจากนี้คนกรุงเทพฯ รู้ว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ แต่จะไม่ค่อยมีส่วนร่วมด้านอื่นนอกจากการออกไปใช้สิทธิ เช่น การพูดคุยหรือชักชวนไปเลือกตั้งมีน้อย และพบเห็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งแต่ไม่มีการแจ้งเหตุดังกล่าว เป็นต้น ซึ่งประชาชนสามารถช่วยกันเป็นอาสาสมัครติดตามตรวจสอบเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมได้

ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้คนกรุงเทพฯ เชื่อว่าจะมีการซื้อเสียงค่อนข้างเยอะ และจะเห็นการหาเสียงแบบธรรมชาติเยอะขึ้น เช่น การแชร์โพสต์ เป็นต้น ซึ่งบางคนอาจจะช่วยหาเสียงแบบไม่รู้ตัวก็ได้ โดยคุณลักษณะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่คนกรุงเทพฯ อยากจะเลือก คือ ทำเพื่อส่วนร่วม คิดเพื่อส่วนรวม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ดูถูกเพศอื่น แก้ปัญหาประเทศชาติยามวิกฤติได้ เข้าถึงได้สม่ำเสมอไม่ใช่แค่ช่วงเลือกตั้ง และเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นประชาชนยังสามารถติดตามตรวจสอบการทำงานของ ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งว่าได้ทำหน้าที่ของตนตามที่ได้หาเสียงหรือไม่ มีการดำเนินงานด้านอื่นเพิ่มเติมบ้างไหม

รองปลัดฯ ชาตรี กล่าวด้วยว่า ถ้าประชาชนพบเห็นการกระทำผิดหรือความไม่เป็นกลางในการเลือกตั้งที่บริเวณหน้าหน่วยเลือกตั้งสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งได้ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้ง นอกจากนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีนโยบายให้ข้าราชการและบุคลากรของกรุงเทพมหานครวางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้ง ไม่สนับสนุนผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ส่วนประชาชนที่กระทำการสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เช่น การฉีกบัตรเลือกตั้ง การถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว จะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อมีผู้กระทำความผิด กกต. จะทำการสืบสวน สอบสวนตามกฎหมายต่อไป ดังนั้นขอให้ประชาชนระมัดระวังในการกระทำต่าง ๆ ขณะนี้กรุงเทพมหานครมีความพร้อมในการเตรียมการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ รวมถึงเตรียมความพร้อมกรณีเกิดฝนตกหรือเหตุอื่นไว้ด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาใช้สิทธิลงคะแนนด้วย