2 อดีต กกต.รุมค้านไฟเขียวงบแก้ค่าไฟ ชี้นโยบายหลายพรรคเสี่ยงถูกยุบ
2 อดีต กกต.วิเคราะห์เลือกตั้ง 66 “สดศรี” ชี้ค่าไฟแพง หน้าที่รัฐบาลหน้าแก้ “สมชัย” เล่าเบื้องหลัง “กิตติรัตน์” เคยขออนุมัติงบจ่ายหนี้จำนำข้าว แต่ทำไม่ได้ ลั่น กกต.ไฟเขียวค่าไฟเมื่อไหร่ เตรียมโดนร้องถอดถอน ชี้นโยบายหลายพรรคเสี่ยงโดนยุบ เหตุเข้าข่ายหลอกลวง
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์และนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย อดีต กกต. ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “คมชัดลึก” ออกอากาศทางสถานี “เนชั่นทีวี 22” ในประเด็นเปิดปมยุบพรรค เขย่าเลือกตั้งเดือด ดำเนินรายการโดยนายวราวิทย์ ฉิมพลี
โดยช่วงต้นนางสดศรี ตอบคำถามถึงประเด็นความผิดพลาดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เช่น พิมพ์ภาพผู้สมัครสลับกัน หรือพิมพ์ชื่อพรรคผิด ว่า ข้อผิดพลาดในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น รูปสลับกัน บางที กกต.ส่งไปแล้ว อยู่ที่ทางสถานเอกอัครราชทูต ท่านอาจดำเนินการสลับกันก็ได้ หรืออาจมาจากต้นตอหรือ กกต.ส่วนกลางก็ได้ คิดว่าไม่น่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะผู้สมัคร ส.ส.ส่วนใหญ่ ประชาชนในต่างประเทศ ไม่ค่อยรู้จัก และมีผู้สมัคร ส.ส. 400 เขต ชื่อก็แตกต่างกัน เบอร์ก็แตกต่างกัน อย่างไรก็ดีการทบทวนก่อนวันเลือกตั้งสำคัญ ต้องมีการตรวจสอบ กกต.มีพนักงานจำนวนมาก ทั้งในจังหวัดต่าง ๆ และในส่วนกลาง ถ้ามีการดำเนินการแล้ว ฝ่ายจัดการเลือกตั้งต้องมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจะส่งไปยังที่ต่าง ๆ
ขณะที่นายสมชัย กล่าวว่า ความผิดพลาดเกี่ยวกับเรื่องการสลับรูปเหล่านี้ ถ้าถามโทษใคร ต้องโทษผู้บังคับบัญชา เพราะเด็กจะไปหวังผล 100% ในความถูกต้องไม่ได้ แต่หัวหน้าถัดไปขึ้นมา 1-2 ขั้น ไม่ต้องโทษถึงเลขาธิการ กกต. ต้องมีการตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อนส่งออกไป แต่ถามว่ากระทบต่อผลการตัดสินใจของคนหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าไม่กระทบ เพราะส่วนใหญ่คนต่างประเทศแทบไม่รู้จักผู้สมัครแต่ละคนเลย จะเอารูปใครมาก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่เลือกตามพรรค ดังนั้นผู้บังคับบัญชาระดับต้นควรใส่ใจ ดูรายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่เกิดข้อผิดพลาดขึ้น อาจเป็นเพราะ กกต.เร่งรัดกระบวนการเลือกตั้งต่างประเทศเกินไป เพราะไปกลัวส่งบัตรเลือกตั้งกลับไทยไม่ทัน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 ดังนั้นเร่งรัดกระบวนการข้างหน้าให้รวดเร็วที่สุด ในขั้น กกต. ในไทย ต้องทำเอกสารกันแทบทั้งวันทั้งคืน ส่งออกโดยทันที การตรวจสอบอาจไม่เรียบร้อยเกิดขึ้น ทำให้พอไปถึงกลายเป็นข้อผิดพลาดปรากฏต่อสายตาประชาชน นี่เป็นเพียงบางกรณีเท่านั้น นอกจากนี้ระบบการทำงานของ กกต. ยังถือเป็นแบบโบราณ ใช้รูปแบบ Analog แบบฟอร์มหนึ่งก็ต้องทำทีหนึ่ง ถ้าเราทำระบบเป็นคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงชื่อ หมายเลขผู้สมัคร พรรคการเมือง มีฐานข้อมูลเดียว นิ่งถูกต้อง ทุกอย่างถูกดึงไปใช้ได้ทุกแพลตฟอร์ม ก็จะไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น
เมื่อถามว่า แสดงว่าขณะนี้ยังไม่เจอเรื่องน่ากังวลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ กกต.ใช่หรือไม่ นางสดศรี และนายสมชัย กล่าวตอบลักษณะเดียวกันว่า ยังไม่เจอ อาจมีข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น
- ชี้เรื่องค่าไฟแพง ควรให้เป็นหน้าที่รัฐบาลหน้าแก้ไข
ส่วนประเด็นเรื่องคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติงบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาทเพื่อช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนนั้น ถ้าหากยังเป็น กกต.อยู่จะอนุมัติหรือไม่ และเข้าข่ายเป็นการหาเสียงหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า ต้องดูว่า เหตุการณ์เกิดเนื่องจากการร้องเรียนเพราะค่าไฟมากหรือไม่ การที่รัฐบาลจะแก้ปัญหา ต้องแก้แต่แรก ไม่ใช่แก้ช่วงใกล้การเลือกตั้ง การขอ กกต. อนุมัติลดค่าไฟ มองดูเหมือนเป็นการหาเสียงนั่นเอง เพราะสิ่งอะไรจะทำ ต้องทำก่อน ก่อนจะมีการขึ้นราคาค่าไฟฟ้า แล้วก็เรื่องสำคัญสุดคือ ก่อนหน้านี้ทำไมรัฐบาลไม่ทำ ทำไมถึงทำในช่วงก่อนจะมีการเลือกตั้ง แม้จะอ้างว่ามีคนโวย แต่บิลค่าไฟฟ้าก็สูงมานานแล้ว การที่รัฐบาลจะลดค่าไฟฟ้าโดยขอใช้เงินสนับสนุนเรื่องนี้ ต้องทำตั้งนานแล้ว
“ถ้าเป็น 1 เสียงใน กกต. คิดว่าไม่น่าจะให้ เพราะควรจะให้หลังจากมีรัฐบาลใหม่แล้ว คือตอนนี้ควรหยุดชะงักเรื่องค่าไฟไว้ก่อน ค่าไฟเมื่อก่อนเท่าไหร่ ควรวางไว้อย่างนี้ก่อน การจะขึ้นหรือลด ก็น่าจะเป็นเรื่องรัฐบาลชุดหน้า ที่จะเข้ามาจัดการ” นางสดศรี กล่าว
นางสดศรี กล่าวอีกว่า ช่วงสมัยเป็น กกต.เคยมี ครม.ขออนุญาตหลายครั้ง แต่ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับสาธารณูปโภค ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการ กกต.จะดูว่าการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าวจำเป็นหรือไม่ มีการกลั่นแกล้งหรือไม่ หรือย้ายไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ เป็นเรื่องไม่สำคัญมากมายเท่าการใช้งบประมาณ จึงเชื่อว่า กกต.ชุดปัจจุบันคงอึดอัดใจ และคงไม่อนุมัติมากกว่า
- เบื้องหลัง “กิตติรัตน์” เคยขอ กกต.อนุมัติงบจ่ายหนี้จำนำข้าว แต่ทำไม่ได้
ขณะที่นายสมชัย กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ถึง กกต.อยากอนุมัติจะให้ก็ให้ไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 ระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลรักษาการทำอะไรไม่ได้บ้าง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทำได้แต่ต้องขออนุมัติ กกต. เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรของรัฐ และการอนุมัติงบประมาณในเรื่องฉุกเฉิน เช่น เกิดภัยพิบัติ หรือโรคระบาด อีกส่วนคือ ครม.ขอมาแต่ กกต.ให้ไม่ได้เลย คือ การสร้างหนี้ผูกพันรัฐบาลชุดต่อไป เพราะคุณไม่ใช่รัฐบาลทีต้องใช้หนี้ในอนาคต และกรณีการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง
นายสมชัย กล่าวว่า กรณีนี้ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นสมัยตนเป็น กกต. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เคยหอบมติ ครม. กู้เงิน 2 หมื่นล้านบาทจาก ธกส.เพื่อใช้หนี้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว ตนถามนายกิตติรัตน์ว่า จะใช้หนี้คืนเมื่อไหร่ นายกิตติรัตน์บอกว่า อีก 18 เดือน ตนถามต่ออีกว่า อีก 18 เดือน ครม.ท่านรักษาการต่อหรือไม่ นายกิตติรัตน์ ตอบว่า ไม่ แต่ยืนยันว่าได้เงินคืนแน่นอน เพราะกำลังจะขายข้าวให้กับประเทศจีน ตนบอกว่า ถึงอยากช่วยชาวนาจากความเดือดร้อน แต่อนุมัติให้ไม่ได้ เพราะรัฐบาลรักษาการไม่อาจก่อหนี้ผูกพันรัฐบาลชุดต่อไปได้
ส่วนประเด็นการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งนั้น นายสมชัย อธิบายว่า สิ่งที่ ครม.ขออนุมัติแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าคือ “งบกลาง” แต่พอมาโยงถึงประเด็นการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง ก็เท่ากับให้ไม่ได้ เพราะงบกลางเป็นทรัพยากรของรัฐ หาก กกต.อนุมัติให้ ครม.แล้ว ครม.จะมีคะแนนนิยมดีขึ้นหรือไม่ ก็มี ดังนั้น กกต.ต้องพิจารณาเองว่าเข้าข่ายแบบนี้หรือไม่ แต่ดีที่สุดขณะนี้คือเผือกร้อนเรื่องค่าไฟถูกโยนพ้น ครม.มาอยู่ที่ กกต.แล้ว หากเป็น กกต.จะเสนอให้ ครม.เสนอมาใหม่ทันทีในวันที่ 15 พ.ค. คือหลังวันเลือกตั้งจบ ซึ่งรัฐบาลยังรักษาการอยู่ ไม่มีผลต่อคะแนนนิยมแล้ว ถ้าต้องการช่วยประชาชน เสนอมาใหม่วันนั้น กกต.ให้ได้เลย
- ถ้า กกต.ไฟเขียวค่าไฟเมื่อไหร่ เตรียมโดนร้องถอดถอน
เมื่อถามว่า หาก กกต.อนุมัติเรื่องค่าไฟฟ้าแก่ ครม.ก่อนวันเลือกตั้ง อะไรจะเกิดขึ้น นายสมชัย กล่าวว่า มีคนร้องเรียนต่อ กกต.แน่นอนว่าปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยสามารถไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการถอดถอน กกต.ชุดดังกล่าวได้
ผู้ดำเนินรายการถามถึงประเด็นพรรคการเมืองเสนอสารพัดนโยบาย แบบไหนถึงเข้าข่ายว่าสัญญาว่าจะให้ หรือมีโทษถูกยุบพรรคบ้าง ต้องตีความตามกฎหมายอย่างไร นางสดศรี กล่าวว่า สัญญาว่าจะให้คือ ให้ในสิ่งที่ไม่สามารถให้ได้ เช่น เคยมีกรณีเสนอมาว่าจะให้เงินไปพิธีฮัจญ์ ที่นครเมกกะ หลังจากนั้นมีการร้องเรียนว่า สัญญาว่าจะให้ กกต. เคยวินิจฉัยว่า แบบนี้คือสัญญาว่าจะให้เพราะเป็นไปไม่ได้ ที่จะเอาเงินงบประมาณส่งคนไปนครเมกกะ เป็นต้น แต่การสัญญาว่าจะให้ในสิ่งที่ไม่ได้ผูกพันงบประมาณ ในส่วนนี้คงต้องฟังว่า เมื่อไม่ผูกพันงบประมาณ หรือเงินของรัฐแล้วน่าจะทำได้
นางสดศรี กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับหลายพรรคการเมืองเสนอนโยบาย โดยระบุที่มาของเงินว่าเดี๋ยวจะบริหารจัดการงบประมาณมาทำ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสัญญาจะให้ เพราะเป็นเรื่องการทำงบประมาณต่อไป แต่สมมติว่า พรรคนั้นเป็นรัฐบาล เสนอนโยบายต่อสภา สภาอาจไม่เห็นด้วย เอาเงินไปถลุงกัน เอาเงินไหนไปโปะงบกลาง สภาก็ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดนั้น เป็นเรื่องของสภา ดังนั้นคิดว่ายังไม่มีพรรคไหนเข้าเกณฑ์ที่จะถูกยุบพรรคจากการนำเสนอนโยบายที่ผ่านมา และเท่าที่ทราบขณะนี้ กกต.ลงมติกันแล้วว่า การนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองตอนนี้ ไม่มีการเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้
- ชี้หลายพรรคเสี่ยงโดนยุบ เหตุเข้าข่ายหลอกลวง
ส่วนนายสมชัย กล่าวเสริมว่า ตามกฎหมายแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 57 บัญญัติว่า พรรคการเมืองที่จะทำนโยบายต้องใช้เงิน ระบุจำนวนเงิน แหล่งที่มา ความเสี่ยงส่งแก่ กกต. หากไม่ส่งตามกำหนด จะต้องถูกลงโทษโดยการปรับเงิน หากส่งแล้ว กกต.จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบต่อไป โดยกฎหมายฉบับนี้ กกต.ไม่มีอำนาจหน้าที่วิเคราะห์ว่านโยบายใดทำได้หรือไม่
นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนกฎหมายอีกฉบับคือ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มี 2 มาตราที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 73 (1) เรื่องสัญญาว่าจะให้ และ (5) เรื่องหลอกลวง โดยประเด็นเรื่องหลอกลวงคือการนำเสนอนโยบายที่ทำไม่ได้ แต่ดันมาบอกว่าจะทำ การหลอกลวงดังกล่าวต้องวิเคราะห์ว่า นโยบายของพรรคเหล่านั้นเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่ สมมติ คุณจะให้เงินก้อนนี้ ที่มาเป็นไปได้จริงหรือไม่ อยู่ในอำนาจงบประมาณ แปรงบต่าง ๆ เป็นเรื่องทำได้ แต่ถ้ารีดแล้วรีดอีก หรือว่าจัดการแล้วจัดการอีก ไม่สามารถทำตามตัวเลขดังกล่าวได้ จะเข้าข่ายหลอกลวง ผลก็คือจะเข้าข่ายทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง กกต.ให้ใบเหลือง หรือใบแดง หรือหาก กรรมการบริหารพรรคทำผิดก็มีสิทธิยุบพรรคได้
“ปัญหาคือใครร้องว่าหลอกลวง ประชาชนก็ร้องได้ต่อ กกต. พิสูจน์กัน อาจมีนักเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ให้ดู มีนักบริหารการเงินการคลัง เชี่ยวชาญเรื่องหนี้สาธารณะวิเคราะห์ให้ดูว่าได้หรือไม่ได้อย่างไร หรือเรื่องความปรากฏว่า กกต.เห็นเองว่า นโยบายเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้หรอก” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับพรรคการเมืองขณะนี้มีหลายพรรคที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงเรื่องหลอกลวงตามข้อกฎหมายข้างต้น โดยเฉพาะพรรคที่มีนโยบายใช้เงินเยอะ ถ้าตีความเรื่องหลอกลวงแล้วพิสูจน์ได้ ไปไกลได้ถึงขั้นยุบพรรค ขอไม่ระบุว่าพรรคใดทั้งหมด เพราะขณะนี้เราหาเสียงกันลดแลกแจกแถมกันสุด ๆ ไม่ได้ดูทุกอย่างที่เกิดขึ้นเลย ไม่ได้ดูหนี้สาธารณะมีเท่าไหร่ 10.7 ล้านล้านบาท เป็น 61% ของ GDP ใช้หนี้กันปีละเท่าไหร่ งบปี 2567 ใช้หนี้ 1 แสนล้านบาท เท่ากับว่าใช้หนี้คือราว 107 ปีกว่าจะหมด ถ้าวันนี้คิดจะเอาเงินที่จัดเก็บได้ ไปแจกอย่างเดียว คุณกำลังทำให้เกิดปัญหา
- ลั่นยุบพรรคใหญ่ ทำลายเสถียรภาพการเมือง
ผู้ดำเนินรายการถามว่า สรุปแล้วประเทศไทยควรมีกฎหมายยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่ มองผลกระทบเรื่องยุบพรรคอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย หากนำมาตีความเรื่องนโยบายหาเสียง นางสดศรี กล่าวว่า พรรคการเมืองกลัวว่าจะมีการยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง มีตัวอย่างมากมายเลยว่าพรรคการเมืองไหนถูกยุบก่อนวันเลือกตั้ง อย่างพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ปี 2562 ถูกยุบก่อนเลือกตั้งแค่ 17 วัน ทำให้พรรคนั้นสลายไปทันที กรรมการบริหารถูกตัดสิทธิ 10 ปี ผู้สมัครก็เคว้งกันหมด ถือว่าจบกันไป เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองต่าง ๆ จะมองดูว่าขณะนี้ กกต.จะมีการยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้งหรือไม่ เพราะหากยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง มันทำอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างเซตตัวไปหมดแล้ว แต่ถ้า กกต.ยุบพรรคหลังวันเลือกตั้ง พรรคนั้นเกิดได้รับการเลือกตั้ง กกต.รับรองแล้ว หากถูกยุบ ก็สามารถย้ายพรรคไปพรรคอื่นได้ เช่น พรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบหลังมีการเลือกตั้งแล้ว ได้รับรอง ส.ส.แล้ว ก็ย้ายไปอยู่พรรคก้าวไกล อย่างไรก็ดีหาถูกยุบพรรคหลังเลือกตั้ง แต่ก่อน กกต.จะมีการรับรองใน 60 วัน ก็ถือว่ายังไม่ประกาศผล ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งไม่ถือว่าเป็น ส.ส. ดังนั้นการรับรอง ส.ส.ของ กกต.จึงสำคัญ
นางสดศรี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเรื่องการยุบพรรคในไทย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กกต.มากกว่า เช่น การไม่แจ้งงบประมาณ การใช้เงินของ กกต. การไม่รายงานเรื่องเงินบำรุงพรรค มีผลถูกยุบตามกฎหมาย แต่ไม่ค่อยมีเรื่องใหญ่ เช่น เรื่องบ่อนทำลาย หรือล้มล้างอะไร แต่การยุบพรรคใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเกิดมีการยุบพรรคลักษณะที่มองดูแล้ว ยุบกันอยู่เรื่อย เสถียรภาพของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคที่อยู่มานาน จะมีความรู้สึกว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ กกต. กับศาลรัฐธรรมนูญ ความมั่นคงของพรรคก็จะไม่มี ไม่ได้เป็นบรรทัดฐานของพรรคการเมืองนั้น ๆ ตั้งมาเพื่อยุบพรรค ไม่ใช่ตั้งมาเพื่อเป็นสถาบันทางการเมืองต่อไป
- หวั่นยุบพรรคช่วงสุญญากาศ หลังเลือกตั้ง แต่ กกต.ยังไม่รับรองผล
ส่วนนายสมชัย มองว่า ถ้าจะมีการยุบพรรคเกิดขึ้น ควรเป็นเรื่องของเหตุและผล และเรื่องไม่กระทำการตามกฎหมาย แต่ไม่ควรใช้การยุบพรรคเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการกำจัดพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม เพราะเป็นการใช้กฎหมายรังแกฝ่ายตรงข้าม ทำลายศัตรูคู่แข่งทางการเมือง หากเขากระทำผิดจริงก็สมควรแก่เหตุ แต่ถ้าเขาไม่ได้ทำ หรือมีทำกันหลายพรรค แต่เลือกยุบแค่บางพรรค ถือว่าเลือกปฏิบัติ ก็ไม่สมควรกระทำ
“ถ้าหากว่าเลือกตั้งเสร็จแล้ว ยังไม่ประกาศผล เกิดมีการยุบพรรคทำอย่างไร ต้องคิดว่าเขาไม่ใช่ผู้สมัคร เพราะพรรคไม่มีสถานะไปแล้ว เพราะถ้ายังไม่รับรองผลการเลือกตั้ง แล้วมันเหมือนเห็นโพยหมดแล้ว ถ้ายุบพรรคที่เขาได้ที่ 1 เยอะ พยายามดันที่ 2 ขึ้นไป ก็น่าเกลียดมาก ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ ถ้าถามก็คิดว่าเป็นไปได้ เพราะรอ 60 วันประกาศผลก็นานพอสมควร ถ้า กกต. ทำแล้วไปโผล่ช่วงนั้นพอดีก็เป็นไปได้” นายสมชัย กล่าว