นักร้องรุมยื่น กกต.สอบ "พิธา" ปมบินกลับไทยหลังรัฐประหาร 49
"นักร้อง" รุมยื่น กกต.สอบ "พิธา" หาเสียงอันเป็นเท็จหรือไม่ ปมให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ อ้างถูกกักตัวหลังเดินทางกลับจากสหรัฐฯมางานศพบิดา หลังรัฐประหาร 49 หวังเรียกคะแนนช่วงเลือกตั้ง ชี้หากผิดจริงโทษหนัก ตัดสิทธิการเมือง 20 ปี
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยื่นร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีของพรรค กรณีการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ การเดินทางกลับมาจากอเมริกาเพื่อมาร่วมงานศพของบิดาในช่วงที่มีการรัฐประหาร 2549 ว่าเป็นการให้ข้อเท็จจริงหรือไม่ เนื่องจากการให้สัมภาษณ์ในรายการของสื่อมวลชน 2 ครั้งไม่ตรงกัน
โดยอ้างอิงว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 73(5) จึงมีความจำเป็นจะต้องถูกตรวจสอบ โดยชี้ว่ามีข้อพิรุธกรณีนายพิธากล่าวว่านายสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในขณะนั้น ไม่น่าจะเป็นข้อเท็จจริง โดยระบุว่านายสุรเกียรติดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร โดยให้นำภาพถ่ายมาอ้างอิงด้วย
นายเรืองไกร กล่าวถึงกรณีที่นายพิธา อ้างว่าบิดาเสียชีวิตในวันที่ 19 กันยายน ไม่ตรงกับที่ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊คที่มีภาพปรากฏข้อความเกี่ยวกับกำหนดการสวดอภิธรรมเริ่มในวันที่ 18 กันยายน ตามเวลาในประเทศไทย ในขณะที่วันเวลาในบอสตัน อเมริกา คือวันที่ 17 กันยายน ดังนั้นการเสียชีวิตของบิดานายพิธา จึงไม่ใช่วันที่ 19 กันยายน และอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายพิธา ว่าในขณะนั้น ทำงานคณะทำงานของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แต่ก่อนหน้านั้นมีการชี้แจงว่าได้เรียนหนังสือที่บอสตัน และยังอ้างถึงทำให้สัมภาษณ์กรณีเรื่องการถูกควบคุมการเงินของครอบครัวนายพิธา แต่นายเรืองไกรอ้างว่าในฐานะ สตง. ไม่พบปรากฏข้อมูล นายพิธา ที่จะเป็นบุคคล ที่จะถูกตรวจสอบโดยคำสั่ง คมช. 13 โครงการหลัก
ทั้งนี้ นายเรืองไกร ได้กล่าวอ้างว่าสิ่งที่นายพิธา ให้สัมภาษณ์ในรายการสื่อมวลชนนั้น เป็นการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งหากพูดข้อมูลอันเป็นเท็จ จะเข้าข่ายในลักษณะคำวินิจฉัยของ กกต. ที่เคยมี อย่างน้อย 2 คดีว่า "การหาเสียงท้องถิ่นอันเป็นเท็จซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง กกต. ส่งศาลอุทธรณ์" และ "การหาเสียงด้วยข้อความอันเป็นเท็จซึ่งในการดำเนินคดี"
นายเรืองไกร ยังเรียกร้องให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยตรวจสอบกันเอง เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นอาจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และไม่กังวลหากนายพิธา จะฟ้องร้องกลับ
วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์ ยื่นคำร้องขอให้ กกต. ดำเนินการไต่สวน สอบสวน และวินิจฉัย กรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2566 กรณีเดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา เพื่อมางานศพพ่อในช่วงของการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549
โดยนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ได้นำหลักฐานเป็นคลิปการให้สัมภาษณ์ของนายพิธา ผ่านรายการของนายสรยุทธ และคลิปการให้สัมภาษณ์ของนายพิธา ผ่านรายการของนางสุริวิภา กุลตังวัฒนา หรือหนูแหม่ม เมื่อปี 2552 มาเปรียบเทียบ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์เดียวกัน แต่กลับมีความแตกต่างกันในหลายประเด็น อาทิ
1. อ้างว่าตัวเองเป็นข้าราชการ อยู่ในคณะทำงานของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ขณะเดียวกันให้สัมภาษณ์กับนางสุริวิภา กลับระบุว่า เป็นนักศึกษาอยู่ในกรุงบอสตัน
2. เคยถูกควบคุมตัวที่ดอนเมือง ไม่สามารถกลับไปทันงานศพของพ่อได้ แต่ให้สัมภาษณ์กับนางสุริวิภา ได้พูดว่า อยู่ที่ดอนเมืองเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแค่ 4-5 ชม.และกลับไปร่วมงานศพของพ่อทัน
3.ในช่วงนั้นถูกระงับบัญชี 2-3 เดือน จนไม่สามารถหาเงินมาทำบุญศพพ่อได้ แต่ในรายการของนายสุริวิภา ไม่ได้พูดถึง
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะนายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตผู้แทนการค้าไทยสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีการควบคุมตัว เพียงแต่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบตามปกติ และปล่อยกลับบ้านทุกคน
เพราะฉะนั้นในการให้สัมภาษณ์ของนายพิธา ในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.เห็นว่า นายพิธา พยายามแต่งเรื่องขึ้นมาหรือไม่ เพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจ สร้างความสงสาร และใส่ร้ายไปทางฝ่ายความมั่นคง หรือทหารว่า ตนเองเป็นผู้ถูกกระทำ ทำให้เกิดคะแนนนิยมของพรรคตนเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อห้ามอย่างชัดเจนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73 (5)
ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามพรรคการเมืองหาเสียงโดยวิธีการหลอกลวง ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจในคะแนนนิยมของตนเอง หรือพรรคการเมืองที่ผิดไป ซึ่งเรืองนี้นายพิธา ได้กระทำเองและพรรคก้าวไกลได้มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทหาร โดยเฉพาะการเกณฑ์ทหาร ปฏิรูปกองทัพ
ดังนั้น คำพูดของนายพิธา ต้องการสื่อให้เห็นว่า ตนเองออกมาต่อต้านกองทัพอย่างชัด จึงหยิบยกประเด็นการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ในช่วงที่มางานศพของพ่อ ซึ่งมองว่า เป็นเรื่องที่ฝ่าฝืนพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. จึงนำเรื่องมาร้องให้กกต.ไต่สวน สอบสวน และวินิจฉัย ว่าเข้าข่ายความผิดตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ถ้ากกต.วินิจฉัยว่า เข้าข่ายความผิดจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และถูกตัดสิทธิทางการเมืองอย่างน้อย 20 ปี