“หม่อมกร”โต้”สุพัฒน์พงษ์”ปมก๊าซแพง ชี้ได้เวลารื้อพลังงานทั้งระบบ

“หม่อมกร”โต้”สุพัฒน์พงษ์”ปมก๊าซแพง ชี้ได้เวลารื้อพลังงานทั้งระบบ

“หม่อมกร” โต้ “สุพัฒนพงษ์” ปมก๊าซผลิตไฟฟ้าราคาแพง เหตุก๊าซจากอ้าวไทย ถูกกันส่วนให้ปิโตรเคมีใช้ก่อน ชี้ถึงเวลาปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “คุยกับหม่อมกร | Facebook” ว่า จากเวทีดีเบตเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ ดำเนินรายการโดย สรยุทธ สุทัศนจินดา ได้มีคำถามเรื่องปิโตรเคมีใช้ก๊าซราคาถูก แต่ก๊าซผลิตไฟฟ้าราคาแพง นายสุพัฒนพงศ์ รมว.พลังงาน ตอบว่า ก๊าซ 100 หน่วย เข้าปิโตรเคมีใช้ก๊าซเพียง 20 หน่วยเอง ปิโตรเคมีใช้ก๊าซอีเทน และก๊าซหุงต้ม ผลิตสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จนไทยเป็นรายใหญ่ของอาเซี่ยน สร้างเศรษฐกิจไทยให้เจริญเติบโต สร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าการผลิตไฟฟ้า ส่วนราคาจะถูกหรือแพงเป็นไปตามต้นทุนของการแยกก๊าซ เมื่อแยกก๊าซอีเทน และก๊าซหุงต้มออกจากก๊าซธรรรมชาติที่มี 20 หน่วย และส่งให้ปิโตรเคมีแล้ว หลังจากนั้น ก๊าซที่เหลือ 80 หน่วย จะถูกส่งเข้าระบบไปผลิตไฟฟ้า มีการปรับคุณภาพให้ดีขึ้นมีค่าใช้จ่ายในการแยกเอาคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทนเพื่อผลิตไฟฟ้าออกมามันมีต้นทุน การขายก๊าซให้ปิโตรเคมี ถ้าขายแพงก็ไม่เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ผมในฐานะวิศวกรและนักวิชาการ มีความเห็นส่วนตัวดังนี้
คำตอบของนายสุพัฒนพงษ์ ฟังดูแปลกหูอย่างมาก เพราะในกระบวนการแยกก๊าซจะทำต่อเนื่องไม่ใช่ดึงก๊าซออกมาให้ปิโตรเคมีใช้ก่อนมีต้นทุนหนึ่ง แล้วค่อยมาแยกมีเทนกับคาร์บอนไดออกไซด์ทีหลัง จะมีต้นทุนที่แพงกว่า อันนี้ ผมเห็นว่า น่าจะคลาดเคลื่อนจากความจริง 

ข้อเท็จจริงคือก๊าซธรรมชาติจะส่งมาทางท่อเข้าหอแยกก๊าซ กระบวนการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไป โดยก๊าซที่เบาที่สุดจะออกมาง่ายและออกมาก่อน คือ ก๊าซมีเทนเพื่อผลิตไฟฟ้า

ต่อมาคือ ก๊าซอีเทน และต่อมาคือก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ตามมาด้วยก๊าซหุงต้ม จะเห็นได้ว่าก๊าซที่ปิโตรเคมีต้องการนั้น ต้องใช้พลังงานมากกว่าในการแยกจึงออกมาทีหลัง

การแยกก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าจึงไม่ได้มีต้นทุนแพงพิเศษแต่อย่างใด

ส่วนที่ รมว.พลังงาน ตอบเรื่องราคาว่าที่ปิโตรเคมีซื้อก๊าซหุงต้มราคาถูก หรือแพงเป็นไปตามต้นทุนนั้น ผมยังมีข้อสงสัย

ผมขอให้ข้อมูลความรู้เพิ่มเติมว่า ตามกฎหมายปัจจุบัน ปิโตรเคมีเพียงบางกลุ่มจะได้สิทธิพิเศษในการซื้อก๊าซจากอ่าวไทยราคาต่ำกว่าตลาดโลกมาก ปี 2565 ก๊าซหุงต้มราคาต่ำจากอ่าวไทยถูกส่งไปให้ปิโตรเคมีเพียงบริษัทกลุ่มเดียว ไปใช้ก่อนประชาชนมากถึง 2.7 ล้านตัน ทำให้ก๊าซหุงต้มจากอ่าวไทยที่มี 3 ล้านตัน ไม่เพียงพอสำหรับครัวเรือนที่มีความต้องการ 2 ล้านตัน กฎหมายดังกล่าว เป็นการผลักคนไทยต้องเป็นผู้แบกรับแบกรับราคาก๊าซจากแหล่งอื่นที่ราคาสูงกว่า คือ 1) จากขบวนการกลั่นน้ำมันดิบ และ 2) นำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศ ที่มีราคาสูงสุดเพราะมีค่าโสหุ้ยในการนำเข้า ทั้งที่ ตามหลักสิทธิในทรัพยากรนั้นควรเป็นของประชาชน ไม่ใช่ปิโตรเคมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ โดยราคาต่ำเป็นพิเศษเฉพาะกลุ่มหนึ่งๆ นั้นย่อมไม่เป็นธรรมต่อคู่แข่งขัน

ซ้ำร้ายหลังการปฏิวัติไม่นาน พลเอก ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ปรับสูตรกำหนดราคาก๊าซสำหรับครัวเรือน ให้มาใช้ราคาสมมติว่า โรงกลั่นไทยและโรงแยกก๊าซไปตั้งอยู่ในประเทศซาอุฯ โดยให้บวกค่านำเข้า ค่าประกันภัย และค่าโสหุ้ยในการนำเข้าทั้งที่ไม่ค่าใช้จ่ายอยู่จริง

มีผลให้เกิดผลกำไรเพิ่มขึ้นทันทีต่อกลุ่มทุนพลังงานอย่างเป็นกอบเป็นกำโดยไม่ต้องแข่งขัน ทำให้ราคาก๊าซหุงต้มแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ ราคาก๊าซขายปลีกพุ่งสูงขึ้นทะลุ 400 บาทต่อถัง ในบางช่วงเวลาขึ้นไปเกินกว่า 500 บาทต่อถัง แต่มีการใช้กองทุนน้ำมันจำนวนหลายหมื่นล้านมาปกปิดปัญหาไว้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยล่วงรู้เลย ใช่หรือไม่?

การสร้างมูลค่าเพิ่มของก๊าซอ่าวไทย จึงมีอยู่จริง แต่ปัจจุบันยังมิได้เพื่อประโยชน์ของคนไทยใช่หรือไม่ ผมเห็นว่า ถึงเวลาปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ ก่อนที่จะสายเกินแก้
ผมและคุณธีระชัย จะแถลงข่าวเรื่องนี้ในวันอังคารที่ 2 พ.ค. 66 เวลา 14:30 น โปรดติดตามรายบะเอียดทางเฟซบุ๊ก คุณธีระชัยครับ