จะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล
สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนเป็นเพียงสิทธิขั้นต้น ที่คาดหมายว่าจะนำไปสู่สิทธิ์อื่นๆ แต่กระบวนการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนของไทยในปัจจุบันนั้นยังมีข้อบกพร่อง, ข้อจำกัดอยู่มาก
พรรคการเมืองใหญ่ คือพรรคของคนรวย คนมีอำนาจ ซึ่งใช้ทั้งเงิน ทั้งอำนาจ ระบบอุปถัมภ์ในการหาเสียง รวมทั้งใช้เงินที่พวกเขาได้มาจากภาครัฐคือเงินของประชาชนด้วย แต่พวกเขาสามารถโฆษณาให้ประชาชนเชื่อถือว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่จะช่วยประชาชนให้พ้นจากความยากจนได้
ประชาชนควรเลิกหวังพึ่งให้ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด มายื่นผลประโยชน์บางส่วนเล็กๆ น้อยๆ จากโครงการประชานิยมต่างๆ ที่แอบผูกมัดให้ประชาชนต้องอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของชนชั้นนำ
เพราะความจริงแล้วชนชั้นนำต่างเล่นละครการเมืองกัน ในการทำตัวเป็น “ผู้ให้” ประชาชน แต่ความจริงพวกเขาใช้เงินจากงบประมาณ ทรัพยากรและกำไรที่พวกเขาได้ขูดรีดไปจากประชาชนทั้งประเทศ นั่นเอง
ประชาชนไม่จำเป็นต้องต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ ชนชั้นสูงคนใดเลย คนเหล่านั้นต่างหาก ที่ควรรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณประชาชนผู้เสียภาษีและเป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศ
เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนักการเมือง และข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ที่กินเงินเดือนจากงบประมาณรัฐ (เงินจากภาษีของประชาชน)
ควรรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณประชาชน และตั้งใจทำงานให้บริการประชาชนอย่างดี มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่คดโกง เนื่องจากประชาชนได้จ่ายเงินเดือนตอบแทนให้พวกเขามากพอแล้ว
ปัญหาสำคัญคือประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ ยากจน การศึกษา การรับรู้ข่าวสารก็มีคุณภาพต่ำ ทำให้ประชาชนเสียเปรียบ ชนชั้นสูง ชนชั้นกลางที่มีความรู้ ความมั่งคั่ง อำนาจต่างๆ มากกว่า
การจะปฏิรูปการเมืองปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมใน 2 เรื่องที่สำคัญ คือ
1. ปฏิรูประบบภาษี การคลัง กระจายทรัพย์สินรายได้ให้ประชาชนทั้งประเทศมีฐานะรายได้แบบพึ่งพาตนเองได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรมมากขึ้น
2. ทำให้คนส่วนใหญ่มีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพแบบคิดวิเคราะห์อย่างเป็นตัวของตัวเองเป็น ประเทศที่มีคนชั้นกลางและคนมีการศึกษามากหน่อยระบบเลือกตั้งผู้แทน และผู้บริหารระดับต่างๆ จะมีการซื้อเสียง ขายเสียง การใช้ระบบอุปถัมภ์ นโยบายประชานิยมน้อยกว่าไทย
ประชาธิปไตย คือเรื่องที่ต้องทำให้ประชาชนได้รับการศึกษา รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ ประชาชนรู้จักใช้สิทธิเลือกตั้ง
โดยพิจารณาจากนโยบายและความรู้ ความสามารถของผู้สมัคร อย่างมีวิจารณญาณ มีสิทธิและโอกาสที่จะ เข้าไปตรวจสอบ ผลักดันการบริหาร การพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมของภาครัฐในแนวที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ได้มากพอ
คอยควบคุมดูแลให้รัฐบาล ผู้บริหาร ตัวแทนทั้งหลายต้องบริหารและทำงานสาธารณะอย่างโปร่งใส, มีประสิทธิภาพ และอย่างยั่งยืน
ประชาชนส่วนใหญ่จะมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ/กฎหมายได้จริง ประชาชนต้องมีโอกาสได้ใช้สิทธิเสรีภาพนั้นอย่างยุติธรรมด้วย
ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรม (หรือตลาดเสรี) ที่อ้างว่าทุกคนมีเสรีภาพที่จะมีทรัพย์สิน ไปลงทุนแสวงหากำไรเพื่อความร่ำรวยของเอกชนได้ทุกคนนั้น
ในโลกที่เป็นจริงในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกึ่งผูกขาด มือใครยาวสาวได้สาวเอา มีเฉพาะคนรวย คนชั้นกลางส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ใช้เสรีภาพดังกล่าว คนจนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาส ไม่มีปัญญาที่จะแข่งขันสู้คนรวยกว่าได้
การปฏิรูปทางการเมืองที่สำคัญคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เน้นการกระจายอำนาจ ทรัพยากร ความรู้ ไปสู่ประชาชนทั้งประเทศในแนวราบ
เช่น ปฏิรูปให้จังหวัด อำเภอ ตำบล มีอำนาจจัดการตนเองเพิ่มขึ้น ลดอำนาจกรทรวง เช่น มหาดไทย ศึกษาธิการ ฯลฯ
จากรัฐบาลส่วนกลางลง จัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นและสภาผู้แทนระดับต่างๆ ในแนวประชาธิปไตยทางตรง และประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงได้เพิ่มขึ้น
ปฏิรูประบบกฎหมายและระบบการเมืองการปกครอง การเพิ่มสิทธิและโอกาสให้ประชาชนยื่นถอดถอนผู้แทนที่ขาดจรรยาบรรณ ได้ง่ายกว่าในระบบปัจจุบัน
จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์, การประชามติ (ตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงตำบล หมู่บ้าน) ในเรื่องสำคัญได้บ่อยขึ้น กระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรงบประมาณสู่ท้องถิ่นและชุมชน
การฏิรูปทางการเมืองต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพ และให้บริการอย่างทั่วถึง เป็นธรรม การส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชน
เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจผู้บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ประชาชนที่มีความรู้จิตสำนึกเพื่อส่วนรวมและมีการจัดตั้งองค์กรเพิ่มขึ้น
จะช่วยป้องกันและควบคุมการรวบอำนาจการทุจริตโดยนักการเมือง นายทุน ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้น
เราควรเน้นการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง เช่น ปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ ปฏิรูปที่ดินและการเกษตร เพื่อกระจายอำนาจและทรัพยากรให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงกันเพิ่มขึ้น
ในทางการเมืองควรให้จังหวัดมีอำนาจในการจัดการตนเองเพิ่มขึ้น มีการเลือกผู้ว่า สภา คณะกรรมการชุดต่างๆ ในทางเศรษฐกิจสังคมควรส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภค สหภาพแรงงาน สมาคมอาชีพต่างๆ ด้วย ฯลฯ
ประชาชนควรต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย ไม่ใช่แค่สิทธิทางการเมือง นักการเลือกตั้งเท่านั้น
เรื่องที่สำคัญ เช่น สิทธิเสรีภาพการได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน ทุน และหรือมีงานที่เหมาะสมทำ สิทธิเสรีภาพในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเป็นธรรม
สิทธิในเรื่องป่า ที่ดิน แหล่งน้ำ และการใช้ทรัพยากรร่วมกันของชุมชน สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม สิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง สิทธิผู้บริโภค ฯลฯ
การปฏิรูปในแนวที่กล่าวมา นอกจะเกิดทั้งผลดีต่อเศรษฐกิจการเมืองของประชาชนและของประเทศแล้ว ยังนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจ การร่วมมือกัน และสามัคคี (หรือปรองดอง) ในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่
เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนไทยส่วนใหญ่สามารถร่วมมือกันทำงานพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันและร่วมมือกันพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เพื่อส่วนรวม) เพิ่มขึ้น
และช่วยการตรวจสอบดูแลให้บริหารประเทศดำเนินไปโปร่งใส มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม เป็นธรรม และยั่งยืนในระยะยาวเพิ่มขึ้นได้อย่างแท้จริง.