ดร.สามารถ" จับมือ "ประพฤติ" ลุยแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มหน้ารามฯ
! "ดร.สามารถ" จับมือ "ประพฤติ" ลุยแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มหน้าม.รามคำแหง ลั่นประชาธิปัตย์พร้อมผลักดันเปิดใช้บริการเร็วที่สุด
7 พ.ค. 2566 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน นายประเสริฐ ทองนุ่น และ ดร.รุจชรินทร์ ทองใหญ่ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร่วมกับ ประพฤติ ฉัตรประภาชัย ผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 1 เขต 14 ซึ่งประกอบด้วยเขตบางกะปิ และเขตวังทองหลาง (เฉพาะแขวงคลองเจ้าคุณสิงห์) ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนแนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริเวณสถานีรามคำแหง เมื่อวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 17.00 น.
ดร.สามารถ กล่าวว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ใกล้เสร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดใช้ได้ เพราะไม่มีผู้เดินรถไฟฟ้า เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังไม่สามารถหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันออกและช่วงตะวันตกได้ เพราะยังมีการฟ้องร้องขอความเป็นธรรมจากการประมูล รฟม. จึงไม่สามารถเซ็นสัญญากับเอกชนที่ รฟม. คัดเลือกไว้ได้
ดร.สามารถ ยังกล่าวอีกว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร มีเส้นทางผ่านพื้นที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ศูนย์วัฒนธรรมฯ วัดพระราม 9 มหาวิทยาลัยรามคำแหง แยกลำสาลี หมู่บ้านสัมมากร และเคหะรามคำแหง เป็นต้น หากเปิดให้บริการคาดว่าจะมีผู้โดยสารจำนวนมาก เพราะเป็นเส้นทางที่มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ กับสายสีเหลืองที่สถานีแยกลำสาลี และกับสายสีชมพูที่สถานีมีนบุรี ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารประหยัดเวลา ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดมลพิษ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 แต่น่าเสียดายที่การประมูลมีปัญหา มิฉะนั้น พี่น้องประชาชนสองฝั่งรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกจะได้ใช้รถไฟฟ้าในอีกไม่นาน
ดร.สามารถ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ที่ผ่านมามีพี่น้องประชาชนจำนวนมากสอบถามผมมาว่าเมื่อไหร่จะได้ใช้รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกเสียที ? พรรคประชาธิปัตย์เล็งเห็นบทบาทความสำคัญของรถไฟฟ้าสายสีส้มในการขนผู้โดยสารระหว่างฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เราพร้อมที่จะผลักดันให้มีการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกโดยเร็ว และที่สำคัญ จะพยายามหาทางไม่ให้รัฐต้องเสียเงินค่าก่อสร้างแพงเกินความจำเป็นตามที่มีข่าวว่ารัฐอาจจะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้านบาท"