เลือกตั้ง 2566 ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยแน่หรือ | สิชล ยืนยัง
การเลือกตั้งปีนี้มีบรรยากาศต่างจากเมื่อ 4 ปีก่อน ทั้งในแง่ความกดดันว่าหากมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจแล้วเกรงจะมีการเดินขบวนตบเท้า หรือกลที่ซ่อนอยู่กับการจัดการเลือกตั้ง อย่างเช่น กติกาประหลาดของความสัมพันธ์ระหว่างบัตรใบเดียวกับส.ส.พึงมี ก็ไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว
แม้ว่าสิทธิ์ของ ส.ว.ยังมีอยู่ แต่การที่ ส.ว.เองก็ไม่ได้เห็นเป็นเอกฉันท์ว่าจะหนุนฝ่ายใดในซีกรัฐบาลเก่า อีกทั้ง ฝ่ายรัฐบาลเก่าเองก็แยกเหล่าแตกกอแข่งขันท้าทายอำนาจกันเองในวิถีทางการเมืองแบบปกติ
สิ่งเหล่านี้ทำให้การหาเสียงทางการเมือง เพื่อการเลือกตั้งมีสีสันบนความสนุกและปลอดภัย บรรยากาศแบบนี้เอื้อต่อฝ่ายประชาธิปไตยที่ไม่มีอะไรอยู่ในมือ นอกจากเสียงของมวลชนจริงหรือ
หากจะพูดว่ากลุ่มหนึ่งเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย แล้วกลุ่มที่ไม่จัดว่าเป็นกลุ่มนี้ควรจะถูกเรียกว่าเป็นฝ่ายไหน เพราะเขาก็มีฝ่ายเหมือนกัน ตั้งแต่ฝ่ายที่พร้อมจะจับมือกับทุกค่ายอย่างเช่นพรรคภูมิใจไทย ไปจนถึงฝ่ายที่ร่วมหัวจมท้ายกับรัฐบาลเก่า บางทีก็เลยไปตั้งแต่ยุคก่อนเลือกตั้งปี 62 หรือถึงยุคมวลมหาประชาชนเลยด้วยซ้ำ
พรรคเหล่านี้ก็อ้างว่านิยมในระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน จะไปเรียกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ไม่เชิง เพราะอีกฝ่ายก็ไม่ใช่เอาแต่เสรีนิยม หากจะนิยามที่ใกล้เคียงที่สุดคือฝ่ายพรรคเฉดเหลือง-น้ำเงิน ขณะที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยเป็นเฉดแดง-ส้ม
แม้ว่าพรรคหลัก ๆ ฝ่ายเฉดเหลือง-น้ำเงิน จะพยายามยกวาทะและตัวเลขมาประโคมโหมว่า 9 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสุขสงบ เงินทุนสำรองล้นเหลือ นานาชาติยังมีไมตรี จัดการปัญหาพิเศษอย่างเช่นโควิดได้ดี และมีการเติมเงินเข้ากระเป๋าตรงของคนมีรายได้น้อย แต่ดูเหมือนสังคมจะไม่ค่อยซื้อแนวคิดเหล่านี้
เพราะเห็นกันอยู่ว่าคนที่ไม่ใช่เศรษฐีลำบากขนาดไหน เมื่อเทียบกับสมัยก่อน ๆ ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องไกลตัว เช่น ข่าวคาวทุจริตที่มีเยอะมาก แค่ชาวบ้านคลำเงินในกะเป๋าแล้วไม่เจอและมองหาโอกาสต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยเห็น ขณะที่เจ้าสัวรายเอารวยเอา พวกเขาก็น่าจะอยากเลือกนักการเมืองจากเฉดแดง-ส้มมากกว่า ดูจากโพลล์ก็ได้
ฝ่ายเฉดแดง-ส้มนั้นยังแข็งแกร่ง เพราะฐานมวลชนกว้างใหญ่กว่า พรรคที่สืบมรดกตรงมาจากพรรคไทยรักไทยนั้นครองเสียงข้างมากของประชาชนมาตลอดร่วม 20 ปี ส่วนหนึ่งก็เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีโครงการ 30 บาทอยู่และคนรุ่นเก่ายังจำถึงช่วงที่เศรษฐกิจดีมากเมื่อปี 2545-48 ได้
นโยบายประชานิยมใครก็อ้างว่าจะทำได้ แต่ความน่าเชื่อถือนั้นต้องอยู่ที่คนพูดว่าเป็นใครด้วย พรรคเพื่อไทยจึงมาเป็นอันดับ 1 อย่างแน่นอน
ต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่สามารถฉีกตัวออกจากหลักการของพรรคที่คล้ายคลึงกับพรรค 3 ป.ได้ จึงต้องเสียมวลชนเฉดเหลือง-น้ำเงินไปให้พรรค 3 ป.ที่มีโอกาสชนะทางยุทธศาสตร์มากกว่า พรรคก้าวไกลไม่ยอมให้ตนเองเป็นเพียงหนึ่งในพรรคน้องสายประชาธิปไตยเหมือนพรรคอื่น ที่จำนนให้กับความเป็นพี่ใหญ่สายเฉดแดง-ส้ม พวกเขายึดครองเสียงคนรุ่นใหม่มาตั้งแต่ตอนที่ยังอยู่ในนามพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งในปี 2562
คราวนั้นพวกเขายังเป็นพันธมิตรไม่ทับเส้นกับพรรคเพื่อไทย แต่เน้นการเปลี่ยนแปลงสังคมในแบบที่พรรคใหญ่พรรคอื่นไม่กล้าพอ สิ่งนี้มีส่วนที่ทำให้นโยบายของพรรคก้าวไกลต่างออกจากพรรคเพื่อไทยมากขึ้นทุกที จนนำมาสู่การ “ดูเหมือน”จะแตกคอกันถึงขั้นไม่เผาผีของติ่งจำนวนหนึ่งของทั้งสองพรรค
ยังมีพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอื่นที่รู้ตัวว่าในสายธารด้านนี้เชี่ยวกรากเป็นรองพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล พวกเขาอาจกล้าเหน็บพรรคใหญ่เพื่อดักคะแนนเสียงบ้าง แต่ไม่เคยคิดเป็นปฏิปักษ์อย่างแท้จริง ทั้งยังแอบคิดด้วยว่า ไม่ว่าสูตรไหน หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลโดยไม่แลนด์สไลด์ พรรคอย่างเช่น เสรีรวมไทย หรือแม้แต่ไทยสร้างไทย ก็คงได้เข้าร่วมรัฐบาล
และในความเป็นจริงแล้วพรรคก้าวไกลก็ต้องจับกับพรรคเพื่อไทยเช่นกัน ไม่ว่าจะถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้านเหมือนกัน หรือเป็นฝ่ายรัฐบาล เพราะจำนวนที่นั่งของพรรคก้าวไกลในปี 66 ที่จะมากกว่าปี 62 เป็นตัวกำหนดสมการดังกล่าว แต่นี่จะเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่
หากพูดถึงการได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมเฉดแดง-ส้ม นั้นยังขอออกตัวว่าอาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็เป็นได้ เพราะตัวแปรอื่นยังมีอยู่ แม้จะไม่หนักอึ้งเช่นปี 62 แต่ก็ยังมี
ดังนั้นชัยชนะในระยะสั้นนี้จึงอาจถูกอุบัติเหตุฉกฉวยไปก็เป็นไปได้ แต่หากมองถึงระยะยาวแล้วก็จะพบว่า แนวคิดประชาธิปไตยแบบสากลได้ปักรากฐานลึกลงไปในหมู่ประชาชนทุกที เยาวชนรุ่นใหม่ก้าวพ้นมายาคติแบบเดิมมีจำนวนมากขึ้น บางคนอาจสงสัยว่าอะไรปลูกฝังความคิดของพวกเขา
คำตอบก็คือประสบการณ์ตรงที่พวกเขาเจอในรอบ 9 ปีมานี้ยังไงเล่า ถึงหากว่าวันนี้อาจไม่ชนะ แต่ชัยชนะของวันหน้านั้นอยู่ไม่ไกล อนาคตของชาติก็ยังมีหวังเรืองรองตามไปด้วย.