รู้เท่าทันผลโพล (Poll) สำคัญไฉน? | วรรณี งามขจรกุลกิจ
โพล เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ปรากฏขึ้นคู่กับการแข่งขันทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาของการเลือกตั้งในประเทศต่างๆทั่วโลก ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่มีผลโพลนำเสนอบนสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์จากหลายสำนักจำนวนมาก
กรณีประเทศไทยก็เช่นกัน เมื่อใดที่มีการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สำนักโพลและสื่อมวลชนต่างๆ มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลโพลว่าพรรคการเมืองใด ผู้สมัครคนใดได้รับความนิยมจากผลโพลเป็นอันดับที่ 1
ผลโพลและตัวเลขที่ปรากฏออกสื่อนั้นมิได้มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน จึงสร้างความสับสนและไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์ที่นำเสนอเหล่านั้นเชื่อถือได้และมีความเที่ยงตรงเพียงใด สามารถเชื่อมั่นในผลโพลของสำนักใดได้บ้าง และผู้รับสารที่เป็นประชาชนจะรู้ได้อย่างไรที่จะรู้เท่าทันผลโพลที่ปรากฏบนสื่อทั้งหลาย
โพล คือ หนึ่งในแบบวิจัยที่เรียกว่าการสำรวจ เป็นชุดคำถามที่ออกแบบสร้างขึ้น เพื่อสอบถามกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็น ทัศนคติ หรือพฤติกรรม
การสำรวจความคิดเห็นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งแบบออนไลน์ ทางโทรศัพท์ หรือ ลงภาคสนามด้วยตนเอง และสามารถครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ ได้หลากหลาย ตั้งแต่ประเด็นทางการเมืองจนถึงความต้องการของผู้บริโภคในด้านธุรกิจการตลาด
อย่างไรก็ตาม โพลที่ปรากฏพบเห็นบนสื่อส่วนใหญ่เป็นโพลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง ด้วยเป็นเครื่องมือสำคัญในการเลือกตั้ง ช่วยวัดความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ และผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ในการหาเสียงทางการเมืองมักใช้โพลสำรวจความคิดเห็น เพื่อช่วยระบุประเด็นสำคัญที่มีความสำคัญต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อวัดความนิยมของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเพื่อติดตามประสิทธิภาพของกลยุทธ์การหาเสียง
นอกจากนี้ โพลยังมีความสำคัญในการทำนายผลการ เลือกตั้งอีกด้วย การติดตามการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของประชาชนเมื่อเวลาผ่านไปยังสามารถประเมินระดับการสนับสนุน สำหรับผู้สมัครแต่ละคนและคาดการณ์ว่าผู้สมัครคนใดมีแนวโน้มที่จะชนะการเลือกตั้ง
ข้อมูลผลโพลเหล่านี้สามารถใช้กับแคมเปญทางการเมือง เพื่อปรับกลยุทธ์และกำหนดเป้าหมายกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงหลักได้อีกด้วย
เมื่อโพลเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญดังที่กล่าวมา จึงไม่แปลกใจว่าข้อมูลผลโพลของสำนักต่างๆ ที่จัดทำโพลจึงถูกนำเสนอสู่ประชาชนผู้รับสารมากมายบนสื่อ
คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วจะมีวิธีการหรือหลักคิดอะไรที่ช่วยให้ประชาชนเมื่อรับข่าวสารโพลทั้งหลายรู้เท่าทันว่าผลโพลที่รับรู้มานั้นเชื่อถือได้ เที่ยงตรง และเป็นกลาง
ในกระบวนการวิจัยตามหลักของระเบียบวิธีวิจัยสามารถสังเกตได้ดังนี้
- มองหาคำถามนำ เป็นคำถามที่ใช้ถ้อยคำในลักษณะที่กระตุ้นให้เกิดคำตอบเฉพาะ เช่น คำถามที่ถามว่า "คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่าการเก็บภาษีสูงเกินไป" ซึ่งการใช้คำว่า ภาษีสูงเกินไป เป็นการถามนำที่สนับสนุนให้ตอบว่า "ใช่" หรือคำถาม "คุณคิดว่าไม่ยุติธรรมหรือไม่ที่คนบางคนจ่ายภาษีสูงกว่าคนอื่น ๆ"
- ตรวจสอบแหล่งที่มาของโพล แหล่งที่มาสามารถมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ โพลดำเนินการโดยองค์กร สถาบันใด มี ประวัติ ผลงานที่น่าเชื่อถืออย่างไร มีอคติหรือวาระซ่อนเร้นหรือไม่ อย่างไร
- ประเมินขนาดตัวอย่าง จำนวนผู้เข้าร่วมในการตอบโพล โดยทั่วไปขนาดตัวอย่างที่ใหญ่กว่าจะให้ผลลัพธ์ที่น่า เชื่อถือมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดน้อยเกินไป
- มองหาความลำเอียง ในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งความลำเอียงในการคัดเลือกอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อกลุ่มตัวอย่าง ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชากรที่กำลังศึกษา
เช่น สำรวจเฉพาะผู้เข้าร่วมจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ หรือ พรรคการเมือง จึงไม่เป็นตัวแทนของประชากรกลุ่มใหญ่ รวมทั้งเทคนิคการสุ่มตัวอย่างเพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นตัวแทนของประชากรที่กำลังสำรวจโพล
- พิจารณาการตีความผลลัพธ์ ในการตีความผลโพลที่เก็บมาจากกลุ่มตัวอย่างอาจมีอคติได้เช่นกัน การนำเสนอ ข้อมูลอย่างเป็นกลางหรือไม่ มีการใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือสรุปผลโดยไม่มีข้อมูลสนับสนุน
จากหลักการพิจารณาดังกล่าว อาจเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ผู้รับข่าวสารโพล เข้าใจและรู้เท่าทันโพลของทุกสำนักโพลมากขึ้น นอกจากนั้นสิ่งสำคัญที่ควรตระหนักเกี่ยวกับผลโพล คือ การทำโพลสำรวจความคิดเห็นนั้นไม่ได้แม่นยำเสมอไป และอาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ
แม้ว่านักทำโพลจะใช้หลักวิชาการวิจัยและวิธีทางสถิติ เพื่อประเมินระดับความไม่แน่นอนในผลลัพธ์ของตนแล้วก็ตาม เนื่องจากการทำโพลสำรวจความคิดเห็นเป็นเพียงภาพรวมของความคิดเห็นสาธารณะ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งคาดเดาได้ยาก อาจเปลี่ยนใจหรือได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก
ความคิดเห็นของประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเวลาที่เกิดเหตุการณ์หรือข่าวบางอย่างขึ้นก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือคนที่ไม่ตอบโพลมีความต้องการในการลงคะแนนเสียงที่แตกต่างจากผู้ตอบโพลซึ่งนำไปสู่การคาดการณ์ที่คลาดเคลื่อนเมื่อผลการเลือกตั้งสิ้นสุดลง
ดังเช่นตัวอย่างผลโพลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 เมื่อปี 2559 ระหว่างนางฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) กับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) สำนักโพลและนักวิเคราะห์ทำนายไว้ว่าชัยชนะน่าจะเป็นของนางฮิลลารี แต่ผลลัพธ์กลับเป็นไปอย่างตรงกันข้าม
อย่างไรก็ตาม เมื่อผลของการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประกาศออกมา ไม่ว่าจะเป็นจริงตามผลโพลที่เผยแพร่หรือไม่เป็นจริงตามการแถลงข่าวผลโพลที่สำรวจไว้ของแต่ละสำนักโพล ผู้รับสารที่เป็นประชาชนจะเข้าใจและรับรู้ถึงปัจจัยที่ทำให้ผลโพลเหล่านั้นมีความเชื่อถือได้ เที่ยงตรง และเป็นกลางของแต่ละสำนักโพลไม่มากก็น้อย