รู้จัก “พรรคเป็นธรรม” มี 1 ส.ส. ทำไม “ก้าวไกล” ชวนร่วมตั้งรัฐบาล
ทำความรู้จัก “พรรคเป็นธรรม” มี “ปิติพงศ์” อดีต ส.ส.3 สมัย มือไม้ทำงานยุค “ทักษิณ-สมชาย-ยิ่งลักษณ์” เพื่อนคู่คิด “เสธ.แมว ภราดร” ก่อนดัน “นวล กัณวีร์” อดีตหัวหน้าสำนักงาน UNHCR ได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 เดียวเข้าสภาฯ
เรียกได้ว่าหักปากกาเซียนการเมืองเกือบทุกสำนัก สำหรับ “พรรคก้าวไกล” ที่เข้าวิน ได้จำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้ง 2566 มากที่สุด ตามรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านระบบ ECT Report
พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต 112 คน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 39 คน รวมจำนวน ส.ส. 151 คน
เมื่อ 12.00 น.วันที่ 15 พ.ค. 2566 “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯของพรรค แถลงข่าวก่อนเข้าร่วมประชุมกรรมการบริหาร พรรคก้าวไกล ประกาศรวม 309 เสียงจาก 6 พรรคการเมือง ได้แก่ ขั้วฝ่ายค้านเดิม 4 พรรค และมีพรรคการเมืองใหม่อีก 2 พรรค คือ
- พรรคก้าวไกล
- พรรคเพื่อไทย
- พรรคประชาชาติ
- พรรคเสรีรวมไทย
- พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.)
- พรรคเป็นธรรม
“พรรคเป็นธรรม” เป็นใคร มาจากไหน
ในบรรดารายชื่อพรรคการเมืองที่ดูคุ้นหน้าคุ้นตาข้างต้น หลายคนคงสะดุดที่ชื่อ “พรรคเป็นธรรม” ว่าเป็นใคร มาจากไหน
“กำลังติดต่อไปยังพรรคเป็นธรรม ที่เราเห็นความตั้งใจทำงานเรื่องความสันติภาพใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้” พิธา ระบุถึงเหตุผลในการเชิญชวนพรรคน้องใหม่ดังกล่าว
ล่าสุด “ปิติพงศ์ เต็มเจริญ” หัวหน้าพรรคเป็นธรรม ทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า “ขอบคุณคุณพิธา ที่แสดงเจตจำนงเชิญ #พรรคเป็นธรรม ร่วมรัฐบาล พรรคเป็นธรรม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลแห่งความหวังกับพรรคก้าวไกล และยกมือสนับสนุนคุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป สร้างประเทศไทยที่เราฝันถึงร่วมกันไปด้วยกันครับ”
ทำไมหวยถึงมาออกที่พรรคเป็นธรรม กรุงเทพธุรกิจ สรุปให้ทราบ ดังนี้
การเลือกตั้งปี 2566 พรรคเป็นธรรม ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งรวม 20 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 11 คน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 9 คน ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งในส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 9,559 คน คิดเป็น 0.02% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 39.1 ล้านคน และได้เสียง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 181,226 คิดเป็น 0.46% พา ส.ส.เข้าสภาฯได้สำเร็จ 1 คน
สำหรับบุคคลที่จะได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯคือ “กัณวีร์ สืบแสง” รองหัวหน้าพรรค และประธานยุทธศาสตร์พรรค ในฐานะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1
พรรคเป็นธรรม ปัจจุบันมีหัวหน้าพรรคชื่อ “ปิติพงศ์ เต็มเจริญ” ในอดีตเคยเป็นโฆษกพรรคเสรีรวมไทย ก่อนลาออกมาตั้งพรรคของตัวเอง
ดีกรีของ “ปิติพงศ์” มิใช่ธรรมดาไก่กาการเมือง แต่เคยนั่งเก้าอี้ ส.ส.มาแล้วถึง 3 สมัย เคยสังกัดทั้งพรรคประชากรไทย พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน ระหว่างปี 2538-2549 เคยเป็นเลขานุการ รมว.ยุติธรรม (ชัยเกษม นิติศิริ) และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยเป็นเลขานุการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ชูศักดิ์ ศิรินิล) สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เคยเป็นเลขานุการ รมว.ต่างประเทศ (นพดล ปัทมะ) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ กมธ.ติดตามป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และ กมธ.การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
สำหรับที่มาที่ไปของ “พรรคเป็นธรรม” มาจากความขัดแย้งถึงขั้นแตกหักระหว่าง “ปิติพงศ์” และ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย จนสุดท้าย “ปิติพงศ์” ประกาศลาออกจากพรรค มาเซ้งพรรคใหม่อย่าง “พรรคกลาง” พร้อมกับรีแบรนดิ้งเป็นพรรคด้านสิทธิมนุษยชน เปลี่ยนชื่อใหม่ “พรรคเป็นธรรม”
“ปิติพงศ์” มิได้มาลงเล่นการเมืองแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ แต่ยังมีเพื่อนคู่คิดอย่าง “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” หรือ "เสธ.แมว" อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาเป็น “ที่ปรึกษาส่วนตัว” เคยหารืองานด้านการเมือง โดยหมายมั่นปั้น “พรรคเป็นธรรม” ให้คล้ายคลึงกับ “กลุ่มแคร์” ของ “เพื่อไทย”
ความสัมพันธ์ของ “ปิติพงศ์” กับ “พล.ท.ภราดร” ไม่ใช่แค่ที่ปรึกษาหารือกันเท่านั้น แต่ “ปิติพงศ์” เคารพนับถือ “ปรีดา พัฒนถาบุตร” อาของ “เสธ.แมว” ที่เคยประกาศว่าเป็น “ครูการเมือง” ของทักษิณ ชินวัตร
อย่างไรก็ดี “ปิติพงศ์” มิได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเป็นธรรมแต่อย่างใด ขณะที่ “เสธ.แมว” ก็มิได้มาล่มหัวจมท้ายเป็นสมาชิกพรรคนี้แต่อย่างใด โดยเจ้าตัวได้กลับไปทำงานกับพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง
ทว่ากลับชูโรง “กัณวีร์ สืบแสง” หรือ “นวล” อดีตประธานมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ ก่อนหน้านี้เคยนั่งเก้าอี้หัวหน้าสำนักงานภาคสนาม สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย แห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ใน 8 ประเทศ เช่น ประเทศไทย (แม่ฮ่องสอน) เมียนมา บังคลาเทศ ซูดาน ซูดานใต้ และ ฟิลิปปินส์
“นวล กัณวีร์” มีประสบการณ์ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และพื้นที่สงคราม การช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัย รวมถึงมีชั่วโมงบินสูงในการทำงานด้าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีทัศนคติแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่คล้ายคลึงกับพรรคก้าวไกล
นโยบายพรรคเป็นธรรม หลักๆ เช่น
- ยุบการปกครองส่วนภูมิภาค เห็นด้วยกับการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง
- พัฒนาเศรษฐกิจชายแดน
- สร้างสันติภาพในปาตานี
- ยกเลิกกฎหมายพิเศษทุกฉบับที่ใช้ในปาตานี
- แก้ไขกฎหมายความมั่นคง
- ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
- ปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม
- ปฎิรูปกองทัพ
- ถอนทหารออกจากพื้นที่ปาตานี
- ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
- ยุบ ศอ.บต.และ กอ.รมน.
- สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นต้น
ทั้งหมดคือที่มาที่ไปของ “พรรคเป็นธรรม” เท่าที่สืบค้นได้ในขณะนี้ ส่วนจะมีฝีไม้ลายมืออย่างไร ต้องติดตามผลงานในสภาฯกันต่อไป