"ผบ.เหล่าทัพ" งดโหวตเลือก "นายกฯ" ย้ำ วางตัวเป็นกลางทางการเมือง

"ผบ.เหล่าทัพ" งดโหวตเลือก "นายกฯ" ย้ำ วางตัวเป็นกลางทางการเมือง

"ผบ.เหล่าทัพ" งดโหวตเลือก "นายกฯ" ไม่ว่า แคนดิเดตมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม ย้ำจุดยืน วางตัวเป็นกลางทางการเมือง

เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2566 มีรายงานข่าวการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.โดยตำแหน่ง ของผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยมี พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และพล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) 


แม้ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมือง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการโหวตเลือกนายกฯ เพราะต้องผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน ทั้งเปิดสภา เลือกประธานสภา แต่ ผบ.เหล่าทัพ มีจุดยืนในเรื่องการทำหน้าที่ ส.ว. มาตั้งแต่ประกาศไม่รับเงินเดือนมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะงดออกเสียงในประเด็นทางการเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาการวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง ในฐานะที่กองทัพเป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์เดียวกันของ ผบ.เหล่าทัพ และยึดปฏิบัติถือเป็นแนวทางเดียวกัน 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ก่อนหน้านี้ ผบ.เหล่าทัพ ก็งดออกเสียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2565 รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง สำหรับการโหวตเลือก นายกฯ ครั้งนี้ ไม่ว่าจะชื่อเคนดิแดตนายกฯ จะเป็นของพรรคการเมืองใดก็ตาม ผบ.เหล่าทัพ ก็งดออกเสียง 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์