‘Bamboo Diplomacy’ นโยบายต่างประเทศที่ ‘พิธา’ ประกาศ ‘ไม่ขอเดินตาม’
รู้จัก “Bamboo Diplomacy” นโยบายทางการทูตแบบไผ่ลู่ลม การดำเนินนโยบายทางการทูตให้สอดคล้องกับประเทศมหาอำนาจ ในขณะที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ชี้ หากก้าวไกลเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล จะไม่ขอ “ลู่ลม” ต้องมองทุกองค์ประกอบให้รอบด้าน
Key Points:
- “Bamboo Diplomacy” การทูตแบบไผ่ลู่ลม คือการดำเนินนโยบายทางการทูตให้สอดคล้องไปกับประเทศมหาอำนาจในขณะนั้น ประเทศที่เลือกใช้มักเป็นประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ได้มีอำนาจต่อรองมาก
- ไทยดำเนินนโยบายแบบ “ไผ่ลู่ลม” มาตลอด โดยมีนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบัน การดำเนินนโยบายในลักษณะนี้ไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว แรงลมไม่ได้มีด้านเดียว และระเบียบโลกไม่ได้ปิดกั้นประเทศขนาดเล็กเหมือนในอดีตอีกต่อไป
- “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าที่นายกฯ คนต่อไป เลือกที่จะไม่ดำเนินนโยบาย “Bamboo Diplomacy” แต่ต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า ไทยมีจุดยืนอย่างไร และไทยสามารถทำอะไรบนเวทีโลกได้บ้าง
ผลคะแนนการเลือกตั้ง 2566 อย่างไม่เป็นทางการทราบกันทั่วไปแล้วว่า “พรรคก้าวไกล” ได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 1 ส่งผลให้แคนดิเดตนายกฯ เพียงหนึ่งเดียวอย่าง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ขึ้นแท่น ว่าที่ “นายกรัฐมนตรีคนต่อไป”
เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเป็นการเก็บตกบรรยากาศการสัมภาษณ์ “พิธา” ที่หน้าคูหาเลือกตั้ง เมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสื่อมวลชนในเช้าวันเปิดหีบ ที่จะต้องไปรอทำข่าวสัมภาษณ์แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคต่างๆ
นอกจากท่าทีและความรู้สึกหลังหย่อนบัตรแล้ว “พิธา” ยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “นโยบายต่างประเทศ” ที่น่าสนใจด้วยว่า หากพรรคก้าวไกลได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล เขาจะไม่ใช้ “Bamboo Diplomacy” หรือนโยบายไผ่ลู่ลมอีกต่อไป
นโยบายไผ่ลู่ลมคืออะไร? มีความสำคัญอย่างไรกับประเทศบ้าง และหากไม่ใช้ “Bamboo Diplomacy” จะส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบอย่างไร
- ลมพัดไปทางไหน ประเทศก็ไปทางนั้น: การทูตแบบไผ่ลู่ลมของไทย
การทูตแบบไผ่ลู่ลมหรือ “Bamboo Diplomacy” เป็นการเปรียบเปรยทางการทูตว่า เมื่อลมพัดไปทางไหนใบไผ่ก็พร้อมที่จะลู่ตามกระแสลมไปทางนั้น เป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) รวมถึงลักษณะการดำเนินนโยบายทางการทูตให้สอดคล้องกับประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทในขณะนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์และความอยู่รอดของตนเอง ทำให้บางครั้ง การทูตไผ่ลู่ลมถูกเรียกว่า “การทูตแบบยืดหยุ่น” (Flexible Diplomacy)
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักรัฐศาสตร์และอดีตนักการทูตชาวไทย เคยอภิปรายและแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของไทยไว้ว่า ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมจนมาถึงปัจจุบัน ไทยดำเนินนโยบายทางการทูตไผ่ลู่ลมมาโดยตลอด เป็นการทูตแบบนิ่งเงียบ เน้นให้ความสำคัญกับนโยบายทางเศรษฐกิจมากกว่าความมั่นคง ในช่วงเวลาที่มีการกำหนดระเบียบโลกใหม่ มีอิทธิพลจากประเทศมหาอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ไทยในฐานะประเทศขนาดกลางที่มีความสามารถบางอย่าง และยังไม่มีศักยภาพมากพอในบางเรื่อง จึงมักจะใช้วิธีทางการทูตแบบไผ่ลู่ลม เพื่อลดแรงเสียดทานกับชาติมหาอำนาจ
ในช่วงที่การทหารเรืออังกฤษรุ่งเรืองจนสามารถล่าอาณานิคมได้เกือบครึ่งโลก และฝรั่งเศสเริ่มผงาดขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจ ไทยก็ยังรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมในครั้งนั้น แม้จะมีข้อถกเถียงตามมาภายหลังว่า การที่ไทยไม่ตกเป็นประเทศภายใต้อาณานิคม เป็นเพราะจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางภูมิภาค หรือที่เรียกว่า “รัฐกันชน” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายลู่ลมแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยเอาตัวรอดจากข้อขัดแย้งมาได้หลายครั้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หากใครยังจำกันได้ “ไทย” เกือบตกอยู่ในสถานการณ์เอาตัวไม่รอดและต้องเป็นฝ่ายพ่ายในสงคราม เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเข้ามารุกรานในไทย ประเทศเราก็ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นทันที แต่ท้ายที่สุด เมื่อญี่ปุ่นส่อแววแพ้ในสงครามโลก ไทยก็ได้อาศัยจุดยืนของกลุ่ม “เสรีไทย” ในการอ้างอิงแทน จุดยืนของไทยบนเวทีโลกจึงเป็นแบบ “ไผ่ลู่ลม” มาโดยตลอด
ในขณะที่หลายประเทศพยายามเน้นย้ำและให้ความสำคัญนโยบายการต่างประเทศ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้รัฐเข้มแข็งมากขึ้น แต่ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ไทยก็ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนด้านนโยบายต่างประเทศ เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากปัญหาการเมืองภายใน และการให้ความสนใจไปที่ความสัมพันธ์ด้านธุรกิจมากกว่า เพราะในช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยเข้มแข็ง มีอำนาจในการปรับปรุงนโยบาย รัฐก็ไม่ได้มีท่าทีให้ความสนใจนโยบายต่างประเทศมากขนาดนั้น
- “ไผ่ลู่ลม” ดีกับไทยไหม ส่งผลอย่างไรกับประเทศเราบ้าง
แม้ในด้านหนึ่ง การเป็นต้นไม้ที่ลู่ไปตามลมจะสอดคล้องกับขนาดประเทศ และกำลังทางการทหาร แต่ปัจจุบันสถานการณ์โลกเปลี่ยนไปมาก การประเมินแรงลมมีความยากมากขึ้น
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์มองว่า เป้าหมายของแต่ละประเทศตอนนี้ไม่ได้มีเพียงความพยายามในการรักษาอำนาจอธิปไตยไว้อย่างเดียวเหมือนในอดีต แต่ยังมีเรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การยอมรับจากนานาชาติ ความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้าน ฯลฯ ทำให้การตัดสินใจว่าจะลู่ตามใครเป็นไปได้ยาก ท่ามกลางกระแสลมที่พัดสวนทางกันเช่นนี้ ไทยจะสามารถกะแรงลมใกล้-ไกลได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา การต้องยืนอยู่ท่ามกลางสองขั้วมหาอำนาจของโลกอย่างจีนและสหรัฐฯ นั้น แม้มีแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดเจนว่า ไทยเลือกที่จะลู่ไปตามจีนมากกว่า ทว่า ภายหลังการขึ้นรับตำแหน่งของประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) รวมถึงการเยือนไต้หวันของ แนนซี โพเลซี (Nancy Polacy) และการมาเยือนไทยของผู้นำกองทัพสหรัฐฯ ที่ผ่านมา กลับสะท้อนว่า ไทยกำลังพยายามประคับประคองจุดยืนของตนเองให้ลู่ไปตามลม-สงวนท่าทีบางจุด
หากถามว่า ท่าทีแบบนี้ส่งผลดีกับไทยหรือไม่ นักประวัติศาสตร์หลายคนได้ชี้ให้เห็นตรงกันว่า ความกลัวที่ไทยมองว่า ตนเป็นประเทศขนาดเล็กและต้องลู่ไปตามกระแสลมของแต่ละฝั่งอย่างระแวดระวังไม่ได้มีความสำคัญจำเป็นอีกต่อไป ระเบียบโลกแบบใหม่ที่ทุกรัฐมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ได้จำกัดเฉพาะรัฐตะวันตก แต่ยังมีกลไกโลกมากมายที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับระเบียบนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ ศาลโลก ศาลอาญาระหว่างประเทศ สนธิสัญญา ฯลฯ
แม้ในความเป็นจริงแล้ว การเอารัดเอาเปรียบประเทศขนาดเล็กยังสามารถทำได้ แต่ประเทศเหล่านั้นก็มี “ราคาที่ต้องจ่าย” ประเทศขนาดเล็กสามารถดิ้นไปได้หลายกระบวนท่า เมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันจากมหาอำนาจอย่างไม่เป็นธรรม การลู่เอนไหวไปตามกระแสลมไม่ใช่ทางออกเดียว และในสถานการณ์ปัจจุบัน ท่าทีดังกล่าวก็ไม่ได้สร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศอีกต่อไปแล้ว
- ท่าทีของ “ว่าที่นายกฯ” ต่อกรณี “ไผ่ลู่ลม”
ไม่นานมานี้ ท่าทีของไทยต่อกรณีของ “พม่า” ไม่ได้มีการออกมากดดันหรือประณามท่าทีทางการเมืองแต่อย่างใด แม้จะมีการรัฐประหารโดยรัฐบาลทหาร และประหารนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยก็ตาม รวมถึงจุดยืนต่อกรณีรัสเซีย-ยูเครน รัฐบาลประยุทธ์ก็ได้แสดงจุดยืนเป็นกลางต่อสถานการณ์ดังกล่าวมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้ออกแถลงการณ์ประณามกรณีรัฐบาลพม่าประหารชีวิตผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งสัญญาณที่เข้มแข็งและชัดเจนต่อเผด็จการทหารเมียนมา รวมทั้งยังเรียกร้องให้คืนอำนาจกลับคืนสู่ประชาชนโดยเร็วผ่านการเลือกตั้ง
ท่าทีของพิธาในครั้งนั้น รวมถึงการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุด อาจจะพอมองเห็นได้ว่า รัฐบาลชุดใหม่หากภายใต้การนำของชายชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นโยบายทางการทูตของไทยอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และหากไม่ได้ดำรงตนเป็นต้นไผ่ที่ลู่ไปตามทิศทางลม ไทยจะมีการปรับเปลี่ยน-ยกเครื่องนโยบายต่างประเทศใหม่หรือไม่อย่างไร เพราะนโยบายการทูตจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับระดับดีกรีประชาธิปไตยของไทยที่ส่งผลกันอย่างมีนัยสำคัญ
อ้างอิง: Prachatai, Matichon Weekly, Voice TV, the101.world, ASPI, Asia Times, YouTube