ศาล รธน.ข้างมาก 8:1 ชี้ พ.ร.ก.ยื้อ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ขัด รธน.ไร้ผลใช้บังคับ
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ชี้ พ.ร.ก.ยื้อ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.172 วรรคหนึ่ง ไม่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ต้น
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดีที่น่าสนใจ เรื่องพิจารณาที่ 11/2566 กรณี ส.ส.จำนวน 99 คน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 (พ.ร.ก.ยื้อ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ) ตราขึ้นเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มาตรา 22, 23, 24, 25 จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ 22 ก.พ. 2566 แก้ไขเป็นให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป
โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงส่งความเห็นดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคหนึ่ง
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสี่ วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ยื้อ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ กรณีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้ พ.ร.ก.ยื้อ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ไม่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ต้น (วันที่ 22 ก.พ. 2566) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสาม
เมื่อเวลา 15.50 น. ศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า โดยที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ใดไม่เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ให้ พ.ร.ก.นั้นไม่มีผลใช้บังคับตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ดีการที่ พ.ร.ก.นี้ไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้น ย่อมไม่กระทบต่อกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้ พ.ร.ก.นั้น ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสาม บัญญัติไว้ในกรณีที่รัฐสภาไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ให้ พ.ร.ก.นั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบต่อกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้ พ.ร.ก.นั้น
สำหรับการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสมควรกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของหน่วยงานในการปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ