ตรวจแนวรบ ส.ว. ต้าน"ก้าวไกล" โมเดล“ล้มพิธา เอานายกฯ เพื่อไทย”
เกมโหวตนายกฯ ในรัฐสภาตอนนี้มี “ส.ว.บางกลุ่ม" เริ่มพูดถึงโมเดล “ล้มพิธา เอานายกฯเพื่อไทย”บ้างแล้ว ต้องจับตาการชิงไหวชิงพริบในการตั้งรัฐบาลประชาชนครั้งนี้ ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ไม่เกิน 14 ส.ค.นี้.
เกมชิงอำนาจหลังเลือกตั้ง กลายเป็นเกมที่ต้องสู้กันระหว่าง “ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” กับ “สมาชิกวุฒิสภา” หรือ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เพราะมีขั้นตอนที่เป็นจุดเริ่มต้นของ เปลี่ยนถ่ายไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน คือการ เลือกนายกรัฐมนตรี ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 กำหนดเงื่อนไข ให้ส.ว.250 คน เป็นผู้ร่วมกำหนดเกม ด้วยการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา กับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน
“ก้าวไกล” พรรคที่ชนะเลือกตั้ง และมีคะแนนสูงสุด 152 เสียง มีความชอบธรรม ทั้งการจัดตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค แคนดิเดตนายกฯของพรรค ให้รัฐสภาลงมติ เมื่อรวมเสียง 8 พรรค ที่ดีลร่วมรัฐบาลแล้ว จะมีเสียงรวม 313
ทว่า ส.ว.ที่อยู่ในขั้วอนุรักษ์นิยม แสดงอากัปกิริยา “ขวาง” และเตรียมไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกฯของพรรคก้าวไกล เพราะคาใจกับ การแก้ไข ป.อาญา มาตรา 112 ทำให้บันไดที่จะส่ง “พิธา” เป็นนายกฯ คนที่ 30 ที่ต้องใช้เสียงโหวตเกิน 376 ขึ้นไปต้องสะดุด เมื่อเจองานยาก
อย่างไรก็ดี ในความพยายามตั้งรัฐบาลของประชาชน พบว่านักการเมืองจากขั้วต่างๆ พยายามดีลกับ “ส.ว.สายอิสระ” เพื่อขอเสียงสนับสนุน ซึ่ง ส.ว.ในสาย “คัดสรร” ที่มาจากการเลือกกันเองตามกลุ่มความเชี่ยวชาญ ที่มี 50 คน ถูก “เขียนชื่อ” ให้เป็นเป้าหมายหลัก
เพราะต้องยอมรับว่า “สายคัดสรร” นั้น เบื้องหลังแล้วมี “กลุ่มการเมือง-นักการเมืองบ้านใหญ่” สนับสนุน
ล่าสุด 4 วันหลังเลือกตั้ง มี 15 ส.ว.ที่ประกาศตัวตนชัดเจนว่า จะโหวตให้กับแคนดิเดตนายกฯเสียงข้างมาก
โดยพบว่า เป็น ส.ว.สายคัดสรร 6 คน ได้แก่ เฉลิมชัย เฟื่องคอน, ทรงเดช เสมอคำ คนใกล้ชิด “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ภัทรา วรามิตร เครือข่ายนักการเมืองใหญ่เมืองน้ำดำกาฬสินธุ์ ประภาศรี สุฉันทบุตร นักธุรกิจโรงพยาบาลเครือข่ายใหญ่ในอีสานใต้ ประมาณ สว่างญาติ สายเกษตรกร และ รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล สายเกษตรกร
ขณะที่อีก 8 คน มาจากสายตรง “คสช.” คือ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์, ซากีย์ พิทักษ์คุมพล, ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, วัลลภ ตังคณานุรักษ์, วันชัย สอนศิริ, วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์, สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ และนพ.อำพล จินดาวัฒนะ
ใน 15 ส.ว.ที่กล้าเปิดหน้า เมื่อพิจารณาจากประวัติการลงมติแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. แล้ว จะพบว่ามีแค่ 3 คนที่ไม่สนับสนุนการตัดอำนาจตัวเอง คือ ทรงเดช นพ.เจตน์ และรณวริทธิ์
นอกจากนั้น ต้องจับตา “กลุ่มตัวแปร” ที่ไม่แสดงตัว ซึ่งมีคนพูดถึง ส.ว.สายที่ “บิ๊กกี่” พล.อ.นพดล อินทปัญญา ดูแล
แม้ “บิ๊กกี่” จะมียี่ห้อเพื่อนรักของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ในสายสัมพันธ์การเมืองก็ยังดองกับพรรคเพื่อไทย ผ่านภรรยา “มาดามอร" ประวีณ์นุช เลิศจิตติสุทธิ์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
หาก “เพื่อไทย” ยึดมั่นต่อการสนับสนุน “ก้าวไกล” เป็นรัฐบาล บิ๊กกี่ ย่อมพร้อมจะยกหูถึง ส.ว.ในสาย ให้ร่วมสนับสนุน แคนดิเดตนายกฯ ฝั่งประชาธิปไตย
อย่างไรก็ดี มีการพูดถึงในเชิงลับว่า “ส.ว.สายอิสระ” ผสมโรงกับ "ฝั่งปิดสวิตช์ ส.ว.” กลุ่มหนึ่ง หารือร่วมกันแล้ว พร้อมจะสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกฯ
ขณะที่ อีกก๊วนที่เป็นสาย “อนุรักษนิยม” ก็นัดหารือเช่นกัน ว่าจะร่วมกำหนดเกมโหวตนายกฯ คนใหม่ เช่นไร
เกมโหวตนายกฯ ในรัฐสภาตอนนี้มี “ส.ว.บางกลุ่ม" เริ่มพูดถึงโมเดล “ล้มพิธา เอานายกฯเพื่อไทย”บ้างแล้ว ต้องจับตาการชิงไหวชิงพริบในการตั้งรัฐบาลประชาชนครั้งนี้ ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ไม่เกิน 14 ส.ค.นี้.