หุ้นกลุ่มกึ่งผูกขาดสัมปทานรัฐ รับแรงกระแทกแค่ไหน หลังก้าวไกลชนะเลือกตั้ง
จับตาหุ้นสัมปทานรัฐ หลังก้าวไกลประกาศเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล ฉุดราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า และรับเหมา ร่วงระราว
ตลอดช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่พรรคก้าวไกลประกาศเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล หุ้นไทยก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มรับเหมา ที่ปรับตัวลงมาค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่ง 2 กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่รับสัมปทานจากทางภาครัฐในอดีตที่ผ่านมา และนโยบายเศรษกิจของพรรคก้าวไกลเองต้องการสร้างเสถียรภาพการเปิดกว้างด้านเสรี ให้กับธุรกิจรายเล็ก ๆ ได้เข้ามามีส่วนในการแข่งขันทางการตลาด โดยไม่ผูกขาดกับนายทุนใหญ่
อย่างไรก็ตาม หุ้นกึ่งผูกขาดสัมปทานรัฐไม่ได้มีเพียงแค่ โรงไฟฟ้า หรือรับเหมาเท่านั้น ยังมีอีกหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลังงานทั้งต้นน้ำยันปลายน้ำ กลุ่มขนส่งทางราง หรือกลุ่มสื่อสาร หรือแม้แต่กระทั่งค้าปลีกที่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่กระจายไปหลากหลายอุตสาหกรรมเหล่านี้ จะได้รับผลกระทบไปด้วยหรือไม่ หากพรรคก้าวไกลได้เข้ามาบริหารประเทศอย่างเต็มตัว
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า หุ้นกลุ่มสัมปทาน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มพลังงานที่ไม่ใช่แค่ โรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มพลังงานทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งถ้าทางพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาลจริงก็คงต้องพยายามหาทางที่จะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง หรือปรับลดช่องว่างส่วนของต้นทุนต่าง ๆ ออกไป และคาดว่าหุ้นกลุ่มพลังงานจะได้รับผลกระทบทั้งกลุ่ม เพราะพรรคก้าวไกลต้องการจัดสรรปันส่วนเพื่อเอื้อให้กับภาคประชาชน หรือภาคธุรกิจรายเล็ก รายน้อยมากขึ้น
ขณะที่กลุ่มที่ 2 จะเกี่ยวข้องกับการประมูลการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ต้องมีเรียก ภาคเอกชนเข้ามารับประมูลต่อหรือรับงานต่อ โดยการเข้ามาจัดซื้อจัดจ้าง ได้แก่กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มขนส่งทางราง และกลุ่มสื่อสาร ที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ เป็นต้น
และกลุ่มที่ 3 กลุ่มค้าปลีก ที่พรรคก้าวไกลต้องการที่จะเปิดเสรี ให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ก็จะทำให้ส่วนแบ่งของกำไรบริษัทใหญ่อาจปรับตัวลดลงได้
อย่างไรก็ตาม หากพรรคก้าวไกลได้รับการจัดตั้งให้เป็นรัฐบาล คาดว่า นโยบายของพรรคที่ต้องการความเท่าเทียม สร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการแข่งขันของบริษัทเล็กขึ้นมาก็จะส่งผลกระทบในระยะยาวได้ แต่ในระยะสั้นยังไม่ได้เร็วขนาดนั้น
และตั้งแต่พรรคก้าวไกลประกาศเป็นแกนนำรัฐบาลเมื่อวันจันทร์ที่ 15 พ.ค.66 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งการฟอร์มรัฐบาลที่ล่าช้า จึงทำให้เสียภาพการเมืองที่จะไม่กลับมาในเร็ววัน และจะทำให้ประเทศไทยในสายตาของต่างชาติจะแย่ลงไปด้วย ตรงจึงไม่น่าแปลกใจที่แรงขายยังปรับลงเกือบทุกกลุ่มในตลอดสัปดาห์นี้
กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลุ่มหุ้นที่ได้รับการอภิปรายในสภาช่วงที่ผ่านมา จะมี GULF ที่โรงไฟฟ้ากับสัมปทานดาวเทียม และการควบรวมทรูกับดีแทค
โดยกลุ่มโรงไฟฟ้าในอดีตหากไปดูย้อนหลังจะไม่เคยมีการแก้ไขสัญญาที่ทำไปแล้ว แต่ในอนาคตหากพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาลจริง อาจจะได้รับผลกระทบในโครงการใหม่ ๆ ที่อาจจะไม่ง่ายหรือไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีเท่าเดิมได้ เพราะจะผลกระทบหลายอย่าง แต่ที่คนจะมองว่า กับอนาคตในโครงการใหม่ ๆ ที่อาจจะไม่ง่ายหรือไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีเท่าเดิมได้
ขณะที่ กลุ่มสื่อสาร จะมีแค่บางสัญญาที่ทำกับภาครัฐ อย่างสัมปทานดาวเทียม ส่วนกลุ่มสื่อสารที่เป็นโทรศัพท์มือถือ ยังคงมีกลไกลตลาดอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเป็นลักษณะแบบนี้ตลาดจะมีความกังวลระยะสั้น เพราะยังต้องดูในเรื่องของผลประกอบการ หรือโครงการในปัจจุบันว่ามีอยู่ที่เท่าไร ถ้ามีส่วนลดตลาดอาจเผื่อใจไว้ว่า จะไม่ได้มีการเติบโตได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้
ทั้งนี้ในกลุ่มของโรงไฟฟ้า แนะนำนักลงทุนว่า ยังต้องติดตามพัฒนาทางการเมือง และรอดูว่า ผลกระทบที่ต้องทำสัญญากับทางภาครัฐอย่างโรงไฟฟ้าในอนาคตอาจจะมีโอกาสที่จะความระมัดระวังมากขึ้น หรืออาจจะไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขเหมือนเดิมได้ ก็ต้องติดตามแต่ไม่กระทบถึงสัญญาที่ทำไปแล้ว
ส่วนกลุ่มค้าปลีก ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้มีการถูกอภิปรายโดยตรงในช่วงที่ผ่านมา และกลุ่มค้าปลีกยังมีกลไกลของตลาดที่ยังไม่ได้น่ากังวลมาก แต่อาจจะได้เปรียบในลักษณะธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ได้เป็นลักษณะที่ภาครัฐจะเข้าไปเอื้อบางอย่างให้เลยไม่ได้เป็นเป้าหมายที่ดูน่ากังวล
และกลุ่มขนส่งทางราง มองมีความเสี่ยงถ้าไปดูในรูปแบบการแก้ปัญหาของรัฐบาลในอดีตถ้าเกิดมีความขัดแย้งกับเอกชนมักจะมีการใช้วิธีโดยการชดเชยแลกเปลี่ยนโดยการให้สัญญาสัมปทานในการแลกเปลี่ยนชดเชยกับทางด้านเอกชน หรือต่อสัญญาสัมปทาน
แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางด้านของการเมืองอาจจะมีการแก้ปัญหาที่แตกต่างไปจากเดิม ก็เป็นได้ว่า ภาครัฐมีส่วนที่จะต้องจ่ายหรือชดเชยให้เอกชนก็ต้องจ่าย แต่ในส่วนที่ว่า ไม่ได้นำสัญญาสัมปทานมาหักกลบกัน หรือว่ามาออกให้กับภาคเอกชน ตรงนี้ต้องไปดูอีกที่ว่าดีหรือไม่ดี
อย่างไรก็ตาม การที่ภาคเอกชนได้ชดเชยค่าเสียหาย เช่น สมมุติยกตัวอย่างเช่น BTS ได้ค่าชดเชยก้อนใหญ่มาทีเดียว ในทางการเงินอาจจะถือว่าดีกว่าการได้ต่อสัมปทานและต้องแบกหนี้ แต่ในเชิงของราคาหุ้น หุ้นจะชอบเห็นธุรกิจในระยะยาวมากกว่าที่จะได้เงินก้อนใหญ่ครั้งเดียว ฉะนั้นตรงนี้ถือว่า เป็นความเสี่ยงในความไม่ชัดเจนในระยะยาวได้