'เอ็มโอยู-สัตยาบัน' เมื่อเซ็นได้ ก็ฉีกทิ้งได้

'เอ็มโอยู-สัตยาบัน' เมื่อเซ็นได้ ก็ฉีกทิ้งได้

“เอ็มโอยู-สัตยาบัน” แม้จะเซ็นกันได้ แต่ก็สามารถฉีกทิ้งได้เหมือนกัน ไม่ต่างจาก “เอ็มโอยู” ของ “พิธา-ก้าวไกล” ที่ตกลงคำสัญญากับว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล อาจจะมีตัวแปรมาฉุดรั้ง ทำให้ “เอ็มโอยู” แท้งก่อนบังคับใช้ได้เช่นกัน

หัวหน้า 8 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม และเชาวฤทธิ์ ขจรพงศกีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ แถลงข่าวประกาศจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน ทั้งหมดมี จำนวน ส.ส.รวมกันทั้งสิ้น 313 คน

โดยหัวหน้าพรรคการเมือง ประสานเสียงสนับสนุน “พิธา” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เนื่องจากพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นลำดับหนึ่ง ซึ่งระหว่างรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง คณะทำงาน 8 พรรคการเมือง จะหารือรายละเอียดบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ในการทำงานร่วมกัน ก่อนจะมีการแถลงเอ็มโอยูในวันที่ 22 พ.ค.2566

หากย้อนไปในการเมืองยุคเก่า เมื่อ “นักการเมือง-นักเลือกตั้ง” จะจับมือกับจัดตั้งรัฐบาล หรือมีข้อตกลงร่วมกัน มักจะใช้คำว่า “สัตยาบัน” แตกต่างจากการเมืองยุคใหม่ที่ใช้คำว่า “เอ็มโอยู” ซึ่งเมื่อร่วมลงสัตยาบันกันแล้ว มีหลายครั้งที่ “นักการเมือง-นักเลือกตั้ง” ฉีกสัตยาบันกันอย่างง่ายดาย

หลังการเลือกตั้งปี 2562 แกนนำ 6 พรรคการเมือง เคยร่วมลงสัตยาบัน เพื่อจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล นำโดยพรรคเพื่อไทย อดีตพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย

มีคำสัญญา 5 ข้อ

1.จะสนับสนุนชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมติของพรรค และไม่เสนอชื่อหรือให้ความเห็นชอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อย่างเด็ดขาด

2.จะสนับสนุนและผลักดันการลบล้างผลพวงรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

3.จะสนับสนุนและผลักดันให้มีการปฏิรูปกองทัพให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

4.จะยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคทุกประการ และ

5.จะต่อสู้ร่วมกันจนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญใหม่ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

แม้ในครั้งนั้นจะ “5 พรรค” จะไม่มีพรรคใดฉีกสัตยาบัน แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจาก “ฝั่งตรงข้าม” ชิงรวบรวม ส.ส. เกิน 250 ที่นั่ง ก่อนจะเลือกประธานสภา และเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้สัตยาบันดังกล่าวต้องถูกทิ้งไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าว พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. กล่าวแถลงข่าวว่า “... ในชีวิตเห็นทั้งการปฏิวัติ รัฐประหาร การเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้กระทั่งสัตยาบันที่ทำกันตั้งแต่สมัยปี 2534 มีนักการเมืองหลายท่านลงสัตยาบันกัน ทั้งท่านมนตรี พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคม นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ลงสัตยาบันจะตั้งพรรคการเมืองกัน และจะตั้งรัฐมนตรีกัน ท้ายที่สุดแล้ว ก็ ”ฉีกสัตยาบัน“ ทิ้ง นี่คือ วาทะการเมือง เกมของการเมือง เป็นกิจกรรมของทางการเมือง ...”

หากย้อนไปในปี 2556 หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรค ประกอบด้วย จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล ได้ลงนามเป็นสัตยาบัน

โดยขอถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง รวมทั้ง 6 ฉบับออกจากวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และจะไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ซึ่งมีหลักการทำนองนี้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นร่างฉบับใดๆ ก็ตาม

แต่ “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” เป็นชนวนเหตุทางการเมืองที่บานปลายจนทำให้เกิดการชุมนุมของ “กลุ่ม กปปส.” และนำมาสู่การรัฐประหารปี 22 พ.ค. 2557 โดยสัตยาบันดังกล่าวไม่มีผลต่อการเมือง เนื่องจากมากระทำภายหลังที่โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปแล้ว

นอกจากนี้ “คำสัตย์” ยังเป็นอีกอย่างที่สำคัญในการเมือง ครั้นหนึ่ง “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กล่าวยํ้าเสมอว่าจะไม่กลับมาเล่นการเมือง และจะไม่ตั้งพรรคการเมืองอีก

กระทั่งก่อนการเลือกตั้งปี 2562 “สุเทพ” ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานคณะทำงานรณรงค์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมเป็นผู้ก่อตั้งและสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย แม้จะกล่าวอ้างความจำเป็นที่ไม่รักษา “คำสัตย์” แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาล้มเหลว บ่งบอกได้อย่างดีว่า “ประชาชน” ต่อต้านคนตระบัดสัตย์

ดังนั้น “เอ็มโอยู-สัตยาบัน” แม้จะเซ็นกันได้ แต่ก็สามารถฉีกทิ้งได้เหมือนกัน ไม่ต่างจาก “เอ็มโอยู” ของ “พิธา-ก้าวไกล” ที่ตกลงคำสัญญากับว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล อาจจะมีตัวแปรมาฉุดรั้ง ทำให้ “เอ็มโอยู” แท้งก่อนบังคับใช้ได้เช่นกัน