ส่อง ‘50 ส.ว.’ สายสรรหา ตัวแปรพลิกเกมหนุน ‘พิธา’
กลุ่ม 50 ส.ว.สายสรรหา ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการ ที่ติดใจปมแก้ ม.112 ของพรรคก้าวไกล ซึ่งหากรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของพิธา ไม่ชัดเจนเรื่องนี้ ก็ยากจะซื้อใจ ส.ว.ที่มาจากพรรคข้าราชการได้
รัฐบาลประชาธิปไตย 313 เสียง ติดกับดักรัฐธรรมนูญ 2560 ลำพังแค่ 310 เสียงไม่เพียงพอโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องผ่านเกณฑ์ 376 เสียงจากทั้ง 2 สภา
นับจากวันนี้ไป จึงต้องมียุทธการดึงเสียง ส.ว.อีก 60 กว่าเสียงให้มาหนุนหนุ่มทิม เดินหน้าสู่ทำเนียบไทยคู่ฟ้า
เวลานี้ ส.ว.บ้านใหญ่ 50 คน ตกเป็นเป้าหมายในการช่วงชิงให้มาโหวต พิธา เพราะคนเหล่านี้ มีความใกล้ชิด ส.ส.สายขั้วรัฐบาลเดิม
ดังที่ทราบกัน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ทั้งสิ้น 250 คน มีที่มาของ 3 ส่วน โดยมี 50 คน มาจากคัดเลือกกันเอง โดย กกต. จัดรับสมัครบุคคลจาก 10 กลุ่มอาชีพทั่วประเทศ แล้วเลือกกันเองจนเหลือ 200 คน จากนั้น คสช. เลือกในขั้นตอนสุดท้ายเหลือ 50 คน
สุดท้าย ผู้ที่เคาะให้ผ่านก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว.สรรหาส่วนหนึ่ง จึงมีคอนเนกชั่นกับนักการเมืองในเครือข่าย 3 ป.
กรณี 2 ส.ว.สรรหา อย่าง ทรงเดช เสมอคำ และ ภัทรา วรามิตร จะประกาศโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีปูมหลังเกี่ยวกับนักการเมืองใหญ่
ทรงเดช เสมอคำ เคยเป็นประธานฝ่ายเทคนิคสโมสรฟุตบอลสุโขทัย เอฟซี ซึ่งมี สมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม เป็นเจ้าของทีม ซึ่งตอน คสช.แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน สมศักดิ์เป็นแม่ทัพใหญ่พลังประชารัฐ สายเหนือตอนล่าง
วันนี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน ย้ายมาอยู่พรรคเพื่อไทย และกำลังสร้างผลงานให้เข้าตากรรมการปีกก้าวไกล
ส่วน อ้อ-ภัทรา วรามิตร อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคไทยรักไทย หลังไม่ประสบความสำเร็จในสังเวียน ส.ส. ก็ยังอยู่ในแวดวงการเมืองท้องถิ่นมาตลอด
ปี 2562 พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร อดีตแม่ทัพภาค 2 ได้เจรจากับบ้านใหญ่วรามิตร ขอตัวพี่ชายภัทราคือ ชานุวัฒน์ วรามิตร ลงสมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคพลังประชารัฐ แต่สอบตก ถัดจากนั้นไม่นาน ภัทราก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น สว.ที่มาจากสายสรรหา
ล่าสุด การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไป ชานุวัฒน์ สวมเสื้อพลังประชารัฐ ลงสนามอีก แต่ก็แพ้ทินพล ศรีธเรศ พรรคเพื่อไทย ที่เขต 5 กาฬสินธุ์
นี่คือตัวอย่างของ ส.ว.สายสรรหา ที่ตัดสินใจจะโหวตเลือกพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี และคาดว่า น่าจะมี ส.ว.ในปีกนี้อีกหลายคน กำลังถูกโน้มน้าวจูงใจให้เปลี่ยนข้างจากนักการเมืองใหญ่บางคน
ใครจะเลือกยืนอยู่ที่เดิม หรือใครจะเปลี่ยนมาอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ก็ต้องรอดูนับจากนี้ไป เบื้องต้นลองไปส่องดู ส.ว.สายสรรหา ที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับคอนเนกชั่นทางการเมือง
ประภาศรี สุฉันทบุตร อดีตประธานหอการค้าจังหวัดยโสธร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็มีความใกล้ชิดนักการเมืองระดับชาติหลายคน
ประยูร เหล่าสายเชื้อ อดีต ส.ว.ยโสธร ปี 2557 ภรรยาสมชาย เหล่าสายเชื้อ ที่มีคอนเนกชั่นกับอดีต ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย
เพ็ญพักตร์ ศรีทอง อดีต ส.ว.อุบลราชธานี ปี 2549 อยู่ในปีกอนุรักษนิยม และใกล้ชิด เต็มบุญ ศรีธัญรัตน์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.อุบลฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ
อมร นิลเปรม อดีต ส.ว.อุบลราชธานี ปี 2543 เป็นพี่ชาย อดุลย์ นิลเปรม อดีตผู้สมัคร ส.ส.อุบลฯ พรรคไทยสร้างไทย สายตรง สิทธิชัย โควสุรัตน์ บ้านใหญ่ ส.เขมราฐ
สุรสิทธิ์ ตรีทอง หลานชายบุญชู ตรีทอง อดีตนายก อบจ.แม่ฮ่องสอน และอดีต ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรค ปชป.
บุญส่ง ไข่เกษ อดีต ส.ส.ตราด พรรค ปชป. และอดีต ส.ว.ตราด ปี 2549
วิไลลักษณ์ อรินทมะพงษ์ น้องสาว วิมลจิต อรินทมะพงษ์ ภรรยา สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน
จิรดา สงฆ์ประชา พี่สาว มณเฑียร สงฆ์ประชา ว่าที่ ส.ส.ชัยนาท พรรคภูมิใจไทย และอดีตนายก อบจ.ชัยนาท
สาธิต เหล่าสุวรรณ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดชัยนาท มาสายเดียวกับจิรดา สงฆ์ประชา
ทัศนา ยุวานนท์ แม่ยายวิเชียร จันทรโณทัย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ที่แสดงจุดยืนเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแต่ปี 2562
ไพฑูรย์ หลิมวัฒนา อดีตนายกเทศมนตรีเมืองละแม อ.ละแม จ.ชุมพร อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายตรงบ้านป่ารอยต่อฯ
พล.อ.อ.สุจินต์ แช่มช้อย อดีตผู้บังคับกองบิน 7 สุราษฎร์ธานี และอดีต ส.ว.สุราษฎร์ธานี ปี 2557 มีความใกล้ชิดกับตระกูลเทือกสุบรรณ
ถาวร เทพวิมลเพชรกุล อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองขีดขิน อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ก็ทางสายบ้านป่ารอยต่อฯ
ในกลุ่ม 50 ส.ว.สายสรรหา ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการ ที่ติดใจปมแก้ ม.112 ของพรรคก้าวไกล ซึ่งหากรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของพิธา ไม่ชัดเจนเรื่องนี้ ก็ยากจะซื้อใจ ส.ว.ที่มาจากพรรคข้าราชการได้