ปลัด มท.รอด! ศาลคดีทุจริตฯยกฟ้องปมโดนกล่าวหา “ด้อยค่า” ผู้ใต้บังคับบัญชา
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง “สุทธิพงษ์” ปลัด มท. ปมถูกกล่าวหา “ด้อยค่า” ผู้ใต้บังคับบัญชา ขณะประชุมงาน ชี้ “สงกาญ์” ผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง เจ้าตัวยังลุยต่อ เตรียมยื่นอุทธรณ์
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ศาลนัดฟังคำสั่งฟ้อง หรือคำพิพากษาในชั้นตรวจฟ้อง ในคดีที่นายสงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสยาม เป็นโจทก์ฟ้อง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 (1) กรณีที่นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้อยค่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง และผู้อื่น ในการประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อปลายปี 2565
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายสงกาญ์ ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า วันนี้ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องในคดีที่ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีที่กล่าวด้อยค่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง และผู้อื่น โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้เสียหายคนเเรกคือข้าราชการที่ถูกนายสุทธิพงษ์ กล่าวถึง และมหาวิทยาลัยสยาม ในส่วนตนที่เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสยามไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ศาลจึงยกฟ้องหรือไม่รับฟ้องคดีไว้พิจารณา
“ยืนยันจะขออุทธรณ์ต่อศาลสูงต่อไป เนื่องจากมองว่าศิษย์เก่าที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยล้วนได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวโดยตรง เช่น ทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือเมื่อสมัครงาน เนื่องจากผู้พูดได้กล่าวในฐานะที่เป็นข้าราชการระดับสูงทำให้หลายคนเชื่อถือคล้อยตาม สำหรับข้าราชการที่ถูกด้อยค่า ซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยตรงนั้น เชื่อว่าจะไม่ดำเนินการฟ้องร้อง เนื่องจากเป็นข้าราชการในระบบ และผู้บังคับบัญชาสามารถให้คุณหรือโทษได้ ซึ่งผมจะยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน” นายสงกาญ์ กล่าว
นายสงกาญ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยสยามในปี 2554 เช่นกัน และก่อนหน้านี้ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ทำเอกสารชี้แจงส่งมายังศาลแล้ว รวมทั้งได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัยสยามและที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศ โดยอ้างว่าไม่มีเจตนาในการกระทำดังกล่าว เป็นการมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรให้ดีขึ้นรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ตนมองว่ายังรับผิดชอบไม่เพียงพอ ปลัดฯควรกล่าวขอโทษผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เช่นเดียวกับตอนที่พูดพาดพิงจึงจะเยียวยาจิตใจผู้เสียหายได้มากกว่า
ขณะที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เผยแพร่เอกสารคำพิพากษายกฟ้องกรณีดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้