จับตาว่าที่รัฐบาลก้าวไกล เขย่า ‘ทุนใหญ่-ตระกูลดัง’

จับตาว่าที่รัฐบาลก้าวไกล เขย่า ‘ทุนใหญ่-ตระกูลดัง’

จับตานโยบาย “รัฐบาลก้าวไกล” พุ่งเป้าเขย่า “ทุนใหญ่” ด้านผู้ประกอบการรายย่อย-ภาคประชาชนได้ประโยชน์จากนโยบายเพิ่มขีดความสามารถ ดัน “GDP” โต ตั้งเป้าไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ขยับสู่การเป็น “ประเทศรายได้สูง”

สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่จะตามมาภายหลังชัยชนะของ “พรรคก้าวไกล” ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลว่า นอกจากการแก้ไขมาตรา 112 ที่เป็นที่จับตามองแล้ว นโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ยังได้รับความสนใจไม่แพ้กัน ทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันทีภายใน 100 วันแรก สุราก้าวหน้า รวมถึงการลดสัดส่วนการถือครองสัมปทานเพื่อการกระจายเศรษฐกิจ ที่มีมูลค่าหมุนเวียนในระบบกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ “พลิกขั้ว” เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลประยุทธ์ โดยรอยเตอร์มองว่า ที่ผ่านมาปล่อยให้ธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตอย่างโดดเดี่ยวมาโดยตลอด

โดยทุนใหญ่ของไทยที่กินสัดส่วนมากที่สุดในตลาดมีหลักๆ 4 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก-ห้างสรรพสินค้า อสังหาริมทรัพย์ อาหาร และโทรคมนาคม ซึ่งมูลค่ารวมของธุรกิจทั้งหมดนี้ มีมูลค่าตามตลาด (Market Cap) อย่างน้อย 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ใน 5 ของมูลค่าตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประเภทธุรกิจที่มีรายได้มากที่สุดใน 4 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจอาหารของเครือซีพี มูลค่ารวม 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังเป็นเจ้าของโรงงานอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ร้านสะดวกซื้ออีกหลายพันสาขา รวมถึงมีหุ้นในบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่จีนอีกด้วย

ตลอดหนึ่งสัปดาห์ภายหลังผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการเสร็จสิ้นลง หุ้นของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีการปรับตัวขึ้น-ลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยหุ้นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจทั้ง 4 ประเภท ไม่ว่าจะเป็น True, Gulf Energy Development, CP และ Central Group ร่วงมากถึง 17 เปอร์เซ็นต์ 

อย่างไรก็ตาม มีกระแสอีกส่วนที่ระบุว่า กลุ่มผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต้องการให้ “พรรคเพื่อไทย” พรรคร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล-ผู้นำในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า โดยเจ้าของธุรกิจเหล่านี้ล้วนได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนใหญ่ รวมถึงยังมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อีกด้วย แม้ว่าในขณะเดียวกัน นโยบายหลายข้อของเพื่อไทยจะยังถูกตั้งข้อสังเกตและไม่ได้รับความเห็นชอบจากภาคธุรกิจก็ตาม อาทิ นโยบายปรับขึ้นค่าแรง การพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี เป็นต้น

ในทางกลับกัน รอยเตอร์มองว่า หากรัฐบาลก้าวไกลยกเครื่องเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ จะช่วยเพิ่มการเติบโตโดยรวมให้กับประเทศ ซึ่งเป็นผลดีกับคนส่วนใหญ่ในระยะยาว ตัวเลข GDP ที่สูงขึ้น จะช่วยดันให้ประเทศไทยที่ติดอยู่ในวังวนกับดักรายได้ปานกลาง ขยับขึ้นสู่ประเทศรายได้สูง เศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะช่วยยกระดับการแข่งขันได้

 

อ้างอิง: Reuters