10 ปีผ่านไป การเมืองไทยมีใครเป็น ‘รัฐมนตรีหญิง’ บ้าง?

10 ปีผ่านไป การเมืองไทยมีใครเป็น ‘รัฐมนตรีหญิง’ บ้าง?

ส่องทำเนียบ “รัฐมนตรีหญิง” ในรอบทศวรรษ พบ คลัง-ต่างประเทศ-มหาดไทย-ยุติธรรม ไร้สตรีครองตำแหน่ง ทว่า หาก “พรรคก้าวไกล” จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ “ศิริกัญญา ตันสกุล” จะกลายเป็น “ขุนคลังหญิง” คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยทันที

Key Points:

  • จากข้อมูลของ “สหภาพรัฐสภา” พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วน ส.ส. หญิงเพียง 16.6 เปอร์เซ็นต์ รั้งอันดับที่ 137 จาก 168 ประเทศทั่วโลก อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกและอาเซียน
  • เดิมที พื้นที่ในสภาฯ ไม่ได้ถูกออกแบบให้มีความเท่าเทียมทางเพศมากนัก แต่เมื่อมีจำนวน ส.ส. หญิงในสภาฯ มากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศทั่วโลกจึงเริ่มปรับเปลี่ยนข้อบังคับ-กฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น
  • สัดส่วนของรัฐมนตรีหญิงในไทยยังมีไม่มาก โดยเฉลี่ยในการจัดตั้งรัฐบาลแต่ละครั้งจะมีเพียง 1-2 ตำแหน่ง และยังมีหลายกระทรวงที่ไม่เคยมีรัฐมนตรีหญิงมาก่อน ทำให้ “ศิริกัญญา ตันสกุล” ถูกจับตามองในฐานะ “ว่าที่ขุนคลัง”

จากกระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลที่ก่อนหน้านี้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกลและว่าที่นายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หากพรรคก้าวไกลได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะตกเป็นของ “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

เมื่อผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการเสร็จสิ้นลง “ศิริกัญญา” จึงเป็นที่จับตามองจากทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน ที่หวังพึ่งรัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาปากท้อง ฟื้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพิ่มเงินในกระเป๋า และเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้บริโภค

“กรุงเทพธุรกิจ” พาย้อนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบทศวรรษ โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิงในสภาฯ โดยพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556-2566 มีรัฐมนตรีหญิงเพียง 7 คนเท่านั้น และโดยเฉลี่ยแล้ว สัดส่วนนักการเมืองหญิงในสภาฯ ไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกอีกด้วย

10 ปีผ่านไป การเมืองไทยมีใครเป็น ‘รัฐมนตรีหญิง’ บ้าง?

-ศิริกัญญา ตันสกุล: ตัวเต็งขุนคลังจากพรรคก้าวไกล-

  • สำรวจประวัติศาสตร์และสัดส่วนของ “นักการเมืองหญิง” ทั่วโลก

ข้อมูลจาก สหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) ระบุว่า สัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงของไทยอยู่ในอันดับที่ 137 จาก 168 ประเทศทั่วโลก โดยจากที่นั่งในสภาทั้งหมด 445 ที่นั่ง มี ส.ส. หญิงอยู่เพียง 74 ที่นั่ง คิดเป็นสัดส่วน 16.6 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่นั่งทั้งหมดในสภาล่าง โดยตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ 26.6 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงค่าเฉลี่ยของ ส.ส. หญิงในอาเซียนอยู่ที่ 23 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า สัดส่วนสตรีในสภาฯ ไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม รายงานจากสหภาพรัฐสภาหัวข้อเรื่อง “สตรีในรัฐสภา : ปี 2538-2563” ให้ข้อมูลว่า ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา บทบาทของสตรีในสภาฯ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จาก 11.3 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ.2538 เป็น 24.9 เปอร์เซ็นต์ในปี พ.ศ.2563 โดยในปี พ.ศ.2538 ยังไม่มีสภาฯ ใดในโลกที่มีสัดส่วน ส.ส. หญิงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมด แต่ในปี พ.ศ.2563 มีรัฐสภาจาก 4 ประเทศทั่วโลกที่มี ส.ส. หญิงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ โดยประเทศที่มี ส.ส. หญิงในสภาฯ มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ ประเทศรวันดา

ทั้งนี้ หากย้อนดูตามประวัติศาสตร์จะพบว่า เดิมที รัฐสภาถูกออกแบบให้เป็นองค์กรที่มีผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ด้วยข้อปฏิบัติและวิธีการทำงานหลายประการ ทำให้รัฐสภาไม่ใช่พื้นที่ที่โอบรับทุกเพศได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็พบว่า จำนวนผู้หญิงในสภาฯ กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ผู้หญิงยังคงต้องแบกรับความรับผิดชอบงานในครอบครัวไปด้วย ซึ่งงานการอภิปรายในสภาฯ ที่ต้องอยู่ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ทำให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานการเมืองได้ยากกว่า รวมไปถึงบทบาทการเป็นแม่ที่ ส.ส. หลายคนยังต้องให้นมบุตรหรือมีลูกเล็ก โดยที่โครงสร้างการทำงานของสภาฯ ก็ยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับมิติเรื่องเพศแต่อย่างใด

นั่นจึงเป็นที่มาของ “แผนปฏิบัติของสหภาพรัฐสภาเพื่อการเป็นรัฐสภาที่คำนึงถึงมิติทางเพศ ฉบับปี 2555” ทำให้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบข้อบังคับของสภาฯ หลายแห่ง ทั้งการมอบฉันทะในการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร หรืออย่างรัฐสภาประเทศออสเตรเลียที่มีการแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้ ส.ส. ผู้หญิงให้นมบุตรในสภาฯ ได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้นำลูกมาเลี้ยงในสภาฯ ระหว่างการทำงาน เป็นต้น

10 ปีผ่านไป การเมืองไทยมีใครเป็น ‘รัฐมนตรีหญิง’ บ้าง?

-ลาริสซา วอเตอร์ส (Larissa Waters) วุฒิสมาชิก ประเทศออสเตรเลีย-

  • ส่องผู้แทนไทย นักการเมืองหญิงอยู่ตรงไหนในสภาฯ บ้าง?

ประเทศไทยมี ส.ส. หญิงคนแรกในสภาฯ เมื่อปี พ.ศ. 2492 คือ “อรพิน ไชยกาล” ส.ส. อุบลราชธานี และยังสร้างประวัติศาสตร์เป็น ส.ส. ที่ได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว ฟากตำแหน่งด้านบริหารอย่างรัฐมนตรีมี “สุพัตรา มาศดิตถ์” เป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรก โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531-2533

จากนั้น ก็คล้ายกับเป็นการเปิดทางให้กับตำแหน่งรัฐมนตรีหญิงในประเทศไทยเรื่อยมา เพราะตั้งแต่รัฐบาลชาติชายจนถึงรัฐบาลประยุทธ์ในปัจจุบัน จะมีรัฐมนตรีหญิงดำรงตำแหน่งเฉลี่ยรัฐบาลละ 1-2 ตำแหน่ง โดยรัฐบาลที่มีเก้าอี้รัฐมนตรีหญิงมากที่สุด คือ รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มีรัฐมนตรีหญิง 4 ตำแหน่ง ได้แก่ 

  • กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  • อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ รัฐบาลประยุทธ์บริหารราชการแผ่นดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557-ปัจจุบัน

ส่วน งานบริหารที่มีสถิติรัฐมนตรีหญิงดำรงตำแหน่งมากที่สุด คือ สำนักนายกรัฐมนตรี รองลงมาเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ ตามลำดับ สำหรับกระทรวงอื่นๆ เคยมีรัฐมนตรีหญิงดำรงตำแหน่งเพียงตำแหน่งละ 1 คนเท่านั้น โดยกระทรวงที่ยังไม่เคยมีรัฐมนตรีหญิงบริหารงานมาก่อน ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม

เป็นที่น่าสนใจว่า หาก ศิริกัญญาได้เก้าอี้ “ขุนคลัง” จะเป็นการยกระดับบทบาทนักการเมืองหญิงในสภาฯ เพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร เพราะคลังถือเป็นกระทรวงใหญ่หรือ “กระทรวงเกรดเอ” ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณราวปีละ 3.13 แสนล้านบาท ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่สำคัญ ในการควบคุมจัดเก็บรายได้ระดับประเทศ ทั้งกรมสรรพกร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร รวมถึงรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่ง

10 ปีผ่านไป การเมืองไทยมีใครเป็น ‘รัฐมนตรีหญิง’ บ้าง?

-ส.ส. เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล-

ด้วยความไม่สมส่วนกันของนักการเมืองชายหญิงในสภาฯ หลายประเทศจึงได้มีการจัดทำ “โควตานักการเมืองหญิง” เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้มีสัดส่วนผู้แทนหญิงตามกำหนด โดยปัจจุบัน มีผลบังคับใช้ 134 ประเทศทั่วโลก บางประเทศเขียนเป็นข้อกำหนดบังคับใช้ในโควตารายชื่อผู้สมัครจากทุกพรรคการเมือง บางแห่งกำหนดลงในสัดส่วนที่นั่งสภาฯ ที่มีการสงวนไว้ให้เฉพาะนักการเมืองผู้หญิงเท่านั้น เป็นต้น

สำหรับ ประเทศไทยมีเพียงบทบัญญัติว่า พรรคการเมืองต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงในการจัดทำบัญชีรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 90 รัฐธรรมนูญปี 2560 เท่านั้น

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า หากพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ บทบาทของผู้หญิงในสภาฯ จะมีทิศทางอย่างไร เพราะที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีตอนาคตใหม่จนมาถึงก้าวไกล พรรคมีพื้นที่และให้ความสำคัญแก่นักการเมืองหญิงอย่างมาก โดยมีนักการเมืองหญิงที่สร้างผลงานในสภาฯ ได้อย่างโดดเด่นจนเป็นที่น่าจับตามองหลายคน อาทิ พรรณิการ์ วานิช, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, เบญจา แสงจันทร์ และศิริกัญญา ตันสกุล รวมถึงว่าที่ ส.ส. หญิง ที่ได้รับการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมาอย่าง ชลธิชา แจ้งเร็ว, รักชนก ศรีนอก, พุธิตา ชัยอนันต์, พนิดา มงคลสวัสดิ์ และธิษะณา ชุณหะวัณ เป็นต้น

 

อ้างอิง: IPUParliament 1Parliament 2Silapa-magThaigovWikipediaWiki KPI