ซีอีโอ Goto แนะไทยสร้าง 'Tech Ecosystem' ปั้น 'ทาเลนต์คนรุ่นใหม่'

'แพทริค วาลูโจ' แนะไทยต้องมี Tech Ecosystem ที่แข็งแรง เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเข้ามา และปั้นทาเลนต์เตรียมพร้อมสู่อนาคต พร้อมถอดบทเรียนบิ๊กเทคในอินโดนีเซีย
KEY
POINTS
- ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซียหรือประเทศไทย ควรจะต้องมี Tech Ecosystem ที่แข็งแรง เพื่อให้สามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเข้ามาทำงานด้วย และนำคนเก่งมาสอนคนในประเทศปั้นทาเลนต์ต่อไป
- ถอดบทเรียนในอินโดนีเ
"แพทริค วาลูโจ" (Patrick Walujo) ประธานและซีอีโอแห่ง GoTo Group ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลงทุน Northstar Group เปิดเผยในงาน The World's Next Opportunity and Beyond ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี หรือ MFC ร่วมกับเนชั่นกรุ๊ป เมื่อวันที่ 14 มี.ค.68 ว่า เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และประเทศไทยควรจะต้องมี Technology Ecosystem ที่แข็งแรงเพื่อให้สามารถแข่งขันได้และรองรับโอกาสในอนาคต
"ในมุมมองของผมไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซียหรือว่าประเทศไทยเอง ควรจะต้องมี Tech local ecosystem ที่แข็งแรง การที่เรามีเทคอีโคซิสเต็มในประเทศทำให้สามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเข้ามาทำงานด้วยได้ แล้วก็จะเอาคนเก่งๆ เหล่านี้มาคอยเทรนคนในประเทศของเราเองให้มีทักษะและเก่งขึ้นได้ ถ้าเรามีอีโคซิสเต็มที่ดี เราจะดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาได้ และคนเหล่านี้จะช่วยให้คนไทยเก่งขึ้น" ซีอีโอแห่งโกทู กรุ๊ป และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลงทุน Northstar Group กล่าว
Goto Group ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียและเป็นบิ๊กเทคระดับภูมิภาค จึงมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆ ประเทศ เข้ามาช่วยเทรนคน มีการสร้างโมเดลภาษาขนาดใหญ่ หรือ LLM บนระบบโอเพ่นซอส และขอความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งสื่อที่เป็นผู้กุมคอนเทนต์ มหาวิทยาลัย จนถึงรัฐบาลให้ทุกคนเข้ามาช่วยกันในการสร้างโมเดล LLM นี้ ซึ่งจากนั้นก็จะมีโครงการต่างๆ ตามออกมา เช่น AI center ซึ่งนับเป็นความร่วมมือและตัวอย่างในการสร้างอีโคซิสเต็มของเพื่อนบ้านอินโดนีเซีย
ปัจจุบัน Goto Group มีผู้ใช้งานประมาณ 35 ล้านคนต่อเดือน มีบริการหลายแขนงตั้งแต่การส่งเดลิเวอรี่ บริการชำระเงิน และมีความร่วมมือกับ TiktokShop และมีแผนที่จะสร้างโมเดล LLM ขึ้นมา เพราะวาลูโจเชื่อว่าสำหรับธุรกิจของตน สิ่งที่เป็นบริบทของท้องถิ่น (local context) เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการแปลภาษาหรือนำข้อมูลท้องถิ่นไปเรียนรู้สำหรับเอไอ ซึ่งปัจจุบันทางบริษัทกำลังทำงานกับสิงคโปร์ และมีการเปิดตัว LLM ที่มีประมาณ 7 พันล้านพารามิเตอร์ และในเดือนหน้าจะมีการเปิดตัวโมเดลขนาดประมาณ 7.2 หมื่นล้านพารามิเตอร์ นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับ Deepseek จากจีน ซึ่งคาดว่าจะมีการพัฒนาเรียนรู้ในประมาณ 3 เดือน
สิ่งที่สำคัญกว่านั้นข้อที่สองก็คือ จะต้องสร้างผู้นำองค์กรในอนาคตที่เข้าใจเอไออย่างแท้จริง รวมถึงเรื่องการใช้งานเอไอ ต้องสร้างบุคคลากรของเราให้มีทักษะในด้านนี้โดยไม่ได้มองแค่ในระยะสั้น แต่จะต้องมองในระยะยาวด้วย ในภาษาท้องถิ่นของเรา ต้องเป็นการเล่นในระยะยาวและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
วาลูโจยังได้ถอดบทเรียนของ Goto Group ซึ่งเป็นบิ๊กเทคระดับภูมิภาคจากการรวมตัวกันของ Gojek และ Tokopedia ในงานสัมมนาด้วยว่า ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไม่มีเทคทาเลนต์ในอินโดนีเซียมากพอ จึงไปสร้างเทคเซ็นเตอร์ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งปัจจุบันในในอินเดียทั้งหมด 4 แห่ง รวมถึงบังกาลอว์และนิวเดลี ซึ่งมีวิศวกรประมาณ 1,000 คน นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเทคเซนเตอร์ที่เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เฉิงตู หางโจว ในจีน
แต่ในระหว่างสิบปีมานี้อินโดนีเซียก็มีเทคทาเลนต์รุ่นใหม่ๆ ในจาการ์ตาแล้ว ทำให้สามารถหาวิศวกรได้จากในประเทศเองแล้ว โดยเฉพาะเทคทาเลนต์ที่ยังอายุไม่มาก และด้วยความที่ตลาดต้องการคนกลุ่มนี้เยอะ ทำให้เป็นอาชีพที่ค่าตอบแทนสูง สามารถดึงดูดคนให้อยากจะเข้ามาทำอาชีพนี้ได้มากขึ้น และสามารถดึงดูดนักลงทุนได้
ส่วนคำถามว่าทางเลนต์ในอินโดนีเซียขณะนี้พร้อมแล้วหรือยังที่จะไปต่อให้ทันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซีอีโอ Goto Group ยอมรับว่าเป็นคำถามที่ไม่รู้คำตอบเหมือนกัน แต่ถ้าเราไม่พยายามก่อน เราก็จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเราพร้อมหรือไม่พร้อม ซึ่งก็ต้องทำงานกับผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก
"ผมว่าในประเทศไทยก็อาจคล้ายกับอินโดนีเซีย สำหรับในบริบทของประเทศ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเมื่อเข้ามาก็อาจจะไม่ได้เข้าใจในบริบทของท้องถิ่นเท่าไร ดังนั้น บุคลากรในประเทศก็จะมีความได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากรัฐบาล มหาวิทยาลัย เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถหาได้จากอินเตอร์เน็ต ผมคิดว่าตรงนี้เป็นทรัพย์สิน หรือสินทรัพย์ของประเทศเราเลย ที่มีแค่คนในประเทศของเราเองที่จะสามารถเข้าถึงความรู้และชุดข้อมูล ดังนั้นผมคิดว่าเรามีโอกาสในการพัฒนาได้ดี"
ความสำเร็จของบริษัทเทคโนโลยีในอินโดนีเซีย มาจากการที่ต้องการขึ้นเป็น "ผู้เล่นรายใหญ่ในภูมิภาค" วาลูโจกล่าวว่าบริษัทของตนเองในขณะนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้เล่นเบอร์ 2 แต่ก็ยังไม่ได้มีมาร์เก็ตแชร์ใหญ่เท่าไรนัก มาร์เก็ตแชร์ของบริษัทค่อยๆ เติบโตตามมา
"ทว่าสิ่งที่ค้นพบและได้เรียนรู้ก็คือ 'เทคโนโลยีของเรายังล้าหลังกว่าคู่แข่งจากจีน' พวกเขามีทาเลนต์ที่มีความสามารถมากกว่า มีเงินทุนเยอะกว่า ออกโปรโมชั่นจัดเต็มได้มากกว่า เราจึงตัดสินใจว่าแทนที่จะแข่งขันกับเขา เราจึงหันไปจับมือกับ TiktokShop เลยดีกว่า การทำงานร่วมกันทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการเป็นพาร์ทเนอร์ชิประหว่างกัน ได้เรียนรู้จะสร้าง tech capabilities ที่มีความสามารถได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากคู่แข่งชาวจีน จะเห็นว่าการพัฒนาโครงสร้างราคาต่างๆ ทำอย่างไรให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด และทำให้สามารถขยายสเกลได้
การจะไปถึงจุดนั้น เราต้องทำให้ตลาดหลัก หรือ core market ของเราเข้มแข็งก่อน ทำให้สมรรถนะหลักแข็งแรงก่อนที่จะขยายไปสู่ภูมิภาค ในความเป็นจริง ณ ปัจจุบันเราไม่สามารถแข่งขันกับผู้เล่นระดับโลกได้ แต่เราจะแข่งขันในเรื่องของความแข็งแรง เริ่มจากระดับท้องถิ่นก่อน"
ส่วนคำถามว่าอยากจะเห็นอะไรเกิดขึ้นใน 1 ปีหลังจากนี้ วาลูโจมองว่าภายใต้บริบทของตนเอง คาดหวังว่าจะสามารถสร้าง "โครงสร้างพื้นฐานเอไอ" ที่สามารถแข่งขันได้ โดยมีความสามารถด้านการแข่งขัน ด้านคอมพิวติ้ง และควรจะมีวิสัยทัศน์ระยะยาวและการวางแผนล่วงหน้า โดยเฉพาะเรื่องการนำเอไอไปใช้ประโยชน์จริง
"อย่างที่อินโดนีเซีย กำลังมีการสร้างผู้ช่วยดิจิทัลด้านการแพทย์อยู่ และพยายามศึกษาว่าจะสามารถสร้าง AI agent ให้กับชาวไร่ชาวนาได้หรือไม่อย่างไร เรากำลังศึกษาว่าจะนำเอไอมาใช้ประโยชน์ช่วยหลายๆ อาชีพได้อย่างไร ช่วยบริษัทต่างๆ ได้อย่างไร ซึ่งขณะนี้มีการทำงานร่วมกับบริษัทในสหรัฐ ยุโรป และจีน ซึ่งเราหวังว่าจะทำให้โปรเจกต์หลายๆ อย่างสำเร็จได้"