"ส.ว." เบนเป้า "ก้าวไกล" ปะทะ “ด้อมส้ม”
เกมกดดันของ "ด้อมส้ม" ถึง "ส.ว." เพื่อหวังฝ่าด่าน "ขวาง" โหวต "พิธา" นายกฯ ทำให้ "ส.ว." ประเมินว่า ควรสงบปากสงบคำ เพื่อเบนเป้า "ปะทะ" ให้ “ก้าวไกล”ไปเคลียร์กับ "มวลชน-ด้อมส้ม” กันเอง ในหลายประเด็นต่อจากนี้
11 วันหลังเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลของ “พรรคก้าวไกล” โยง “ส.ว.” อยู่ในสมการ เนื่องด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลเขียนให้เสียง 250 ส.ว. มีส่วนต่อการกำหนดเกมขึ้นสู่บัลลังก์ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” ที่ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”
จากที่ ส.ว.แสดงความเห็นไม่ยอมรับ “ก้าวไกล-พิธา” เพราะปมการแก้ไขมาตรา 112 และการรื้อระบบ “ขั้วอนุรักษนิยม” ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ล่าแม่มด” ในโลกออนไลน์ รวมถึงขั้นแสดงพลังชุมนุมหน้ารัฐสภา เพื่อหวังกดดันให้ ส.ว. 250 คน โหวต “พิธา” เป็นนายกฯ โดยระบุว่าเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนที่แสดงออกในวันเลือกตั้ง
แน่นอนว่า “ก้าวไกล” เป็นผู้ชนะเลือกตั้ง กวาดเสียง ส.ส. 151 คนเข้าสภาฯ และครองสถานะเป็นพรรคอันดับหนึ่งที่ได้ “จัดตั้งรัฐบาล” ก่อน
เมื่อมองเป้าหมายดันพิธาเป็นนายกฯ ที่ต้องใช้เสียง 376 เสียงของสมาชิกรัฐสภา คือ 700 เสียง แบ่งเป็น ส.ว. 250 คน ส.ว. 500 คน กับจำนวนเสียง 8 พรรคร่วมรัฐบาล ที่มี 312 เสียง ยังเหลือช่องว่างอีก 54 เสียง
แม้พรรคเล็กที่ฝ่าด่านเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ-หารร้อย 4 พรรค ทั้ง “พรรคครูไทยเพื่อประชาชน-พรรคใหม่-พรรคประชาธิปไตยใหม่-พรรคท้องที่ไทย” จะประกาศหนุนเสียงข้างมาก และพร้อมเติมเต็มช่องว่างให้อีก 4 เสียง โดยไม่หวังตำแหน่ง หรือได้อยู่ร่วมรัฐบาล แต่ระยะทางของบันได นายกฯ พิธา กับ ด่านเสียง ส.ว. ก็ยังห่างอีก 50 เสียง
สำหรับท่าทีของ ส.ว. ช่วง 7 วันหลังเลือกตั้ง พบว่ามี 18 ส.ว.ที่ประกาศสนับสนุน “คนของเสียงข้างมาก” เป็นนายกฯ ทั้งนี้มีเพียง 3 คนประกาศชื่อชัดเจนว่าคนคนนั้นคือพิธา ประกอบด้วย ภัทรา วรามิตร ส.ว.สายคัดสรร จ.กาฬสินธุ์, ประภาศรี สุฉันทบุตร ส.ว.สายคัดสรร จ.ยโสธร และพีรศักดิ์ พอจิต ส.ว.สายสรรหา จ.อุตรดิตถ์
ส่วน ส.ว.กลุ่มใหญ่ ที่เป็นสายบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เตรียมหารืออย่างไม่เป็นทางการ เพื่อประเมินสถานการณ์และทิศทางการเมือง รวมถึงหาเหตุผลที่จะ “โหวต-ไม่โหวต” ให้ “พิธา” เป็นนายกฯ ในสัปดาห์นี้
ล่าสุด ส.ว.ได้ถูกแตะเบรก งดการหารือ งดให้สัมภาษณ์ หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อการจัดตั้งรัฐบาล และเอ็มโอยู 8 พรรค รวมไปถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล
เพื่อหยุดกระแสโจมตีจาก “ด้อมส้ม” ที่ส่งผลมาถึง “สภาสูง” ซึ่งอาจถูกโยงไปยัง “บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่” ที่สวมมาดนิ่งตั้งแต่หลังวันเลือกตั้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีใดๆ เพราะยิ่งเคลื่อนไหวยิ่งถูกดันหลังให้เผชิญหน้ากับประชาชน ทั้งที่เกมการเมืองตอนนี้ ควรจับจ้องไปที่ “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” ที่กำลังขบเหลี่ยม เฉือนคม จนต้องลุ้นว่าจะลงรอยกันได้หรือไม่
ใน “วงกาแฟ” ก่อนการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เมื่อ 23 พ.ค. มี “ส.ว.” บางคนตั้งหัวข้อสนทนา และพุ่งตรงไปยัง ส.ว.ที่ประกาศจุดยืนไปว่า “คนที่บอกว่าเลือกพิธาเป็นนายกฯ แต่หากพรรคก้าวไกลเดินไปไม่ได้ และต้องเปลี่ยนมือให้พรรคเพื่อไทยทำแทน คนที่ออกตัวไปแล้วจะโหวตอย่างไร?”
พร้อมกับยกตัวอย่างว่า “เกมจัดตั้งรัฐบาลตอนนี้ยังต้องเจอเกมต่อรองสุดเขี้ยว และไม่แน่ว่าสมการตั้งรัฐบาลที่ต้องใช้เสียง ส.ว. เอาเข้าจริง หากเกิดกรณีเปลี่ยนมือแกนนำตั้งรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียง ส.ว.อีกต่อไป”
โดยผู้ที่อยู่ร่วมวงแสดงท่าทีอึกอัก แต่ก็หัวเราะร่วนไปกับการวิเคราะห์ของเพื่อน ส.ว. ก่อนจะเป็นข้อสรุปร่วมกันว่า “เหลือเวลาอีก 2 เดือน กว่าที่จะถึงคิว ส.ว. ตอนนี้ควรงดการแสดงความเห็นใดๆ ไว้ก่อนดีที่สุด”
พร้อมกับประเมินว่า “ก้าวไกล” หลังจากนี้จะเผชิญหน้ากับมวลชนของตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่เอ็มโอยู ไม่มีเรื่องที่ต้องการผลักดันเป็นพิเศษ ทั้งแก้มาตรา 112 หรือนิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมือง
ดังนั้นหาก ส.ว.สงบปากสงบคำ เหมือนกับ "2 ป.” กระแสย่อมจะตีกลับไปที่ “ก้าวไกล” และ “มวลชน-ด้อมส้ม” ที่ต้องไปเคลียร์กันเอง ในหลายประเด็นต่อจากนี้
โดยมีมุมประเมินด้วยว่า “ด้อมส้ม” จะได้เห็นธาตุแท้ผู้นำก้าวไกล ที่สุดท้ายต้องการ “ได้ชัยชนะเพื่อตัวเอง” มากกว่า “มุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม-คนทั้งประเทศ”.