‘ส่วยรถบรรทุก’ ปัญหาเรื้อรังทางหลวงไทยนานหลายสิบปี

‘ส่วยรถบรรทุก’ ปัญหาเรื้อรังทางหลวงไทยนานหลายสิบปี

ปัจจุบัน “ส่วยรถบรรทุก” กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังมีการเผยแพร่ “ค่าผ่านทาง” รายเดือนในรูปแบบ “ส่วยสติ๊กเกอร์” ทำให้รถบรรทุกผิดกฎหมายอาจไม่ได้รับการตรวจสอบ

Key Points:

  • สติ๊กเกอร์รูปพระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของส่วยสติ๊กเกอร์ ที่รถบรรทุกบางคันยอมจ่ายเป็นรายเดือนเพื่อไม่ให้ถูกเรียกตรวจสอบ
  • ผลกระทบจากการเก็บ “ส่วยรถบรรทุก” นั้น ไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องเงินผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ถนนเสียหายอีกด้วย เนื่องจากหากมีรถบรรทุกน้ำหนักเกิน (ที่ไม่ถูกตรวจเช็กน้ำหนัก) วิ่งบนถนนบ่อยๆ จะทำให้ถนนเสียหายเร็วขึ้น
  • สติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุกนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานมากกว่า 30 ปี และยังไม่ได้รับการแก้ไขจริงจัง

สติ๊กเกอร์รูปการ์ตูนหลายรูปแบบ โดยเฉพาะรูป “พระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง” ที่ติดอยู่กระจกหน้ารถบรรทุก หากมองเพียงผิวเผินหลายคนอาจคิดว่าเป็นการติดสติ๊กเกอร์เพื่อความสวยงาม แต่ความจริงแล้วสติ๊กเกอร์บางรูปแบบถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึง “ค่าผ่านทางพิเศษ” หรือที่เรียกกันว่า “ส่วยรถบรรทุก” หรือ “ส่วยสติ๊กเกอร์” ที่จะช่วยให้รถบรรทุกเหล่านั้นไม่โดนเรียกตรวจสอบเมื่อเจอด่านตรวจ หรือหากถูกเรียกก็จะไม่ถูกดำเนินคดี เช่น กรณีบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือกระทำความผิดอื่นๆ

แม้ว่าส่วยรถบรรทุกที่มาในรูปแบบของสติ๊กเกอร์นั้น ดูเหมือนเพิ่งจะได้รับการพูดถึงในโลกออนไลน์เมื่อไม่นานมานี้ แต่รู้หรือไม่? ความจริงแล้วปัญหาดังกล่าวมีมานานกว่า 30 ปี และเกิดขึ้นบนถนนทางหลวงสายหลักทั่วประเทศ และมีรถบรรทุกถึงร้อยละ 20 จากรถทั้งหมดที่ทำผิดกฎหมาย

 

  • ส่วยรถบรรทุกคืออะไร สร้างความเสียหายแค่ไหน

“ส่วยรถบรรทุก” คือ การเหมาจ่ายเงินให้ตำรวจตั้งแต่ต้นทางหรือต้นเดือน เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินตามด่านเมื่อถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจและพบว่ากระทำผิด โดย “นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง” ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เคยให้ภาษณ์ผ่านรายการ 5 อาสาเพื่อประชาชนว่า ปัจจุบันไม่มีการเรียกเก็บเงินรถบรรทุกตามด่านแล้ว เนื่องจากหลายคนเลือกที่จะจ่ายมาตั้งแต่ต้นทางและมีสัญลักษณ์บางอย่างติดไว้ที่หน้ารถ เช่น สติ๊กเกอร์ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินหรือตรวจสอบ

จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในวงจรส่วยเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจพบว่า รถบรรทุกในไทยมีทั้งหมดประมาณ 5,500,000 คัน จะมีรถที่ทำผิดกฎหมายมากถึง 20% ทำให้มีเงินผิดกฎหมายสะพัดในระบบหลายร้อยล้านบาท แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเงินเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน

ในฐานะสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์รวมของสมาคมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันให้การขนส่งทางบกมีคุณภาพมากขึ้น จากการดำเนินงานด้านต่างๆ ทำให้พบข้อมูลว่า ประเทศไทยมีเครือข่ายรถบรรทุกทั่วประเทศมากถึง 10 สมาคม และที่ผ่านมาได้รับการแจ้งจากทั่วประเทศว่า พบรถบรรทุกทำผิดกฎหมายในสมาคมเองกว่า 400,000 คัน และอีกประมาณ 1,000,000 คัน ที่ไม่ได้อยู่ในสมาคม

นอกจากนี้ “ผลเสียของการเก็บส่วยรถบรรทุก” ไม่ใช่เพียงแค่การเกิดขึ้นของระบบเงินผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังสร้างผลเสียให้กับถนนทางหลวงทั่วประเทศที่มีระยะทางกว่า 100,000 กม. เพราะเมื่อมีรถบรรทุกน้ำหนักเกินวิ่งบนถนนเป็นเวลานาน ทำให้ถนนเกิดความเสียหายโดยเฉพาะช่องทางซ้ายสุด และเมื่อถนนเกิดความเสียหายจนเดินรถไม่สะดวก รถบรรทุกก็จะเปลี่ยนไปวิ่งช่องทางขวาสุดร่วมกับรถประเภทอื่นๆ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุตามมา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ที่สำคัญ.. เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่เรียกตรวจรถบรรทุกที่มีสติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุก จึงทำให้มีการลักลอบขนส่งของผิดกฎหมายได้ง่ายขึ้น

 

  • ปัญหาเรื้อรังกว่า 30 ปี เพราะอะไรส่วยรถบรรทุกจึงไม่หมดไป

ประเด็นของส่วยรถบรรทุกนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเพียงไม่นาน แต่เป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขมานานกว่า 30 ปี ซึ่งนายอภิชาติระบุว่า แม้ที่ผ่านมาจะเคยมีองค์กรต่างๆ ไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้มีการตรวจสอบจริงจังหรือมีการแก้ปัญหาในระยะยาว

ทั้งนี้ ด่านตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกในประเทศไทยมีทั้งหมด 97 ด่าน แต่เมื่อรถบรรทุกทราบว่าจะมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ ก็จะใช้วิธีเลี่ยงไปวิ่งถนนสายรองแทน เช่น วิ่งเลียบคลอง หรือ เส้นทางลัดอื่นๆ ทำให้ถนนเกิดความเสียหาย เพราะถนนเหล่านั้นรับน้ำหนักได้แค่ 21 ตัน ส่วนรถบรรทุกส่วนใหญ่มีน้ำหนักมากถึง 50 ตัน จึงทำให้เกิดผลเสียตามมาในระยะยาวก็คือ มีการปิดซ่อมถนนบ่อยครั้งและเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อการจราจรและธุรกิจท่องเที่ยวในเวลาต่อมา

สำหรับรถบรรทุกที่ทำผิดกฎหมาย ส่วนมากจะเป็นรถที่บรรทุก อิฐ หิน ดิน ทราย และพืชไร่ โดยเฉพาะมันสำปะหลังที่ขนส่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านจนมาถึงแหลมฉบัง ท่ามกลางข้อสงสัยว่ารถบรรทุกเหล่านั้นรอดพ้นด่านตรวจมาตั้งแต่ต้นทางได้อย่างไร

แม้ว่าทางสหพันธ์ฯ จะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้มานานแล้ว แต่ปัจจุบันกลับพบว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลกวดขันให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการดูแลเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยระดับปฏิบัติการ ให้มีสวัสดิการที่ดีเพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเก็บส่วยจากประชาชน และนอกจากจะเอาผิดกับคนขับรถบรรทุกแล้ว ควรเอาผิดบริษัทขนส่งที่เป็นต้นทางการจ่ายส่วยรถบรรทุกด้วย

-------------------------------

อ้างอิงข้อมูล : รายการ 5 อาสาเพื่อประชาชน