5 ช่องทางร้องเรียน "ส่วยทางหลวง" ผบ.ตร. สั่งเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง
ผบ.ตร. สั่ง จเรตำรวจ ประสานข้อมูลสอบสวนกลาง เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี 'ส่วยทางหลวง" รับแจ้งข้อมูลจากประชาชน 5 ช่องทาง
วันที่29 พ.ค.66 พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า “กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการติดสติ๊กเกอร์รถบรรทุก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ามีการจ่ายเงินเจ้าหน้าที่เพื่อให้รถบรรทุกสามารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ หรือเป็นลักษณะ “ส่วยรถบรรทุก” ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตรได้สั่งการให้จเรตำรวจ ลงตรวจสอบกรณีดังกล่าวโดยเร่งด่วน ว่ามีข้าราชการตำรวจหน่วยใด กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร พร้อมให้รายงานกลับมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเร็ว โดยให้ประสานข้อมูลกับทางตำรวจสอบสวนกลาง ตรวจสอบหน่วยงานในสังกัดอีกทางหนึ่ง พร้อมรับข้อมูลจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนทุกช่องทาง
ผบ.ตร. ได้กำชับให้ตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา หากพบว่ามีข้าราชการตำรวจหรือบุคคลใดทุจริตในเรื่องดังกล่าว หรือเข้าไปเกี่ยวข้องในการกระทำผิดกฎหมาย หรือให้การช่วยเหลือ สนับสนุน ปล่อยปละละเลย ให้สืบสวนรวบรวมหลักฐานตามอำนาจหน้าที่ แล้วรายงานข้อเท็จจริงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาดำเนินการต่อไป หากพบว่าเกี่ยวข้องกับผู้ใด จะดำเนินการตามกระบวนการ ทั้งทางวินัย อาญา และปกครอง อย่างเด็ดขาดตามนโยบายด้วย”
นอกจากนี้ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า “ผบ.ตร. ได้กำชับการปฏิบัติของตำรวจที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ให้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ บังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่รถบรรทุกที่กระทำผิดกฎหมาย และได้สั่งการเพิ่มเติมว่า พร้อมที่จะรับฟังข้อมูล พยานหลักฐาน เอกสารการร้องเรียนจากทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินการกับขบวนการส่วยรถบรรทุกอย่างเด็ดขาด โดยสามารถแจ้งข้อมูลมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง หมายเลข 1599 หรือ จเรตำรวจ ผ่านระบบ JCOMS
หรือแจ้งร้องเรียนเพิ่มเติมตามช่องทาง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 43 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 ต.ค.65 ในการร้องเรียนข้าราชการตำรวจประพฤติมิชอบ หรือได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของตำรวจ หรือเห็นว่าตำรวจประพฤติไม่เหมาะสม เสื่อมเสียเกียรติของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ สามารถทำหนังสือร้องเรียน แจ้งไปยังคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้
1)ผู้ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกันคัดเลือกหนึ่งคน
2)ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือเทียบเท่าขึ้นไป และได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการข้าราชการตุลาการหนึ่งคน
3)ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งระดับอัยการพิเศษฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไป และได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการอัยการหนึ่งคน
4)ผู้ซึ่งเคยรับราชการตำรวจระดับผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าขึ้นไปจำนวน 3 คน ที่ผ่านการคัดเลือกของ ก.ตร.
5)ทนายความซึ่งประกอบวิชาชีพทนายความมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งสภาทนายความคัดเลือกมาหนึ่งคน
6)ผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลจำนวนสองคน ซึ่งที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนฯคัดเลือก โดยให้อย่างน้อยหนึ่งคนเป็นสตรี คณะกรรมการ ก.ร.ตร. จะมีจเรตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขาฯ
โดยเมื่อได้รับเรื่องแล้ว ก.ร.ตร.จะพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริง หากพบเป็นความผิดวินัยจะส่งให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษโดยเร็ว โดยไม่ต้องสืบสวนสอบสวนอีก แต่หากพบว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่จะส่งให้ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท.แล้วแต่กรณีดำเนินการต่อไป
การร้องเรียนผ่าน ก.ร.ตร.จะเกิดความเป็นธรรม โปร่งใสในการตรวจสอบ ให้กับประชาชนตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ โดยสามารถร้องเรียนได้ 5 ช่องทางด้วยกัน
- ผ่านระบบ JCOMS รับร้องเรียนจเรตำรวจทางออนไลน์ jcoms.police.
- สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599
- ร้องเรียนด้วยตนเองที่สำนักงานจเรตำรวจ ที่อยู่ 701/701 ถ.รามอินทรา แขวงท่าแร้ง บางเขน กรุงเทพมหานคร 10220 โทร.025098798
- ส่งหนังสือมาถึง “ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานจเรตำรวจ เลขที่ 701/701 ถ.รามอินทรา แขวงท่าแร้ง บางเขน กรุงเทพมหานคร 10220”
- ร้องเรียนกับผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดหน่วยโดยตรง
ทั้งนี้จเรตำรวจในฐานะเลขา ก.ร.ตร.จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป”