“นิพัทธิ์ ทองเล็ก” มือปราบคณะปฏิวัติ “พี่คือทหารเสือฯตัวจริง”
หาก 7 พรรคการเมืองสามารถจัดตั้งรัฐบาลประสบความสำเร็จ “พล.อ.นิพัทธ์”น่าจะมีชื่อปรากฏอยู่ในตำแหน่งสำคัญ ที่จะเข้ามากำกับดูแลกองทัพ เพราะคนในกระทรวงกลาโหม และทหารด้วยกันเอง ก็โอเคกับชื่อนี้
"บิ๊กแป๊ะ" พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ทหารในก๊วน “ผบ.เหล่าทัพ” เพียงหนึ่งเดียวที่เลือกยืนเคียงข้าง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนวินาทีสุดท้ายก่อนถูกรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ส่งผลให้ถูกเด้งจากเก้าอี้ที่นั่งได้เพียง 7 เดือนไปตบยุงที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบัน “บิ๊กแป๊ะ” เป็นที่ปรึกษา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้รับมอบหมายดูความเรียบร้อย 437 โรงเรียน กทม.ครอบคลุมนักเรียน 250,000 คน พร้อมออกแนวทางแก้ไขปัญหาเครื่องแบบนักเรียน ชุดลูกเสือ ชุดเนตรนารี ยุวกาชาด ชุดพละ โดยมีนโยบายแจกเครื่องแบบปีละชุด พร้อมมาตรการผ่อนปรนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ปกครอง
ชื่อ “บิ๊กแป๊ะ”ถูกจับตาว่า จะได้นั่งเก้าอี้ “รมว.กลาโหม” ในฐานะทหารฝ่ายประชาธิปไตย หากการจัดตั้งรัฐบาลสูตรผสม 7 พรรคเมือง ที่มี “ก้าวไกล-เพื่อไทย” เป็นแกนนำสำคัญประสบความสำเร็จ เพื่อให้เข้ามากำกับดูแล ผลักดันการปฏิรูปกองทัพให้เห็นเป็นรูปธรรมตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล
เพราะหากพลิกปูม “บิ๊กแป๊ะ” พบว่า เป็นเพื่อนรักเตรียมทหารรุ่น 14 (ตท.14) กับ “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ. และเติบโตจาก ร.21 รอ. ทหารเสือราชินี รุ่นน้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อีกทั้งยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทหารในกองทัพ ยึดทางสายกลางในการทำงาน ไม่สุดโต่ง หรือ หย่อนจนเกินไป
“ทุกอย่างมันเป็นเพียงข่าว ที่นักข่าวเอาไปเขียนกัน แล้วคุณชัชชาติอ่านเจอ ก็เอามาแซวผม ท่านก็บอกว่าหากจริงก็เป็นเรื่องดี แต่ทุกวันนี้ไม่มีการทาบทามอะไรมา ผมก็ยังช่วยคุณชัชชาติ ดูแลความเรียบร้อยโรงเรียนสังกัด กทม. ส่วนในอนาคตหากมีการทาบทามมา คุณชัชชาติไฟเขียว ท่านบอกประมาณนั้น ” พล.อ.นิพัทธ์ ระบุ
ต้องยอมรับว่า “บิ๊กแป๊ะ” เป็นทหารได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารปี 2557 ไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลเพื่อไทย เพราะนอกจากจะถูกปรับย้ายออกจากเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหมแล้ว ยังถูกโดดเดี่ยวจากคนในกองทัพ ไปสมัครทำงานที่ไหนล้วนถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ถูกมองเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจในขณะนั้น
“พี่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารเมื่อ 9 ปีที่แล้ว หลังยึดอำนาจเป็นที่ 22 พฤษภาคม 2557 พี่ถูกปลดวันที่ 24 พฤษภาคม ก็พอจะนึกภาพออกว่า คงร่างคำสั่งเอาไว้แล้ว ก่อนยึดอำนาจ พี่เป็นทหารที่โดนคนเดียวเลย แต่ก็ยอมรับ ในเมื่อถูกมองว่าผิด พี่ก็อยู่เงียบๆ มาตลอด ตอนนั้นพี่เหมือนพระเอกในภาพยนตร์ Home alone ไปไหน ไม่มีใครคบ ไปสมัครงานในตำแหน่งคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ไม่มีคนรับ มีแต่คุณชัชชาติ ดึงพี่มาช่วยงาน” พล.อ.นิพัทธ์ ระบุ
ช่วงเกิดเหตุความวุ่นวายทางการเมือง ก่อนจะนำมาซึ่งการรัฐประหาร “บิ๊กแป๊ะ” ใช้กลไกที่มีอยู่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม แม้จะไม่มีกำลังหลักอยู่ในมือ แต่สามารถเป็นแบ็กให้ นายกฯยิ่งลักษณ์ ที่ควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม บริหารราชการแผ่นดิน ท่ามกลางแรงกดดันกลุ่มผู้ชุมนุม เคลื่อนขบวนปิดล้อมสถานที่ราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม
“บิ๊กแป๊ะ” เดินหน้าเจรจากับแกนนำที่ขนมวลชนที่มาปิดล้อมกระทรวงกลาโหม พร้อมยืนยันหนักแน่น ไม่ยอมปิดกระทรวงกลาโหม หน่วยงานความมั่นคง เพราะไม่สามารถหยุดทำงานตามคำเรียกร้องของผู้ชุมนุม พร้อมแสดงจุดยืนชัดเจน ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว จนถูกแกนนำม็อบหมายหัว ว่าไม่ให้ความร่วมมือ
ท่าทีของ “บิ๊กแป๊ะ” ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ถูกขนานนามว่าเป็น ทหารฝ่ายประชาธิปไตย เพราะนอกจากทำหน้าที่ดูแลรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจนสุดความสามารถแล้ว ยังเป็นทหารเพียงหนึ่งเดียวที่กล้าเสนอทางออกนำพาประเทศออกจากวิกฤติการเมืองในขณะนั้นด้วยการเลือกตั้ง
พล.อ.นิพัทธ์ ระบุว่า เรื่องนี้ต้องย้อนไป ก่อนที่จะเกิดเหตุรัฐประหาร ช่วงนั้น นายกฯยิ่งลักษณ์ ได้จัดให้มีการพูดคุยหลังยุบสภา ว่าเราจะมีการปฏิรูปประเทศอย่างไร มีการจัดเวทีใหญ่ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ มีผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วม ฝ่ายการเมือง กองทัพ เสื้อแดง เสื้อเหลือง เสื้อหลากสี เพื่อหารือว่าบ้านเมืองควรไปทางไหนกัน มีการเสนอให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง บางฝ่ายก็เสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ พิธีกรขณะนั้นคือ นายธงทอง จันทรางศุ ขอความเห็นฝ่ายทหาร ตอนนั้นมี พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สูงสุด พล.อ.อัษฎา เกิดผล เสนาธิการทหารบก และผู้แทนกองทัพเรือ กองทัพอากาศ ส่วนตนปลัดกระทรวงกลาโหม ได้พูดขึ้นว่า
“สิ่งที่จะทำให้บ้านเมืองเดินได้ต่อไปก็คือ การจัดให้มีการเลือกตั้ง นี่เป็นประโยคที่ทำให้คนทั้งห้องตบมือกันเกรียวกราวในวันนั้น ไปพร้อมๆ กับการที่พี่ได้ศัตรูกลับมามหาศาลเช่นกัน”
สำหรับ พล.อ.นิพัทธ์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 14 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 25 หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 65 และยังสำเร็จหลักสูตรทางการทหารจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐ รวมถึงปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต(การจัดการ) จากมหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์
เริ่มชีวิตราชการทหารในตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ต่อมาได้ปรับย้ายเป็น ผู้บังคับกองร้อยฝึก ร.21 พัน.3 รอ. ปฏิบัติการตามแผนป้องกันประเทศ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี
โดยในช่วงที่เกิดเหตุกบฏเมษาฮาวาย ซึ่ง พล.อ. นิพัทธ์ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ได้รับคำสั่งให้นำกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษ เข้าควบคุมตัว พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายก่อการยึดอำนาจ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
“พี่เป็นทหารเสือราชินีตัวจริง เคยเป็นหัวหน้าชุด ไปควบคุมตัว พ.อ.ประจักษ์ และนายทหารที่ก่อการยึดอำนาจ พล.อ.เปรม เมื่อปี 2524 คณะ จปร. ยังเติร์ก สั่งยึดอำนาจวันที่ 1 เมษายน 2524 พี่เป็นทหารเสือราชินีและกำลังฝึกอยู่ยศร้อยโท ถูกสั่งให้นำชุดปฏิบัติการพิเศษ ที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี เข้ามากรุงเทพฯ พี่ก็รับอาสาที่จะบุกเข้าไปจับตัว พ.อ.ประจักษ์ นั่นคือผลงานในสมัยที่มียศเป็นร้อยโท สถานการณ์จึงยุติลง อย่าเรียกว่าพี่เป็นทหารประชาธิปไตยเลย เพียงแต่รู้จักหน้าที่ว่าเราต้องทำอะไร อะไรถูก หรืออะไรผิด” พล.อ.นิพัทธ์ ระบุ พร้อมพูดถึงรุ่นพี่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะทหารเสือราชินีด้วยกันว่า
“แทบจะไม่ได้คุยอะไรกันเลยตั้งแต่รัฐประหาร เราต้องรู้ตัวว่า เราเป็นใคร ทุกคนก็รุมเกลียด คนที่เป็นแพ้ ก็คือคนผิด ไม่มีใครคบหาด้วย ก็อยู่เงียบๆ ไปสมัครทำงานหลายที่ในคณะกรรมการตำแหน่งต่างๆ ก็ไม่มีใครรับ ก็มีท่านชัชชาติเปิดโอกาสให้ ที่ทำงาน”
นอกจากนี้ พล.อ.นิพัทธ์ ยังมีผลงานสำคัญ เป็นแกนนำเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งในภาคใต้กับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ เป็นคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(จีบีซี) เพื่อเป็นทูตสันติภาพในการเจรจากับกัมพูชา กรณีข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร อุปทูตพิเศษที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี เดินทางไปประเทศเมียนมาในวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 และ มีบทบาทในการเจรจาสงบศึกที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย
นับจากนี้ หาก 7 พรรคการเมืองสามารถจัดตั้งรัฐบาลประสบความสำเร็จ “พล.อ.นิพัทธ์”น่าจะมีชื่อปรากฏอยู่ในตำแหน่งสำคัญ ที่จะเข้ามากำกับดูแลกองทัพ เพราะคนในกระทรวงกลาโหม และทหารด้วยกันเอง ก็โอเคกับชื่อนี้