ผ่าปมร้อนคดีหุ้นไอทีวี ‘พิธา’ อ้างเป็นผู้จัดการมรดกรอดยาก
‘รศ.ดร.ณรงค์เดช-เรืองไกร’ ให้สัมภาษณ์รายการ ‘คมชัดลึก’ ชำแหละปมร้อนคดีหุ้นสื่อ ‘ไอทีวี’ ของ ‘พิธา’ ชี้อ้างเป็นผู้จัดการมรดกรอดยาก หากศาล รธน.วินิจฉัยให้พ้น ส.ส. ต้องกระเด็นจากเก้าอี้หัวหน้าพรรคด้วย
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 รายการ “คมชัดลึก” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ “เนชั่นทีวี 22” ดำเนินรายการโดยนายวราวิทย์ ฉิมพลี สัมภาษณ์ รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถึงกรณีการยื่นตรวจสอบการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อาจเข้าข่ายขัดคุณสมบัติสมัครเป็น ส.ส. และการไต่เต้าขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่
โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า การฟังพยานหลักฐานใน กกต.ก็ดีในศาลก็ดี เรายังเห็นข้อเท็จจริงไม่ทั้งหมด แต่หลายคนอาจจะออกความเห็นว่ากันไป แต่สิ่งที่ผมต้องการขอให้ กกต.ไต่สวนให้รอบด้าน ไต่สวนให้ถึงปัจจุบันทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องต้องยืนยันว่าไม่ได้เอาข้อความอันเป็นเท็จมาร้องกล่าวหาคนอื่นเขา เพราะมีพวกสู่รู้ไปอธิบายอ่านกฎหมายงู ๆ ปลา ๆ อ้างว่าเป็นคณะกฎหมาย อันนี้หิวแสง ไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่สิ่งที่ให้สาระ คือว่าไปให้ถ้อยคำ กกต.ตรงไปตรงมา และกำหนดประเด็นตามคำร้อง ศาลจะเป็นผู้พิจารณาแล้วตัดสินอย่างไรก็ต้องฟัง
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า เมื่อตอนรัฐธรรมนูญปี 50 การกำหนดคุณสมบัติห้ามถือครองหุ้นเริ่มเมื่อมีสมาชิกสภาพ เริ่มเมื่อเป็นรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี แต่รัฐธรรมนูญปี 60 เริ่มตั้งแต่สมัคร ตั้งแต่ยื่นบัญชีนายกรัฐมนตรีว่าขาดคุณสมบัติ อยากจะเอ่ยนามอีกท่านหนึ่งเป็นอดีต กกต.เป็นผู้ชาย เป็นกรรมาธิการอยู่กับตนก็พูดเยอะแยะ วันนี้อธิบายข้อกฎหมายนี้ผิดได้ยังไง อีกท่านเป็นผู้หญิง ศาสตราจารย์อะไร แต่ไม่ได้จบนิติศาสตร์ก็อธิบายความให้คนสับสน การเป็นนักกฎหมายหรือรัฐศาสตร์เวลาอ่านกฎหมายแปลความกฎหมายต้องแม่น แล้วก็เป็นอาจารย์อ้างตนเป็นผู้รู้พูดบ่อยแต่พูดแล้วไม่รับผิดชอบ อดีต กกต.ท่านนี้ตอนทักท้วงเรื่องงบประมาณปี 65 ไม่ถึงร้อยละ 20 แต่พอมาปี 66 ไม่ถึง เงียบ รับผิดชอบหรือ ท่านมีสองมาตรฐานหรือ
ส่วนประเด็น สมมติศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายพิธา ขาดคุณสมบัติ จะกระทบต่อตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ รศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวว่า กระทบ เนื่องจากในข้อบังคับของพรรคก้าวไกล มีข้อหนึ่งเขียนไว้ว่า คนที่จะเป็นสมาชิกจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญเขียน ถ้าคุณไม่เป็นสมาชิกคุณก็เป็นหัวหน้าพรรคไม่ได้ แต่หากสมมติศาลวินิจฉัยว่ามีลักษณะต้องห้ามจริง ๆ ไม่กระทบ โดยหลักกฎหมายทั่วไปเขียนรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เขียนโดยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ในมาตรา 19 เขียนใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชน มาตรา 84 เขียนในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 88 ของกรรมการสมาคม บรรดากิจการที่คณะกรรมการของสมาคมได้กระทำไปแม้จะปรากฎภายหลังว่า มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการตั้งหรือคุณสมบัติกรรมการสมาคมกิจการนั้นย่อมสมบูรณ์
เมื่อถามว่า กรณีนี้แปลว่าพรรคการเมือง อะไรที่ทำไปแล้วก็โดยสมบูรณ์เหมือนกัน รศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวว่า จะมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มเช่นสหภาพแรงงาน สมาคมนายจ้าง หอการค้า สหกรณ์ไม่ได้เขียนบทบัญญัติพวกนี้ ก็เกิดปัญหากรรมการสหกรณ์ขาดคุณสมบัติ จะทำให้การทำงานนั้นเสียไปหรือไม่ ก็มีหลักกฎหมายทั่วไปเทียบเคียงกันได้
ขณะที่นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนใช้กฎหมายเฉพาะในการร้อง ไปดูหนังสือได้ ร้องกฎหมายพรรคการเมือง ไม่ได้เอากฎหมายอื่นมาเทียบเคียง พรรคการเมืองเมื่อรับจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กฎหมายเฉพาะมาตรา 24, 25 มีโทษ ร้องด้วยกฎหมายเฉพาะให้ กกต.วินิจฉัย เพราะฉะนั้นไปดูที่กฎหมายหรือดูคำร้อง
“ถ้าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมาย เขียนไว้เฉพาะบัญญัติไว้ชัดเจนเข้าไปดูเจตนารมณ์ ถ้าไม่มีคำจำกัดความที่แน่นอนก็ไปดูพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน เราเข้าใจกฎหมายลายลักษณ์อักษรอยู่แล้ว ถ้าผมเรียนกฎหมายอาจจะเข้าใจมากกว่านะ” นายเรืองไกร กล่าว
ส่วนกรณี ไอทีวี ยังเป็นสื่ออยู่หรือไม่นั้น รศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวว่า การจะดูว่า ไอทีวี ยังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ก็มีแนววินิจฉัยอยู่ ศาลจะไม่ได้ดูเฉพาะหนังสือรับรองบริษัทที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่เขาจะดูเอกสารอื่น ๆ ด้วย สิ่งที่ดูที่สำคัญเลยคือเรื่องงบการเงิน มาดูกรณีไอทีวี เคยประกอบกิจการสื่อจริง ได้รับสัญญาร่วมการงานกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วก็ทำกันมาตลอด แต่ก็มีข้อพิพาทหลายเรื่องนะ หนึ่งในข้อพิพาทล่าสุด คือสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีบอกยกเลิกสัญญาร่วมการงานนั้น เมื่อบอกเลิกสัญญาสิทธิในการออกอากาศของไอทีวีก็จบลง ก็มีการร้องอนุญาโตตุลาการ ตรงนี้ทำให้สิทธิ์ในการออกอากาศของไอทีวี หยุด และไอทีวีก็หยุดประกอบการตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 ตัว ไอทีวีแล้วก็บริษัทลูกด้วย บริษัทลูกของไอทีวี คือบริษัท อาร์ตแวร์ฯ เขาก็หยุดประกอบการ
เมื่อถามว่า หุ้นที่นายพิธาถืออยู่ เป็นหุ้นตัวเองหรือหุ้นกองมรดก อันนี้มีผลในทางกฎหมายต่างกันอย่างไร รศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวว่า ประเด็นนี้นายพิธาสู้ยาก ถ้าเราไปดูข้อ 1 กฎหมายเขามีบทสันนิษฐาน เอกสารสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นเอกสารทางการของบริษัท เขาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้องตามจริงเช่นนั้น ดังนั้นเป็นหน้าที่นายพิธา ถ้าจะสืบว่าไม่ใช่หุ้นของตัวเอง เพราะเอกสารมีชื่อปรากฎผู้ถือหุ้นอยู่แล้ว ไม่ได้วงเล็บด้วยว่าเป็นผู้จัดการมรดก เพราะฉะนั้นก็ถูกข้อสันนิษฐานนี้ 42,000 หุ้น มีปัญหาทับซ้อนกันอยู่
"ประเด็นนี้ผมว่าสู้ยาก เพราะว่าถ้าคุณพิธาครอบครองแทนในฐานะผู้จัดการมรดกสมมติจริง แต่อย่าลืมว่าคุณพิธาเป็นทายาทโดยชอบธรรม ผู้มีสิทธิ์รับมรดกคนหนึ่งของคุณพ่อ ดังนั้นมีสองหมวดที่คาบเกี่ยวกัน แต่ถ้ามองในส่วนที่เป็นทายาทตัวหุ้นอาจจะไม่ถึง 42,000 หุ้นอาจจะน้อยกว่านั้น" รศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าว