"ปิติพงศ์" รับมีอดีตข้าราชการขอคุย ปรับการทำงานรับ MOU รัฐบาลใหม่
"ปิติพงศ์" หัวหน้าพรรคไทยธรรม ยอมรับ มีอดีตข้าราชการหลายส่วน ติดต่อแลกเปลี่นแนวคิด ปรับการทำงานให้เข้า กับ MOU รัฐบาลใหม่
3 มิถุนายน 2566 นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคไทยธรรม 1 ใน 8 พรรคร่วมรัฐบาลใหม่ เปิดเผยกับเนชั่นทีวี ถึงสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาล และสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน เป็นนายกฯว่าตอนนี้เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายที่สำคัญ เนื่องจากรอความชัดเจนกกต. จะต้องรับรองผู้สมัครส.ส. ซึ่งผ่านมากว่า 1 เดือนแล้ว ซึ่งมองว่าถ้ากกต. สามารถที่จะรับรองส.สท่านใดได้ก่อน โดยเฉพาะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งไม่ได้มีปัญหาทางด้านการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ถ้าพร้อมกกต.จะทยอยรับรองส.ส.ออกมา
"ผมเชื่อมั่นว่าเมื่อหลังจากครบเวลาที่กำหนด ก็สามารถที่จะเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อจะดำเนินการเลือกประธานสภาได้ "
ส่วน MOU 8 พรรค ที่หารือกันตอนนี้สามารถเดินต่อไปได้ ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเช่น การคำนวณเสียงส.ว. หรือคุณสมบัติที่มีปัญหากับนายพิธา ในหลายประเด็นก็พยายามแก้ไข
ทั้งนี้พรรคไทยธรรม ยังมั่นใจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นายกัณวีร์ สืบแสง ที่เป็นส.ส.ของพรรคก็ยังยืนยันอยู่ว่าเมื่อเข้าสภาแล้วจะต้องโหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ ตาม MOU โดยรอพรรคใหญ่คุยกันเรื่องตำแหน่งประธานรัฐสภา เมื่อได้ข้อตกลงที่เป็นข้อยุติ เราก็จะสนับสนุนตาม MOU ว่าท่านใดจะเป็นประธานรัฐสภา ซึ่งพรรค 1 เสียงอย่างตนไม่มีปัญหา
ทั้งนี้การเซ็น MOU ร่วมกัน ไม่ใช่แค่มัดตัวพรรคอย่างเดียว แต่มัดใจผู้บริหารพรรคต้องทำงานด้วยกันด้วย ตอนนี้หัวหน้าพรรคแต่ละพรรค ต่างประสานงานกันเยอะ อย่างตนประสานข้อมูลทำงานในส่วนของ MOU นโยบายต่างๆของข้อมูลผู้บริหาร ซึ่งได้รับการติดต่อจากผู้บริหาร อดีตผู้บริหาร ข้าราชการระดับสูง ในการส่งข้อมูลให้ในการเป็นห่วงว่า MOU ที่ออกมาจะทำได้ไหม
"ผมถึงบอก ข้าราชการนี่อย่าตกใจว่าเราเข้าไปทำงานเราจะเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ เราตั้งใจจะไปทำงานกับเขาเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่ถ้าคุณทำงานผิดพลาด อย่างเช่นประเด็นที่เกิดขึ้นเรื่องส่วย มันก็ต้องมีการจัดการให้เป็นระบบ เพราะเราแอนตี้ระบบคอรัปชั่น ในส่วนที่ 2 ในเรื่องของสว. ก็ประสาน ผมก็พูดตรงๆเลยว่าผมทำงานช่วยให้ เพราะมีเรื่อง MOU ผูกมัดที่ทำให้เราต้องทำด้วยกัน ก็ถือว่าเป็นหนึ่งเสียงที่ทำงานเต็มที่เพื่อให้รัฐบาลนายพิธาจัดตั้งเกิดขึ้นให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร "
นายปิติพงศ์ ยืนยันว่าไม่มีการล้วงข้อมูล เป็นการที่เขาเสนอให้ด้วยความเต็มใจ ไม่มีการใช้อำนาจ ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีอำนาจไปเคาะ และบังคับไปให้เขาส่งข้อมูลให้ แต่ระบบราชการในปัจจุบัน ต้องเข้าใจว่า ผู้บริหารที่เกษียณแล้ว หลายท่านก็อาจมีความเห็นตรงกับ MOU ท่านก็รู้ว่าอันนี้มันเกี่ยวข้องประเด็นเดียวกับท่าน
"ผมยกตัวอย่างหลายเรื่อง ไม่เอ่ยชื่อบุคคลต้องขออนุญาตด้วย อย่างเช่น ในส่วนสำนักนายกฯ ท่านอดีตปลัดสำนักนายก ก็คอลมาหาผมติดต่อผมนัดทานข้าว MOU ที่ออก มาเนี่ยภารกิจ 1 2 3 4 5 จะติดตรงนี้ ติดตรงนั้น แล้วก็อีกอย่างท่านผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติเหมือนกันก็โทรมา บอกว่า เราจะปฏิรูปใช่ไหม องค์กรเขาอย่างนั้นอย่างนี้เขานำเสนอ ถามว่าเขามีข้อมูล เขาเพิ่งทำงานเขาเพิ่งเกษียณ และเขามีข้อมูลจากลูกน้องเขาส่งมา รวมถึงกระทรวงกลาโหม ผมรับนะ แต่ยังไม่ถึงเวลาที่ผมจะนำข้อมูลมาเปิดเผย และนำมาใช้ เพราะว่าผมยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ " หัวหน้าพรรคไทยธรรม กล่าว