ภาวะผู้นำแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี | บัณฑิต นิจถาวร

ภาวะผู้นำแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี | บัณฑิต นิจถาวร

อาทิตย์ที่แล้วมี FC ส่งคลิปนายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี สัมภาษณ์พิเศษ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกลมาให้ สัมภาษณ์เรื่องหนทางการเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

ในช่วงสุดท้ายผู้สื่อข่าวถามว่า ภาวะผู้นำของคุณจะเป็นแบบไหนถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรี คุณพิธา ตอบว่า Servant leadership คือภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้ เป็นคําตอบที่ผมแปลกใจและทึ่งมาก

เพราะภาวะผู้นําแบบผู้รับใช้ คือผู้นำที่มองปัญหาคนอื่นใหญ่กว่าตน เป็นสิ่งที่เข้าใจยากและตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับภาวะผู้นำที่สังคมไทยคุ้นเคย คือแบบอํานาจนิยม สั่งการอย่างเดียว

คำถามคือ ภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้จะไปได้ไหมในสังคมไทย นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ช่วงผมบริหารสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี และสอนหลักสูตรประธานบริษัท เราจะเริ่มด้วยคําถามว่าบทบาทประธานบริษัทเป็นผู้นํา (leader) หรือผู้ตามคือผู้รับใช้ในความหมายของ Servant leadership

ประธานบริษัทที่เข้าอบรมส่วนใหญ่จะตอบว่าเป็นผู้นํา มีน้อยคนที่จะตอบว่าเป็นผู้ตาม ซึ่งเข้าใจได้เพราะความหมายของผู้รับใช้หรือผู้ตาม ไม่เข้ากับลักษณะของผู้นําที่สังคมไทยเข้าใจ คือผู้นําต้องนั่งหัวโต๊ะ มีอำนาจ มีบารมีที่จะสั่งการให้คนอื่นทำตาม

แต่เราก็ทราบดี ผู้นำที่มีอำนาจมากสุดก็สามารถเป็นผู้นำที่ล้มเหลวมากสุดได้เช่นกัน เหตุเพราะการใช้อำนาจที่ไม่เที่ยงหรือไม่เป็นธรรม

ภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้ คือปรัชญาผู้นำที่เน้นการช่วยเหลือ การแก้ไขปัญหา และการรับใช้ (serve) ผู้อื่น ไม่ใช่การมีอํานาจและใช้อำนาจเพื่อตนเอง

หมายถึงผู้นําที่ไม่คํานึงถึงตนเอง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มองโลกด้วยความเห็นอกเห็นใจ มีจิตใจอยากช่วยเหลือผู้อื่น

ในโลกธุรกิจเราเห็นผู้นำแบบนี้ในผู้นําที่ให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของลูกน้องหรือทีม เน้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ที่ให้ความสำคัญกับความไว้วางใจ (Trust) การให้อํานาจในการตัดสินใจ (Empowerment) และการทำงานร่วมกัน (Collaboration) เพื่อสร้างบรรยากาศให้ทุกคนในองค์กรเก่งขึ้นและเติบโต

ตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จด้วยผู้นำและวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ก็เช่น Starbucks, PepsiCo, General Motors เป็นต้น

ในทางการเมือง ผู้นำแบบผู้รับใช้จะให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับแรก มุ่งมั่นที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เหนือผลประโยชน์หรือความต้องการของตนเอง

ชอบรับฟังปัญหาความเห็นและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมพูดคุยและทํางานกับผู้อื่น เน้นสร้างฉันทามติที่จะนําไปสู่การตัดสินใจร่วมกันในการแก้ปัญหา ให้ความสําคัญกับความโปร่งใส ความรับผิดรับชอบ (Accountability) และการสื่อสารอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา

มองการเมืองคือ การรับใช้ประชาชน เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันที่ใหญ่กว่า ตัวอย่างนักการเมืองที่เป็นผู้นําแบบนี้ก็เช่น

อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้มุ่งมั่นทําเพื่อประโยชน์ของประชาชนอเมริกันทุกระดับ ต้องการยกเลิกระบบทาสที่มีในสังคมอเมริกันและรักษาความเป็นสหพันธ์ของประเทศเอาไว้ ท่ามกลางการต่อต้าน ความแตกแยกของคนในประเทศ และสงครามกลางเมือง

มหาตมา คานธี นักการเมืองอินเดียผู้เป็นผู้นำขบวนการเอกราชอินเดียเพื่อปลดปล่อยประเทศอินเดียให้มีอิสรภาพจากการปกครองของอังกฤษ เป็นนักการเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรง

เน้นอหิงสา ความเท่าเทียมของชนชั้น และการทําให้ผู้ด้อยฐานะและวรรณะในสังคมอินเดียมีโอกาสมากขึ้น เป็นตัวอย่างของผู้นำที่ทุ่มเทตนเองเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นและส่วนรวม

เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ที่สละชีวิตส่วนตัวและอุทิศเวลาเกือบทั้งชีวิตต่อสู้การแบ่งแยกสีผิวเพื่อความเท่าเทียมและความยุติธรรมของประชาชนแอฟริกาใต้ 

เป็นตัวอย่างผู้นำที่วางประโยชน์ของส่วนรวมเหนือประโยชน์ตนเอง ไม่ท้อแท้เหน็ดเหนื่อยกับการต่อสู้เพื่อให้สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเกิดขึ้น

โฮเซ มูจิก้า อดีตประธานาธิบดีประเทศอุรุกวัย ผู้นําที่อ่อนน้อมถ่อมตน ใช้ชีวิตเรียบง่าย มีชีวิตที่มุ่งมั่นกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งชีวิต เป็นผู้นำที่ติดดิน ประชาชนรัก ให้ความสําคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ความเสมอภาคยุติธรรม ลดความยากจน และรักษาสิ่งแวดล้อม

นี่คือผู้นำที่เป็นตำนาน ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศตน และมีปรัชญาภาวะผู้นำที่มุ่งรับใช้ผู้อื่นโดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

สังเกตได้ว่าผู้นำแบบนี้ไม่เหมือนผู้นำทั่วไป คือ มองไกล หวังสูง และมุ่งมั่นที่จะทําในสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้เกิดขึ้นเพราะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน แม้เป็นเรื่องที่ยาก เสี่ยง และไม่มีใครกล้าทํา

เช่น การเลิกทาสที่อเมริกาที่กระทบระเบียบสังคมและโครงสร้างอํานาจทางเศรษฐกิจจนเกิดสงครามการเมือง การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประชาชนอินเดียจากระบอบอาณานิคมอังกฤษ

การต่อสู้การแบ่งสีผิวเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าสีผิวไหนมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ต้องการผู้นําที่แตกต่าง ที่พร้อมทุ่มเทตัวเองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ประเทศเราขณะนี้มีปัญหามากและถึงเวลาที่เราต้องปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงจริงจัง โดยเฉพาะโครงสร้างเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และการบริหารจัดการในภาครัฐเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตได้ดีขึ้นตามศักยภาพ เป็นสิ่งที่เราต้องทําเพื่อประโยชน์ระยะยาวของทุกฝ่าย

จึงน่ายินดีที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นที่จะทำเรื่องนี้ และมีภาวะผู้นําแบบผู้รับใช้ที่เหมาะกับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ที่ใหญ่ ยาก และท้าทาย

จึงขอสนับสนุนและขอให้ประสบความสำเร็จ เหมือนประชาชนอีก 14-25 ล้านคนที่สนับสนุน เอาใจช่วยและอยากให้ประสบความสำเร็จ

ภาวะผู้นำแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]