ภาค ปชช.รุมยื่น ป.ป.ช.สอบ 'ประยุทธ์-ครม.' ออก พ.ร.ก.ยื้อ กม.อุ้มหาย มิชอบ
'เครือข่ายภาคประชาชนฯ-ศรีสุวรรณ' รุมยื่น ป.ป.ช. ไต่สวน 'ประยุทธ์-ครม.' ออก พ.ร.ก.เลื่อนใช้กฎหมายอุ้มหายมิชอบ ขอสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่-ตัดสิทธิการเมือง จี้พิจารณาให้เร็วที่สุด อัพเดตคืบหน้าทุก 15 วัน
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานเครือข่ายญาติวีรชนพฤษภา 35 พร้อมด้วย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ยื่นร้องต่อประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และคณะรัฐมนตรี กรณีมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
โดย พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ด้วยได้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งเป็นที่ทราบทั่วกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีได้กระทำการอันเป็นการจงใจฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เมื่อวันที่ 19 ก.พ.66 ตามการเสนอของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้เลื่อนการใช้สี่มาตราสำคัญของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 คือมาตรา 22, 23, 24 และ 25 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.66 ออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.66 โดยไม่มีอำนาจกระทำได้ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ออก พ.ร.ก.ได้เฉพาะเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 18 พ.ค.66 ชี้ว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งไม่สามารถบังคับใช้ได้ เครือข่ายประชาชนเห็นว่า การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ กับพวกคณะรัฐมนตรีทุกคน ถือเป็นพฤติการณ์จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 อย่างชัดแจ้ง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกฎหมายสำคัญและหลักนิติธรรมของชาติอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องไต่สวนตามมาตรา 235 ส่งให้ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และตัดสิทธิ์ทางการเมือง รวมทั้งสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการพิจารณาเพื่อระงับความเสียหายที่ได้เกิดต่อชาติและประชาชนมาอย่างต่อเนื่องโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ผลการดำเนินการเป็นประการใด ขอได้โปรดแจ้งให้ทราบทุกระยะ 15 วันด้วย เพื่อจะได้แจ้งให้ประชาชนและสื่อมวลชนทราบต่อไป
วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม กรณีการเสนอออก พ.ร.ก.เลื่อนการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 อันเข้าข่ายจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจากนายสมศักดิ์ รมว.กระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นได้เสนอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออก พ.ร.ก.เลื่อนการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน/อุ้มหาย ออกไปจากเดิมที่กฎหมายดังกล่าวต้องถูกนำมาบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.66 แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กลับใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 172 วรรคแรก ในการออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.66 โดยอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่มีความพร้อมด้านการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การบันทึกภาพในขณะจับกุมและคุมขังบนรถและห้องขังในสถานีตำรวจ ทว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวถูก ส.ส.จำนวน 99 คนเข้าชื่อกันเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 หรือไม่ ซึ่งในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมา 8 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 18 พ.ค.66 ที่ผ่านมาว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ทำให้ พ.ร.ก.ดังกล่าวตกไปไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้กฎหมายอุ้มหายต้องย้อนกลับไปบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.66 ตามที่กฎหมายกำหนดแต่เดิม
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจในการประวิงเวลาการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมาน/อุ้มหายดังกล่าว เป็นการชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจงใจที่จะฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะ มาตรา 53 จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าไม่สามารถทำได้แล้วนั้น การกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยไม่มีอำนาจที่จะทำได้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชาติบ้านเมือง ระบบนิติรัฐ นิติธรรม ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงร่วมมือกับญาติวีรชนพฤษภา 2535 นำความมาร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวน สอบสวน เอาผิดรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงมาตรฐานทางจริยธรรมที่ผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบ ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างของการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดต่อไป